การบินไทยประกาศผลประกอบการไตรมาส 2/58 ขาดทุนสุทธิ 1.27 หมื่นล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 5 พันล้านบาท “จรัมพร” เผยเป็นช่วงโลว์ซีซัน และมีค่าใช้จ่ายพิเศษ โครงการลดพนักงานกว่า 3.7 พันล้านบาท ขณะที่รายได้จากขายตั๋วไม่เพิ่มเหตุทำโปรโมชันลดราคาต่ำเกินไป จี้ฝ่ายขายปรับกลยุทธ์หวังฟื้นช่วงครึ่งปีหลัง คาดรายได้อาจไม่ถึง1.8 แสนล้านบาท ผลเฮดจิ้งน้ำมัน 75% ลดต้นทุนเชื้อเพลิงได้ถึง 20% เตรียมออกหุ้นกู้ 8 พันล้านบาทช่วงไตรมาส 3
นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ผลประกอบการไตรมาส 2/2558 มีผลขาดทุนจากการดำเนินงาน 2,986 ล้านบาท และมีผลขาดทุนสุทธิ 12,759 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าปีก่อน 5,097 ล้านบาท คิดเป็นขาดทุนต่อหุ้น 5.85 บาท เปรียบเทียบกับปีก่อนซึ่งขาดทุนต่อหุ้น 3.51 บาท โดยนอกจากเป็นช่วงนอกฤดูท่องเที่ยวแล้วยังเป็นผลมาจากที่มีรายการพิเศษถึง 7,827 ล้านบาท ประกอบด้วยการดำเนินการตามแผนปฏิรูป คือ การปรับลดพนักงาน ทำให้มีค่าใช้จ่ายผลตอบแทนพนักงานตามโครงการร่วมใจจากองค์กร (MSP) และ Golden Handshake จำนวน 3,722 ล้านบาท การขาดทุนจากการด้อยค่าของสินทรัพย์และเครื่องบินจำนวน 426 ล้านบาท และการขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศจำนวน 3,679 ล้านบาท
ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ดำเนินการตามแผนปฏิรูปโดยตัดการขาดทุน ลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มรายได้และการขายเพิ่มขึ้น ทำให้มีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 20% โดยมีปริมาณการขนส่งผู้โดยสาร (Revenue Passenger-Kilometer : RPK) เพิ่มขึ้น 11% ในขณะที่ปริมาณการผลิตผู้โดยสาร (Available Seat-Kilometer : ASK) เพิ่มขึ้นเพียง 2% จากการปรับปรุงฝูงบิน ทำให้อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) เฉลี่ย 69.2% สูงกว่าไตรมาสเดียวกันของปีก่อนซึ่งเฉลี่ย 63.5% ส่งผลให้ขาดทุนจากการดำเนินงานลดลงจากปีก่อน 2,986 ล้านบาท (ดีขึ้น 39%) โดยมีรายได้รวม 41,807 ล้านบาท (ต่ำกว่าปีก่อน 1,557 ล้านบาท หรือ 4%) สาเหตุใหญ่จากรายได้จากค่าระวางขนส่งและไปรษณียภัณฑ์ที่ลดลงจากผลกระทบจากการส่งออกหดตัว และการลดการผลิตจากการปลดประจำการเครื่องบินขนส่งสินค้า ในขณะที่ค่าใช้จ่ายรวม 45,111 ล้านบาท ลดลง 4,362 ล้านบาท (9%) สาเหตุหลักจากราคาน้ำมันเฉลี่ยที่ลดลง
ส่วนผลการดำเนินงานครึ่งปีแรก (6 เดือน) ของปี 2558 ขาดทุนสุทธิ 8,218 ล้านบาท โดยผลการดำเนินงานธุรกิจการบินหลักจะขาดทุนสุทธิเพียง 297 ล้านบาท ดีกว่างวดเดียวกันของปีที่แล้วที่ขาดทุนสุทธิ 10,986 ล้านบาท ถึง 97% โดยมีรายการพิเศษถึง 7,921 ล้านบาท ประกอบด้วย ขาดทุนจากการด้อยค่าเครื่องบินที่ปลดระวาง 12,230 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายโครงการร่วมใจจากองค์กร (MSP) 3,722 ล้านบาท มีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน 5,975 ล้านบาท รายการบวกกลับทางภาษี 2,069 ล้านบาท
โดยผลการดำเนินงานที่ออกมาทำให้จะต้องเน้นให้เดินหน้าตามแผนปฏิรูป โดยจะเพิ่มความเข้มข้นในด้านการขายของฝ่ายพาณิชย์ เพราะช่วง 6 เดือนแรกจำนวนผู้โดยสารเพิ่ม 18% ซึ่งรายได้ควรจะเพิ่มขึ้น 10-15% แต่กลับไม่เพิ่มเพราะมีการทำโปรโมชันลดราคามากเกินความจำเป็น ลดราคาแบบไม่ได้ประโยชน์ ส่วนต้นทุนในการดำเนินงานยังไม่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ตามแผนควรลดในแต่ละเดือนเท่าไร แต่ตอนนี้การปฏิบัติให้เป็นไปตามแผนยังค่อนข้างช้า สาเหตุเพราะการปฏิรูปแบบนี้การบินไทยไม่เคยทำมาก่อน ไม่เคยทำวิธีการแบบนี้มาก่อน
