xs
xsm
sm
md
lg

ไทยเนื้อหอม แผนลงทุนระบบรางดึงนักลงทุน ต่อยอดอุตฯ ชิ้นส่วนรถไฟฟ้า

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ไทย-เยอรมนี ลงนามร่วมพัฒนาระบบราง “อาคม” เผยไทยเนื้อหอม เหตุมีแผนลงทุนพัฒนาระบบรางในแผนปฎิบัติการ สัดส่วนถึง 85% ทั้งรถไฟฟ้า รถไฟทางคู่ ไฮสปีดเทรน พร้อมต่อยอดโรงงานอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถไฟได้ในอนาคต ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0

วันที่ 23 พ.ย. นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายเพเทอร์ พรือเกล เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีประจำประเทศไทย ลงนามแถลงการณ์ร่วมแสดงเจตจำนงว่าด้วยการพัฒนาความร่วมมือด้านรถไฟ (Joint Declaration of Intent on the Further Development of the Cooperation in the Field of Railways) ระหว่างกระทรวงคมนาคมแห่งราชอาณาจักรไทย และกระทรวงคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี

โดยนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า เยอรมนีให้ความสนใจประเทศไทยเนื่องจากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมารัฐบาลไทยให้ความสำคัญในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบรางมาก ซึ่งในแผนปฏิบัติการปี 2558-2560 จะมีการลงทุนระบบรางทั้งรถไฟฟ้าในเมืองรถไฟทางคู่ รถไฟความเร็วสูงประมาณ 85% ของมูลค่าการลงทุนทั้งหมด คุ้มค่าพอที่ต่อยอดการผลิตอุปกรณ์หรือชิ้นส่วนด้านระบบรางต่างๆ ให้ผู้ประกอบการไทยลงทุนได้ โดยเยอรมนีจะให้คำแนะนำศึกษาการลงทุนได้ และที่ผ่านมา มีหลายบริษัทเข้ามาลงทุนในไทยแล้ว เช่น รถไฟฟ้า BTS แอร์พอร์ตเรลลิงก์ MRT ใช้รถบริษัท ซีเมนส์ ซึ่งการพัฒนาระบบราง เป็นส่วนหนึ่งที่จะสร้างการเติบโตกับเศรษฐกิจตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ได้ 

โดยความร่วมมือไทย-เยอรมนีนี้จะเน้นด้านเทคโนโลยีสำหรับไทย-เยอรมนี ได้แก่ 1. อุตสาหกรรมราง คือการผลิตอุปกรณ์ชิ้นส่วนต่างๆ จะมีผู้ผลิตในประเทศไทยจะเป็นส่วนหนึ่งห่วงโซ่อุปทาน (Value Chain ) ของระบบราง คือ การผลิตชิ้นส่วนก่อน ยังไม่รวมถึงการผลิตเป็นตัวรถ 2. มาตรฐานและเทคโนโลยีของผู้ให้บริการ 3. ความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำและวางแผนงานพัฒนาระบบราง การสัมมนา การส่งบุคลากรไทยไปอบรม จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับระบบราง กระทรวงคมนาคม มหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย จึงไม่เหมือนความร่วมมือ ระหว่างไทย-จีน และไทย-ญี่ปุ่น ที่ชัดเจนว่าจะร่วมลงทุนในทางรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพ-นครราชสีมา และกรุงเทพ-เชียงใหม่

นายอาคมกล่าวว่า โครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ-หัวหิน, กรุงเทพ-ระยอง เป็นการร่วมลงทุนเอกชน (PPP) นั้น เอกชนจะจับคู่กันมาลงทุนซึ่วทางเยอรมันสนใจและคงต้องหาพาร์ตเนอร์ไทยจับมือเข้ามา ส่วน เส้นทางกรุงเทพ-หัวหิน ที่ผ่านมาได้เริ่มพูดคุยกับรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมของมาเลเซียแล้วในการต่อเชื่อมกรุงเทพ-กัวลาลัมเปอร์ ได้มอบให้คณะทำงานระดับเจ้าหน้าที่ของกระทรวงคมนาคมและมาเลเซียหารือร่วมกัน จากนั้นฝ่ายนโยบายจะกำนหดขอบเขตของการทำงานร่วมกัน เพราะแนวเส้นทางยาวจะต้องศึกษาความเหมาะสม โดยเห็นว่าควรศึกษาต่อยอดจากกรุงเทพ-หัวหิน มากกว่าทำเป็นแนวเส้นทางใหม่ ซึ่งต้องตกลงกันว่าจะแบ่งขอบเขตการศึกษาอย่างไร

“ไทยมีมูลค่าการลงทุนด้านระบบรางเป็นอันดับ 3 ของอาเซียน โดยอินโดนีเซียเป็นอันดับ 1 และฟิลิปปินส์อันดับ 3 ซึ่งเยอรมนีมองในมุมของทั้งอาเซียนด้วย”

สำหรับประเทศไทยและเยอรมนีมีความสัมพันธ์ทางการทูตมานานกว่า 150 ปี รวมทั้งมีประวัติศาสตร์ความร่วมมืออันยาวนานในการพัฒนาเทคโนโลยีและองค์ความรู้ร่วมกันอันยาวนาน โดยตั้งแต่ปี 2538 เป็นต้นมา ประเทศไทยและเยอรมนี ได้ประสานความร่วมมือกันสร้างระบบขนส่งมวลชนให้กับกรุงเทพฯ นอกจากการสนับสนุนด้านเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐานให้แก่ประเทศไทยแล้ว บริษัทสัญชาติเยอรมันได้ฝึกอบรมวิศวกรไทยมากกว่า 600 คน ให้เป็นผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมระบบราง เพื่อรองรับความต้องการบุคลากรในอุตสาหกรรมระบบราง ทั้งในประเทศไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

แถลงการณ์ร่วมฯ ฉบับนี้ ทั้งสองประเทศได้ยืนยันเจตจำนงและความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด ตลอดจนแลกเปลี่ยนประสบการณ์อย่างครอบคลุมทุกมิติ เพื่อพัฒนาและขยายระบบรางในประเทศไทย และแถลงการณ์ร่วมฯ ฉบับนี้ ได้กล่าวถึงการร่วมมือกันจัดทำแนวทางที่ดีที่สุดในการวางนโยบาย รวมทั้งการแลกเปลี่ยนและฝึกอบรมผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย และช่างเทคนิคด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น