“กรมพัฒนาธุรกิจการค้า” ชี้แจง World Bank หลังจัดอันดับการเริ่มต้นทำธุรกิจในไทยต่ำลง เหตุนำขั้นตอนที่ไม่ได้อยู่ในกระบวนการเริ่มต้นทำธุรกิจมารวมไว้ มั่นใจหลังชี้แจง และทำความเข้าใจ การจัดอันดับปีหน้าดีขึ้นแน่
น.ส.ผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า กรมฯ ได้หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อทำการชี้แจงต่อธนาคารโลก (World Bank) หลังจากจัดอันดับการให้บริการในการเริ่มต้นธุรกิจหรือ Doing Business 2015 อยู่ลำดับที่ 75 ต่ำกว่าปีก่อนที่อยู่ที่ลำดับ 68 ถือเป็นการจัดอันดับที่คาดเคลื่อนจากความเป็นจริง และมีผลต่อภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นในการลงทุนของไทย โดยได้ขอให้ World Bank ที่ได้มาร่วมประชุมในครั้งนี้ด้วยได้รับทราบข้อมูลที่ถูกต้องและทบทวนการจัดอันดับที่จะประกาศในปี 2016 ให้เป็นไปตามข้อเท็จจริง
“จากการหารือและได้ชี้แจงข้อมูลที่ถูกต้องร่วมกัน เจ้าหน้าที่จาก World Bank ประจำประเทศไทยได้รับปากที่จะนำข้อมูลดังกล่าวรายงานกลับไปยังสำนักงานใหญ่ และเชื่อว่าเมื่อสำนักงานใหญ่ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง ก็จะทำให้การจัดอันดับของไทยในปี 2016 ดีขึ้นอย่างแน่นอน” น.ส.ผ่องพรรณกล่าว
น.ส.ผ่องพรรณกล่าวว่า ในปัจจุบันไทยสามารถลดขั้นตอนการเริ่มต้นธุรกิจในประเทศไทยจากเดิม 27.5 วัน เหลือเพียง 3 วันแล้ว โดยการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทจะเสร็จสมบูรณ์ ใน 4 ขั้นตอน เมื่อใช้ระบบ e-Registration ได้แก่ 1. การจองชื่อบริษัท 2. การชำระเงินทุนเข้าธนาคาร 3. การจัดทำตรายาง และ 4. การจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท การขอเลขประจำตัวผู้เสียภาษี การขอเลขที่บัญชีนายจ้าง ซึ่งหากดำเนินการถูกต้อง ก็จะแล้วเสร็จภายใน 3 วันตามที่ระบุไว้
ส่วนสาเหตุที่ทำให้ World Bank คำนวณว่าไทยต้องใช้เวลานานถึง 27.5 วัน ในการเริ่มต้นทำธุรกิจ เพราะได้รวมเอาขั้นตอนการยื่นสำเนาข้อบังคับการทำงานที่บริษัทต้องยื่นต่อกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานมาเป็นส่วนหนึ่งของตัวชี้วัดการเริ่มต้นธุรกิจซึ่งใช้เวลาถึง 21 วัน มารวมไว้ในการคำนวณด้วย ทั้งที่ขั้นตอนดังกล่าวไม่มีความเกี่ยวข้องกับการเริ่มต้นธุรกิจแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้ออกประกาศเรื่อง การจัดทำข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างลงวันที่ 28 ก.ค. 2558 เพื่อชี้แจงให้ผู้เกี่ยวข้องได้เข้าใจถึงข้อเท็จจริงและขั้นตอนปฏิบัติที่ถูกต้อง เพราะในการประกอบธุรกิจ การยื่นสำเนาข้อบังคับการทำงานของนายจ้าง จะต้องยื่นเมื่อมีลูกจ้างตั้งแต่ 10 ขึ้นไป เป็นไปตามเงื่อนไขกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน ไม่มีความเชื่อมโยงกับการจดทะเบียนเริ่มต้นธุรกิจ