MGRออนไลน์ -- รัฐบาลจีนกับรัฐบาลลาวร่วมกันเซ็นสัญญา ว่าด้วยความร่วมมือก่อสร้างทางรถไฟลาว-จีน รวมทั้งสัญญาด้านการเงิน กับเอ็กซิมแบงก์ของจีน ซึ่งนับเป็นการเข้าสู่การปฏิบัติจริงเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่โครงการนี้เริ่มต้นตั้งแต่ 5 ปีที่แล้ว โดยผ่านอุปสรรคกับปัญหามามากมาย
การเซ็นสัญญาจัดขึ้นที่นครปักกิ่ง วันที่ 13 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยนายสมสะหวาด เล่งสะหวัด รองนายกรัฐมนตรี และ ผู้ชี้นำเศรษฐกิจ การผลิตและการกระจายสินค้า แห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชานลาว กับ นายซูส่าวสี (Xu Shaoshi) ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาและปฏิรูป (National Development and Reform Commission) แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน เป็นตัวแทนรัฐบาลของสองฝ่าย สื่อของทางการลาวรายงานในวันจันทร์ 16 พ.ย.นี้
ตามรายงานของหนังสือพิมพ์ลาวพัดทะนา ความเคลื่อนไหวล่าสุดนี้หมายความว่า "โครงการทางรถไฟลาว-จีน ได้เข้าสู่ระยะปฏิบัติตัวจริง ได้สร้างพื้นฐานที่ดีงามให้แก่การก่อสร้าง และ ปฏิบัติงานของโครงการ เช่นเดียวกันกับความร่วมมือ ในการก่อสร้างพื้นฐานโครงล่างทางรถไฟระหว่างสองประเทศในอนาคต"
ธนาคารที่เกี่ยวข้องของฝ่ายจีนได้ร่วมลงนามกับกระทรวงการเงินของลาว สัญญาความร่วมมือการสนองทุนให้แก่โครงการ ฝ่ายลาวได้มอบแผนการเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้างผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการดังกล่าว
ผู้เกี่ยวข้องในการเซ็นสัญญาความร่วมมือครั้งนี้ ประกอบด้วยรองประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาและปฏิรูปแห่งชาติจีน รองผู้อำนวยการใหญ่ บรรษัททางรถไฟจีน รองประธานเอ็กซิมแบงก์จีน กับฝ่ายลาวซึ่งได้แก่ นายลัดตะนะมะนี คุนนิวง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงโยธาธิการและขนส่ง นางทิบพากอน จันทวงสา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการเงิน และ นายสมดี บุนคุ้ม เอกอัครรัฐทูตลาวประจำกรุงปักกิ่ง
ทางรถไฟจีน-ลาวมีมูลค่าการลงทุนราว 40,000 ล้านหยวน (ราว 7,000 ล้านดอลลาร์) เริ่มจากบริเวณด่านชายแดนบ่อแตน-บ่อหาน แขวงหลวงน้ำทาไปถึงนครเวียงจันทร์ รวมเป็นระยะทางทั้งหมด 416 กิโลเมตร ผ่านเมืองไซ แขวงอุดมไซ เมืองหลวงพระบาง และ วังเวียง ในนั้นราว 60% ของระยะทางเป็นอุโมงค์และสะพาน
ตามรายงานล่าสุดนี้ ลาวจะร่วมสมทบทุน 30% กับฝ่ายจีน 70% ก่อสร้างเป็นทางรถไฟรางเดี่ยวใช้พลังไฟฟ้า ขนส่งทั้งผู้โดยสารและสินค้า ด้วยความเร็ว 160 กับ 120 กม./ชม. ตามลำดับ เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ "ทางรถไฟจะช่วยส่งเสริมโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมของลาวอย่างมากมาย ยกระดับสมรรถภาพการขนส่งของลาวให้สูงขึ้น และ จะสร้างโอกาสการประกอบอาชีพให้แก่ประชาชนอย่างมากมาย" สื่อของทางการกล่าว
ทางรถไฟที่ตัดผ่านลาว เป็นส่วนหนึ่งในแผนการเชื่อมเข้ากับระบบรถไฟของไทย ไปถึงมาเลเซียและสิงคโปร์ ในแผนการเชื่อมต่อการขนส่งระบบรางของจีนกับกลุ่มอาเซียน โดยใช้มณฑลหยุนหนันเป็นหัวหาด ในการเปิดเส้นทางคมนาคมขนส่งกับการค้าขาย
สื่อของทางการไม่ได้ให้รายละเอียดอื่นใดอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงื่อนไขในการลงทุน ซึ่งก่อนหน้านี้อุปสรรคสำคัญที่สุด ยังรวมทั้งการตั้งเงื่อนไขของฝ่ายจีน ที่ขอสิทธิ์ในการใช้ประโยชน์ที่ดินสองข้างทางรถไฟ เป็นเวลา 90-100 ปี ซึ่งฝ่ายลาวไม่สามารถจะอนุญาตให้ได้.