นายจรัมพรกล่าวว่า ตามแผนครึ่งปีหลังตั้งเป้าลดค่าใช้จ่ายลง 10% หรืออีกประมาณ 5,000 ล้านบาท ในขณะที่ฝ่ายพาณิชย์ต้องขายให้เก่งขึ้นในหลายเส้นทางที่ยังให้โอกาสปรับปรุงอยู่ ซึ่งจะเข้าสู่ช่วงฤดูท่องเที่ยว โดยยังคงเป้าหมายรายได้ทั้งปีที่ 1.8 แสนล้านบาท แม้ว่าแนวโน้มอาจจะไม่ถึงเพราะช่วง 6 เดือนแรกรายได้หลุดเป้าจากการขายตั๋วราคาถูกไป แต่จะต้องพยายามอย่างเต็มที่ โดยจะมีการเพิ่มรายได้จากธุรกิจส่วนอื่น เช่น ครัวการบิน คาร์โก้ บริการภาคพื้น ฝ่ายซ่อมบำรุง บริการเช็กอิน เป็นต้นเพราะมีความสามารถในการทำกำไรได้ค่อนข้างดีและมีแนวโน้มการเติบโตอีกมาก โดยปัจจุบันมีสัดส่วนรายได้กว่า 10% จากรายได้รวม นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้ทำเฮดจิ้งน้ำมันไว้ 75% ที่ราคาประมาณ 80-90 เหรียญต่อบาร์เรล ซี่งทำให้ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงลดลงจากปีก่อนประมาณ 20% อีกด้วย
สำหรับผลการดำเนินงานเดือนสิงหาคมนี้มีแนวโน้มดี โดยอัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสาร (Load Factor) เฉลี่ยเกิน 80% ดีกว่าเดือนกรกฎาคมที่อยู่ที่ระดับ 77% และคาดว่า Load Factor เฉลี่ยทั้งปี 58 จะอยู่ที่ประมาณ 76% หรือสูงกว่าปี 57 ประมาณ 7% โดยมีแผนเพิ่มจุดบินไปยังประเทศจีนอีก 3 เส้นทาง ซึ่งจีนถือเป็นตลาดใหญ่มีสัดส่วนรายได้ประมาณ 10% ส่วนแผนปลดระวางเครื่องบินในปี 58 จำนวน 38 ลำ โดยขณะนี้ขายไปแล้ว 17 ลำนั้น ขณะที่มีการเลื่อนปลดระวางเครื่องบินโบอิ้ง 747 จำนวน 2 ลำออกไปเป็นปีหน้า เนื่องจากการปรับแผน เลื่อนการยกเลิกเที่ยวบินกรุงเทพฯ-โรม จากวันที่ 26 ตุลาคม 2558 เป็นวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559
ด้านนายณรงค์ชัย ว่องธนะวิโมกษ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายการเงินและการบัญชี การบินไทย กล่าวว่า ในช่วงครึ่งปีหลังคาดว่าจะมีรายได้เพิ่ม และทำให้การดำเนินงานมีกำไร (Ebitda) แต่จะยังคงขาดทุนสุทธิมากแค่ไหนต้องดูปัจจัยอัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่สามารถควบคุมได้ ส่วนรายการพิเศษช่วงครึ่งหลังไม่มีแล้ว และในช่วงไตรมาส 3/58 บริษัทมีแผนออกหุ้นกู้ประมาณจำนวน 8,000 ล้านบาท เพื่อนำเงินที่ได้ไป Roll Over หุ้นกู้เดิมที่ครบกำหนดไถ่ถอน โดยวางแผนออกหุ้นกู้ปี 58 จำนวน 15,000 ล้านบาท โดยออกช่วงต้นปีไปแล้ว 7,000 ล้านบาท
ส่วนการขายทรัพย์สินของบริษัทและการขายหุ้นในหลายๆ บริษัทที่การบินไทยถือหุ้นอยู่นั้น ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาความเหมาะสม ยืนยันว่าในส่วนของสำนักงานใหญ่ หรือครัวการบิน ไม่มีแผนขาย ส่วนทรัพย์สิน สำนักงานที่กระจายในหลายประเทศ ต้องดูเรื่องประโยชน์ใช้สอยและความจำเป็น เช่นกรณีปิดจุดบินไปแล้วยังจำเป็นต้องมีต่อหรือไม่ โดยจะสรุปหลักเกณฑ์และรายละเอียดเสนอบอร์ดในเดือนกันยายนพิจารณาก่อน ส่วนหุ้นในบริษัทต่างๆ จะพิจารณาที่ผลตอบแทน ผลประโยชน์ที่ได้รับ และเป็นธุรกิจที่สนับสนุนการบินไทยหรือไม่ ซึ่งเป็นไปได้ที่ขายจะมีการซื้อหุ้นเพิ่มก็ได้ แล้วแต่กรณี
ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2558 บริษัทฯ และบริษัทย่อย มีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 296,429 ล้านบาท ลดลงจากวันที่ 31 ธันวาคม 2557 จำนวน 10,838 ล้านบาท (3.5%) โดยส่วนใหญ่เกิดจากการด้อยค่าของเครื่องบิน หนี้สินรวมของบริษัทฯ และบริษัทย่อย เท่ากับ 264,544 ล้านบาท ลดลงจาก ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2557 จำนวน 1,427 ล้านบาท (0.5%) และส่วนของผู้ถือหุ้นมีจำนวน 31,885 ล้านบาท ลดลงจากวันที่ 31 ธันวาคม 2557 จำนวน 9,410 ล้านบาท (22.8%)