ธุรกิจตั้งใหม่เดือน เม.ย. มีจำนวน 4,564 ราย เพิ่มขึ้น 7% ส่วนเลิกกิจการเพิ่ม 11% ยังมั่นใจยอดจดตั้งใหม่ทั้งปีทำได้ถึง 6-6.5 หมื่นราย พร้อมเร่งล่านอมินีในแหล่งท่องเที่ยว เผยเบื้องต้นพบกระทำผิดแล้ว 9 ราย ใน 3 จังหวัดส่งตำรวจดำเนินคดีทันที
น.ส.ผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า การจดทะเบียนธุรกิจประจำเดือน เม.ย. 2558 มีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนบริษัททั่วประเทศจำนวน 4,564 ราย เพิ่มขึ้น 7% เทียบกับ เม.ย. 2557 แต่ลดลง 20% เมื่อเทียบกับ มี.ค. 2558 โดยมีทุนจดทะเบียนมูลค่า 1.48 หมื่นล้านบาท ลดลง 14% เทียบกับ เม.ย. 2557 และลดลง 8% เทียบกับ มี.ค. 2558 ส่งผลให้ยอดจดทะเบียนจัดตั้งช่วง 4 เดือน (ม.ค.-เม.ย.) มีจำนวน 2.18 หมื่นราย หรือมีการจดจัดตั้งเฉลี่ยต่อเดือน 5,468 ราย
สำหรับการจดทะเบียนนิติบุคคลเลิกทั่วประเทศเดือน เม.ย. 2558 มีจำนวน 925 ราย เพิ่มขึ้น 11% เทียบกับ เม.ย. 2557 และลดลง 22% เทียบกับ มี.ค. 2558 โดยมีทุนจดทะเบียนเลิกมูลค่า 3,997 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5% เทียบกับ เม.ย. 2557 และเพิ่มขึ้น 28% เทียบกับ มี.ค. 2558 ส่งผลให้ยอดจดทะเบียนเลิกช่วง 4 เดือนมีจำนวน 4,599 ราย หรือมีการจดเลิกเฉลี่ยต่อเดือน 1,150 ราย
“การจดตั้งนิติบุคคลในเดือน เม.ย.ที่ลดลง หากเทียบกับเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา เพราะเดือน เม.ย.มีวันหยุดยาว ซึ่งเป็นประจำของทุกปี ทำให้ยอดการจดลดลง แต่ถ้าเทียบเดือนเดียวกันของปีที่ผ่านมาพบว่ามียอดจดเพิ่มขึ้น แสดงให้เห็นแนวโน้มการจดทะเบียนสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจไทย โดยกรมฯ ยังคงเป้าหมายยอดจดตั้งทั้งปี 2558 ไว้ที่ 6-6.5 หมื่นราย” น.ส.ผ่องพรรณกล่าว
ปัจจุบัน ณ วันที่ 30 เม.ย. 2558 มีห้างหุ้นส่วนบริษัทจำกัดดำเนินกิจการอยู่ทั่วประเทศจำนวน 610,195 ราย มีทุนจดทะเบียนรวมทั้งสิ้น 15.70 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นบริษัทจำกัด 427,594 ราย บริษัทมหาชนจำกัด 1,090 ราย และห้างหุ้นส่วนจำกัด/ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล 181,511 ราย
นายชัยณรงค์ โชไชย รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปี 2558 กรมฯ ได้ร่วมกับกรมการท่องเที่ยว และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ทำการสุ่มตรวจบริษัทในแหล่งท่องเที่ยว และเสี่ยงที่จะเป็นบริษัทที่มีคนไทยถือหุ้นแทน (นอมินี) โดยได้กำหนดเป้าหมายไว้ที่ 6-7 จังหวัด เบื้องต้นมีบริษัทที่อยู่ในรายการตรวจสอบ 276 ราย ได้สำรวจไปแล้ว 155 ราย พบความผิด 9 ราย แยกเป็นกรุงเทพฯ 1 ราย ชลบุรี 7 ราย สุราษฎร์ธานี 1 ราย โดยมีคนไทยมีพฤติกรรมเป็นตัวแทนอำพราง และได้ส่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีแล้ว
สำหรับธุรกิจที่พบว่าเป็นนอมินีให้คนต่างชาติ เช่น ธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจอาหาร อสังหาริมทรัพย์ และนายหน้า โดยในส่วนที่เหลือกรมฯ จะเร่งตรวจสอบต่อไป
รายงานข่าวแจ้งว่า การตรวจสอบแล้วพบความผิดว่าเป็นนอมินีที่ผ่านๆ มากรมฯ ได้ส่งให้ดีเอสไอดำเนินการต่อแล้ว แต่ทางดีเอสไอได้ตอบกลับมาว่ากรณีนอมินีไม่ใช่คดีพิเศษ โดยให้ส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่ดำเนินการต่อ