xs
xsm
sm
md
lg

ขบวนรถไฟความเร็วสูงพญามังกร มาถึงปากประตูสู่อาเซียนแล้ว หวังเชื่อมต่อไปยังลาว ไทย มาเลย์ และสิงคโปร์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพถ่ายทางอากาศขบวนรถไฟหัวกระสุนอัตราความเร็วสูง กำลังข้ามสะพานเป่ยพานเจียงในมณฑลกุ้ยโจว ขณะทำการทดลองวิ่งจากเซี่ยงไฮ้ ถึงคุนหมิง ระยะทาง 2,266 กิโลเมตร ภาพเมื่อวันที่ 16 ธ.ค.2559 (ภาพ ซินหวา/โอว ตงชีว์)
ในต้นทศวรรษที่ 2020 หรือในอีก 4 ปี ข้างหน้า ผู้โดยสารในเอเชีย สามารถเดินทางโดยรถไฟจากคุนหมิง เมืองเอกของมณฑลอวิ๋นหนัน หรือยูนนาน ซึ่งเป็นศูนย์กลางการคมนาคมของภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ลงไปยังประเทศสิงคโปร์ ภายในเวลาเพียง 10 ชั่วโมง

จีนได้เริ่มผลักดัน เส้นทางรถไฟช่วงต่างๆ ของ “เครือข่ายเส้นทางรถไฟแพนอาเซีย” (Pan-Asia Railway Network) ประกอบด้วยเส้นทางรถไฟสามสาย ที่มีความยาว 4,500 ถึง 5,500 กิโลเมตร ซึ่งจะเชื่อมจีนกับแผ่นดินเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ในวันพุธ (28 ธ.ค.) ที่ผ่านมา จีนได้บรรลุฝันเส้นทางรถไฟความเร็วสูงมาถึงปากประตูสู่อาเซียนแล้ว นั่นคือการเปิดบริการเดินรถเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจากมหานครเซี่ยงไฮ้ ศูนย์กลางการเงินใหญ่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกจีน ไปยังนครคุนหมิงในมณฑลอวิ๋นหนัน (ยูนนาน) ซึ่งเป็นเขตเทือกเขาไร้ทางออกทะเล ขบวนรถไฟหัวกระสุนสายนี้แล่นด้วยความเร็วสูงสุดที่อัตรา 350 กิโลเมตร/ชั่วโมง วิ่งผ่านเส้นทาง 2,266 กิโลเมตร ภายในเวลาเพียง 10 ชั่วโมง จากเดิมที่ผู้โดยสารโดยสารขบวนรถไฟอัตราความเร็วที่ต่ำกว่า นั่งหลังขดหลังแข็งจากเซี่ยงไฮ้มาถึงคุนหมิง นานถึง 34-40 ชั่วโมง

ทีมวิศวกรเผยการก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายนี้ ต้องเผชิญอุปสรรคดั่งเข็นครกขึ้นเขา เนื่องจากต้องก่อสร้างสะพานเกือบ 130 แห่ง และขุดอุโมงค์เกือบ 40 แห่ง

ผู้อาศัยในเชียงใหม่ สามารถนั่งเครื่องบินไปยังคุนหมิง โดยใช้เวลา 55 นาที จากนั้นก็สามารถต่อรถไฟความเร็วสูงเดินทางต่อไปยังเซี่ยงไฮ้

สำหรับเครือข่ายเส้นทางรถไฟแพนเอเชีย ที่ประกอบด้วย 3 สาย ได้แก่ สายกลางจะตัดผ่านลาว ไทย จากนั้นก็จะเชื่อมต่อไปยังกัวลาลัมเปอร์ในมาเลเซีย และสิงคโปร์ ส่วนสายตะวันออกจะตัดผ่านไปยังเวียดนาม และกัมพูชา จากนั้นก็เชื่อมกับสายกลางในกรุงเทพฯ ส่วนสายตะวันตกจะทะลวงผ่านพื้นที่ที่ส่วนใหญ่เป็นเทือกเขาในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน ผ่านเขตต่างๆในพม่า และมาบรรจบที่กรุงเทพฯ

