“ประจิน” จับเข่าคุย “รมต.ลาว” เดินหน้าความร่วมมือรถไฟขนาดราง 1.435 เมตรเชื่อมไทย-ลาว-จีน มั่นใจขนส่งผู้โดยสารและสินค้าจาก คุนหมิง-ลาว-กรุงเทพฯ-มาบตาพุดได้ปี 63 ด้านลาวขอโยกเงินช่วยเหลือพัฒนาทาง 1 เมตรจากท่านาแล้ง-เวียงจันทน์ของ NEDA ใช้ในรถไฟ 1.435 เมตรแทน พร้อมตั้งคณะทำงานร่วม แก้กฎกติกา เปิดเดินรถขนส่งผู้โดยสารและสินค้าข้ามแดนได้สะดวก
วันนี้ (27 ก.ค.) พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และ นายบุญจัน สัมมะวง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโยธาธิการและขนส่งของ สปป.ลาว ได้รวมประชุมระดับรัฐมนตรีคมนาคมไทย-ลาว ครั้งที่ 2 พร้อมกับลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมกัน โดย พล.อ.อ.ประจินกล่าวว่า ทั้งสองฝ่ายได้หารือถึงความร่วมมือในการเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟ ขนาดราง 1.435 เมตร การขนส่งผู้โดยสารและสินค้าทางถนน ระหว่าง 3 ประเทศ คือ ไทย-ลาว-เวียดนาม และการเชื่อมโยงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมระหว่างไทย-ลาว ซึ่งในส่วนของการเชื่อมโยงเส้นทางรถไฟนั้น เป้าหมายคือในอีก 5 ปีข้างหน้า หรือในปี 2563 จะสามารถขนส่งผู้โดยสารและสินค้าจากคุนหมิง-ลาว-กรุงเทพฯ-มาบตาพุด ได้ โดยในส่วนของเส้นทางจากคุนหมิง (จีน)-ชายแดนลาว ระยะทาง 520 กม. จะเริ่มก่อสร้างในปี 2558 ใช้เวลาก่อสร้าง 5 ปี จากชายแดนลาว-เวียงจันทน์ ระยะทาง 471 กม. ทางลาวจะก่อสร้างในปี 2558 ใช้เวลาประมาณ 4 ปี ซึ่งสอดคล้องกับไทยที่จะก่อสร้างรถไฟ 1.435 เมตร (กรุงเทพฯ-แก่งคอย-โคราช-หนองคาย และแก่งคอย-มาบตาพุด) ตั้งแต่เดือน ต.ค. 2558 ระยะเวลา 3.5 ปี
ทั้งนี้ จุดเชื่อมต่อจากหนองคาย-เวียงจันทน์นั้นจะมีการก่อสร้างสะพานใหม่ขนานไปกับสะพานมิตรภาพแห่งที่ 1 ห่างประมาณ 10-30 เมตร ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบทางเทคนิค โดยฝั่งลาวตั้งแต่กึ่งกลางสะพานไปนั้นทางลาวได้ขอให้จีนช่วยศึกษาออกแบบให้ พร้อมกันนี้ ทางลาวได้ขอปรับเงินช่วยเหลือจากสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (NEDA) ในการพัฒนาเส้นทางรถไฟ ขนาดราง 1 เมตร จากท่านาแล้ง-เวียงจันทน์ ในส่วนของวงเงินที่เหลือประมาณ 990 ล้านบาท ไปใช้ในการพัฒนาเส้นทางรถไฟ 1.435 เมตร ในความร่วมมือรถไฟลาว-จีน แทน ส่วนเส้นทาง 1 เมตรจะยังคงให้บริการสิ้นสุดที่สถานีท่านาแล้ง โดยปัจจุบันมีรถไฟวิ่งวันละ 4 เที่ยว นอกจากนี้จะมีการศึกษาการเชื่อมเส้นทางรถไฟจากอุบลราชธานี (วารินชำราบ)-ช่องเม็ก ด่านชายแดน สปป.ลาว ระยะทางประมาณ 80 กม. โดยทางการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้จ้างที่ปรึกษาศึกษา คาดแล้วเสร็จปี 2559
