“พาณิชย์” แย้งเวิลด์แบงก์จัดอันดับการเริ่มต้นทำธุรกิจในไทยคลาดเคลื่อน เผยปีนี้ถูกจัดอันดับประเทศที่ง่ายทำธุรกิจอยู่ที่ 26 ส่วนการเริ่มต้นทำธุรกิจตกมาอยู่ที่ 75 จาก 68 เหตุนำข้อบังคับการทำงาน ซึ่งไม่เกี่ยวกับการเริ่มต้นทำธุรกิจมาเป็นตัวชี้วัด แถมคิดเวลาทำตรายางนานถึง 4 วันทั้งๆ ที่ไม่เกิน 3 ชั่วโมง โชว์ผลงานสวน ทำธุรกิจในไทยสุดง่าย เตรียมเปิดจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้จดนอกที่ตั้ง และคนเดียวตั้งบริษัทได้
น.ส.ผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยถึงการจัดอันดับ Doing Business 2015 ของธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ที่ได้สำรวจการจัดตั้งธุรกิจจาก 189 ประเทศว่า ในปีนี้ธนาคารโลกได้จัดให้ไทยอยู่ในอันดับที่ 26 ของประเทศที่ง่ายต่อการประกอบธุรกิจ ดีขึ้นกว่าปี 2557 ที่อยู่ที่อันดับ 28 แต่ในด้านการเริ่มต้นธุรกิจอยู่อันดับที่ 75 ลดลงจากอันดับที่ 68 ในปี 2557 ซึ่งกรมฯ เห็นว่าการจัดอันดับดังกล่าวมีความคลาดเคลื่อน เพราะที่ผ่านมากรมฯ ได้มีการปรับปรุงงานให้บริการ จนทำให้ผู้เข้ามารับบริการในการเริ่มต้นทำธุรกิจมีความสะดวกสบาย และได้รับบริการที่รวดเร็วมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดยในการจัดอันดับในด้านการเริ่มต้นทำธุรกิจ ธนาคารโลกได้ใช้ตัวชี้วัด 4 ด้าน คือ 1. การจองชื่อบริษัท 1 วัน 2. การชำระเงินทุนเข้าธนาคาร 1 วัน 3. การจัดทำตรายาง 4 วัน และ 4. การจดทะเบียนจัดตั้ง การขอเลขประจำตัวผู้เสียภาษี เลขที่บัญชีนายจ้าง และการยื่นสำเนาข้อบังคับการทำงาน 21 วัน รวมแล้วใช้เวลาทั้งสิ้น 27.5 วัน
ทั้งนี้ กรมฯ เห็นว่าในขั้นตอนการเริ่มต้นทำธุรกิจที่กรมฯ ได้ดำเนินการกับที่ธนาคารโลกสรุปมามีความแตกต่างกันในหลายจุด โดยในส่วนของการจองชื่อ สามารถจองชื่อผ่านอินเทอร์เน็ตได้ ใช้เวลาไม่เกิน 20 นาทีตั้งแต่จองชื่อจนถึงนายทะเบียนอนุมัติ การชำระเงินทุนเข้าธนาคาร เป็นขั้นตอนของเอกชน แต่หากนำเงินเข้าธนาคารก็ถือว่าเป็นอันเรียบร้อย การทำตรงยาง ก็เป็นขั้นตอนของเอกชน ใช้เวลาอย่างมากไม่เกิน 3 ชั่วโมง
สำหรับการจดทะเบียนจัดตั้ง การขอเลขประจำตัวผู้เสียภาษี และเลขที่บัญชีนายจ้าง ก็มีขั้นตอนไม่ยุ่งยาก เพราะผู้จดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลสามารถยื่นขอจดได้ในครั้งเดียว และได้ถึง 3 อย่าง ทั้งทะเบียนนิติบุคคล เลขประจำตัวผู้เสียภาษี และเลขที่บัญชีนายจ้าง โดยการรับจดทะเบียนตั้งแต่รับคำขอจนนายทะเบียนอนุมัติ ก็ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง หากเอกสารหลักฐานทุกอย่างครบถ้วน
ส่วนกรณีที่เป็นปัญหาในการสำรวจครั้งนี้ คือ การยื่นสำเนาข้อบังคับการทำงาน ที่ธนาคารโลกนำขั้นตอนนี้มาเป็นส่วนหนึ่งของการจดทะเบียนเริ่มต้นทำธุรกิจ ซึ่งขั้นตอนนี้ใช้เวลาดำเนินงานถึง 21 วัน ทั้งที่ขั้นตอนดังกล่าวไม่มีความเกี่ยวข้องกับการเริ่มต้นธุรกิจแต่อย่างใด เป็นเพียงขั้นตอนการจัดตั้งนิติบุคคล ซึ่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 กำหนดให้นิติบุคคลต้องแจ้งเมื่อมีลูกจ้างเกิน 10 คนขึ้นไป โดยต้องประกาศสภาพการจ้างงานให้ลูกจ้างได้ทราบภายใน 15 วัน และส่งสำเนาแจ้งไปยังกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานภายใน 7 วัน โดยให้มีผลใช้ทันทีเมื่อประกาศ ไม่ต้องรอการอนุมัติหรือเห็นชอบจากกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ส่วนธุรกิจที่จัดตั้งใหม่และยังมีลูกจ้างไม่ถึง 10 คน ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการในส่วนนี้
อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่กรมฯ ตกลงร่วมกันกับกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเปิดให้ผู้ประกอบธุรกิจสามารถยื่นเอกสารข้อบังคับการทำงานพร้อมกับการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจที่กรมฯ ได้ จนถึงขณะนี้ยังไม่มีนิติบุคคลรายใดยื่นข้อบังคับการทำงานมาที่กรมฯ เนื่องจากผู้ประกอบธุรกิจส่วนใหญ่ใช้วิธีการยื่นต่อกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานได้โดยตรง
น.ส.ผ่องพรรณกล่าวว่า กรมฯ ยังคงยืนยันว่าไทยเป็นประเทศที่ง่ายต่อการทำธุรกิจ และการเริ่มต้นทำธุรกิจมีขั้นตอนไม่ยุ่งยาก ซึ่งกรมฯ มีแผนที่จะพัฒนาปรับปรุงงานด้านการเริ่มต้นทำธุรกิจให้ง่ายยิ่งขึ้นไปอีก โดยกำลังพัฒนาระบบจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Registration) เพื่อให้บริการจดทะเบียนนิติบุคคลออนไลน์อย่างครบวงจร การอนุญาตให้ผู้ยื่นขอจดทะเบียนสามารถจดทะเบียน ณ สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทใดก็ได้ทั่วประเทศ ไม่จำเป็นต้องยื่น ณ จังหวัดที่นิติบุคคลตั้งอยู่ และกำลังศึกษารูปแบบการจัดตั้งนิติบุคคลโดยบุคคลคนเดียว ซึ่งล้วนแต่จะช่วยให้การเริ่มต้นทำธุรกิจในไทยง่ายขึ้น