เมืองต่างๆในคุนหมิง และกรุงเทพ จะเป็นศูนย์กลางใหญ่หรือฮับหลักสำหรับเครือข่ายเส้นทางรถไฟแพนเอเชียนี้
นายกรัฐมนตรีประเทศลาว นาย ทองลุน สีสุลิด ลั่นฆ้องเริ่มการก่อสร้างทางรถไฟสายยาวระหว่างลาวกับจีน อันเป็นสัญลักษณ์ว่าการก่อสร้างได้เริ่มขึ้นแล้วอย่างเป็นทางการ -- สำนักข่าวสารปะเทดลาว.
ขณะนี้จีนกำลังเดินสายเจรจากับเหล่าผู้นำ 7 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เรื่องแผนการเปิดบริการรถไฟอัตราความเร็วระดับกลางและอัตราความเร็วสูง เพื่อเชื่อมเมืองต่างๆ 10 เมือง ระหว่างคุนหมิง และสิงคโปร์

ดร.รุธิร์ พนมยงค์ กล่าวกับสื่อเยอรมนี DW ( Deutsche Welle /ดอยเช่อ เวลเล่อ) เมื่อเดือนเม.ย. 2559 ที่ผ่านมา ว่า เครือข่ายเส้นทางรถไฟยุคใหม่ที่จีนกำลังยื่นข้อเสนอและเจรจาอยู่นี้ เต็มไปด้วยผลประโยชน์ ที่เย้ายวนที่บรรดาประเทศในย่านเอเชียตะวันออกเฉียง จะพลาดโอกาสไม่ได้

“การลงทุนก่อสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูง แพงมาก ไม่มีประเทศไหนที่อาจเอื้อมถึง ทั้งลาว พม่า เวียดนาม และกัมพูชา” ดร.รุธิร์ พนมยงค์ อาจารย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวกับ DW

สำหรับไทยซึ่งเป็นชาติที่มีรายได้ปานกลาง ก็มีคำถาม เกี่ยวกับค่าใช้จ่ายการก่อสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงที่จีนเสนอ แม้ว่าไม่มีการเปิดเผยค่าใช้จ่ายสำหรับโครงการทั้งหมด ก็มีการประเมินกันว่าช่วงเส้นทางรถไฟฯช่วงที่ผ่านไทย จะมีมูลค่า 23,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

ช่วงเส้นทางรถไฟความเร็วสูงที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ ได้แก่ เส้นทางเชื่อมไปยังเวียดนาม

ในวันที่ 25 ธ.ค. 2559 ที่ผ่านมา รัฐบาลลาวได้จัดพิธีลั่นฆ้องเริ่มการก่อสร้างทางรถไฟสายยาวระหว่างลาวกับจีน อันเป็นสัญลักษณ์ว่าการก่อสร้างได้เริ่มขึ้นแล้วอย่างเป็นทางการ

โครงการเส้นทางรถไฟลาว-จีนนี้ มีมูลค่าการลงทุน 5,800 ล้านดอลลาร์ เส้นทางเดินรถความยาวกว่า 417 กม. จากด่านชายแดนบ่อหานในมณฑลยูนนาน ผ่านบ่อแตน ไปยังนครเวียงจันทน์ มีกำหนดเสร็จภายใน 60 เดือน คือ จะแล้วเสร็จราวปลายปี 2564

จีนยังหวังเชื่อมเส้นทางรถไฟในลาวกับระบบทางรถไฟของไทย ผ่านจังหวัดหนองคาย ลงไปจนถึงสิงคโปร์

ส่วนเส้นทางรถไฟระหว่างสิงคโปร์และมาเลเซียนั้น มีเส้นทางเก่าอยู่แล้ว ในข้อเสนอจึงเสนอปรับปรุงยกระดับให้เป็นเส้นทางรถไฟความเร็วสูงซึ่งคาดว่าจะมีความคืบหน้าเร็วๆนี้ สื่อท้องถิ่นเผยว่าสิงคโปร์อยากให้ผู้ประมูลยุโรปหรือญี่ปุ่นคว้าสัญญาฯ แต่มาเลเซีย อยากได้บริษัทจีนฯ

ขณะนี้จีนยังกำลังผลักดันโครงการก่อสร้างเส้นทางรถไฟความเร็วสูงในอินเดีย และยังเสนอแผนเส้นทางรถไฟสายตรงไปยังกรุงเตหะราน ประเทศอิหร่าน


กำลังโหลดความคิดเห็น