ส่วนการขนส่งผู้โดยสารและสินค้าทางถนนนั้น ได้ตั้งคณะทำงานร่วม 2 ฝ่ายเพื่อทำการศึกษาสำรวจเพื่อเปิดเดินรถ 6 เส้นทาง รวมถึงการปรับกฎกติกาในการเดินรถของแต่ละฝ่าย ทั้งจำนวนรถแต่ละฝ่าย ระยะเวลาที่รถจะอยู่ในประเทศได้, เปิดเส้นทาง R 12 จากนครพนม-ท่าแขก-เวียดนาม, การให้รถของแต่ละประเทศขนส่งสินค้าเข้ามาส่งออกที่ท่าเรือของไทย เป็นต้น โดยจะใช้เวลาศึกษาร่วมกัน 2 เดือน (ส.ค.-ก.ย.) เพื่อสรุปความร่วมมือในการเดินรถเสนอที่ประชุมร่วมครั้งที่ 3 ช่วงปลายเดือน ต.ค.-ต้นเดือน พ.ย. 58
นอกจากนี้ ยังรับทราบความก้าวหน้าการก่อสร้างสะพานมิตรภาพแห่งที่ 5 (บึงกาฬ-ปากซัน) ซึ่งกรมทางหลวงได้ศึกษาออกแบบเสร็จแล้ว วงเงินลงทุน 3,700 ล้านบาท เป็นการลงทุนฝั่งไทย 2,400 ล้านบาท ฝั่งลาว 1,300 ล้านบาท จะเร่งจัดทำรายงานเพื่อนำเสนอรัฐบาลต่อไป พร้อมกันนี้ จะศึกษาก่อสร้างสะพานมิตรภาพแห่งที่ 6 (นาตาล-ละครเพ็ง) เชื่อมจาก จ.อุบลราชธานี-แขวงสาละวัน (สปป.ลาวตอนใต้) ซึ่งถือเป็นเส้นทางที่สั้นที่สุดในการเชื่อมไปยังเวียดนาม สามารถลดต้นทุนในการขนส่งสินค้าได้ โดยลาวจะเสนอขอการสนับสนุนจาก NEDA ต่อไป
อย่างไรก็ตาม ได้รับข้อเสนอของลาวในการขอรับการสนับสนุนทางการเงินจาก NEDA เร่งด่วน 3 โครงการ คือ การก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโขง ช่วงเชียงแมน-หลวงพระบาง, การก่อสร้างระบบน้ำประปาใน 8 เมือง, การพัฒนาท่าอากาศยานปากเซ
ด้านนายบุญจัน สัมมะวง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงโยธาธิการและขนส่งของ สปป.ลาว กล่าวว่า ลาวเป็นใจกลางในการเดินทางเชื่อมต่อของ 5 ประเทศในอาเซียนและจีน เช่น ลาว-จีน-ไทย, ไทย-ลาว-เวียดนาม, พม่า-ไทย-ลาว-เวียดนาม, จีน-ลาว-กัมพูชา ดังนั้น การก่อสร้างเส้นทางรถไฟจากจีนมายังลาวนั้น นายกรัฐมนตรี สปป.ลาวได้แจ้งต่อสภาให้รับทราบถึงความร่วมมือระหว่างรัฐบาลลาวกับรัฐบาลจีนเพื่อให้การต่อเชื่อมเส้นทางรถไฟระหว่างลาว-ไทยได้ดำเนินการไปพร้อมกัน ซึ่งจะทำให้เปิดประสิทธิภาพสูงสุดทั้งด้านการค้า การลงทุน และท่องเที่ยวของไทย, ลาว และอาเซียน