xs
xsm
sm
md
lg

“ประจิน” ก้นร้อนโปรเจกต์ไม่เดินตามแผน สั่งสแกนทุกขั้นตอนเร่งแก้อุปสรรค

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ประจิน” แจงโครงการช้า รถไฟทางคู่ 3 เส้นทางคาดเลื่อนประมูลจากกำหนด 2-3 เดือน ส่วนรถไฟฟ้า 3 สายชมพู-เหลือง-ส้ม ขยับไปเป็นปลายปี 58 ถึงต้นปี 59 พร้อมสั่งตรวจสอบปัญหาอุปสรรค และปรับวิธีการทำงาน ทำตารางตรวจสอบทุกขั้นตอนเพื่อเร่งรัดงานให้เดินหน้า มั่นใจปี 59 ไร้ปัญหา ตั้งทีมประสาน ก.ทรัพย์ เร่งขั้นตอน EIA และ EHIA ส่วนสภาพัฒน์มอบ “อาคม” ช่วยเคลียร์

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า กรณีมีกระแสข่าวถึงการดำเนินโครงการของกระทรวงคมนาคมมีความล่าช้านั้น ยอมรับว่ามี 2 ส่วนที่ล่าช้าไปจากแผนประมาณ 2-3 เดือน คือ โครงการรถไฟทางคู่ 3 เส้นทาง ประกอบด้วย ฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย, ชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น, ประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร โดยจะล่าช้าจากแผนเดิมที่จะประกวดราคาในเดือน ส.ค. 2558 เป็นเดือนก.ย.-ธ.ค. 2558 และโครงการถไฟฟ้า 3 สาย คือ สายสีส้ม (ตลิ่งชัน-มีนบุรี) สายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) สายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) จะล่าช้าไปเป็นปลายปี 2558 ถึงต้นปี 2559 ส่วนโครงการอื่นๆ ที่อยู่ในแผนงานปี 2558 ยังเดินหน้าไปตามแผนได้ตามเดิม

โดยปัญหาการดำเนินโครงการที่ล่าช้าจะกระทบใน 2 ส่วน คือ การใช้งบประมาณ และผลงานที่ล่าช้า ดังนั้นจะเร่งในส่วนของการบริหารงบประมาณ โดยจะลงในรายละเอียดทุกขั้นตอนตั้งแต่เริ่มต้นการอนุมัติแผนงานโครงการว่าติดขัดล่าช้าจุดใดบ้าง เรื่องการกำหนดทีโออาร์ล่าช้าตรงไหน การจัดซื้อจัดจ้างล่าช้าตรงไหน โดยนางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคมจะจัดทีมงานร่วมกับหน่วยงาน ทำตารางกำหนดรายละเอียดของงานในแต่ละส่วน เพื่อแก้ไขได้ทุกจุด

ส่วนที่ 2 คือ เมื่อเริ่มต้นโครงการช้าจะกระทบต่อแผนที่จะนำไปใช้ประโยชน์ ซึ่งจะแก้ไข โดยการปรับแผนในภาพรวม ซึ่งอาจจะมีแผนสำรองไว้ ดังนั้นทุกโครงการของกระทรวงคมนาคม จะมีการตรวจสอบปัญหาอุปสรรคอยู่ตรงไหน ซึ่งขณะนี้ได้นำโครงการในความรับผิดชอบของ 2 หน่วยงาน คือ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) มาตรวจสอบดูก่อนว่าติดขัดตรงจุดไหน จากนั้นจะเป็นเห็นหน่วยอื่นๆ เช่น กรมการขนส่งทางบก กรมเจ้าท่า การท่าเรือ

“กรณีที่บอกว่าแผนงานโครงการล่าช้า โดยพูดถึงแผนงานในปี 2558-2559 ต้องบอกว่า หลายเรื่องไม่ได้มีงบประมาณไว้ก่อน และมีหลายเรื่องที่เห็นว่ามีความจำเป็นจึงได้เร่งขึ้นมาทำก่อน ซึ่งข้อเท็จจริงก็คือ เมื่อยังไม่มีการตั้งงบประมาณของโครงการไว้ก่อน พอจะเริ่มจึงทำได้ในส่วนของ งบศึกษาความเป็นไปได้ งบศึกษาสำรวจออกแบบ ดังนั้นการก่อสร้างจะไปเริ่มได้ในปี 2559 ซึ่งก็ต้องผ่านกระบวนการศึกษาความเป็นไปได้ ศึกษาผลกระทบและตามมาด้วยการเวนคืนที่ดิน การขอความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เมื่อผ่านแล้ว ก็จะต้องเลือกบริษัทจึงจะก่อสร้างได้ ที่ผ่านมาเป็นบทเรียนที่จะต้องแก้ไข ส่วนปี 2559 มั่นใจว่าความสำเร็จในการดำเนินโครงการแทบจะใกล้เคียงกับแผนงาน จะผลกระทบน้อยมากเพราะได้เตรียมการไว้ตั้งแต่ปี 2558 แล้ว” พล.อ.อ.ประจินกล่าว

อย่างไรก็ตาม ในการทำงานของรัฐวิสาหกิจนั้น หลักๆ จะมีคณะกรรมการ (บอร์ด) และผู้บริหารขับเคลื่อน เพียงแต่นโยบายส่วนไหนที่เป็นเรื่องเร่งด่วนมีผลกระทบต่อภาพรวมโครงการ จะพยายามเร่งและทำงานร่วมกันกับกระทรวงอย่างใกล้ชิดเพราะคลี่คลายปัญหา เช่น กรณีโครงการได้รับอนุมัติแล้ว ไม่มีปัญหาข้อติดขัดให้เร่งเดินหน้าต่อ ส่วนไหนที่มีเรื่องร้องเรียน หรือติด EIA ,EHIA ยังไม่สมบูรณ์ จะให้ปลัดคมนาคมไปหารือกับปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมส่วนไหนที่เกี่ยวข้องกับทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้มอบให้นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมช่วยติดตาม

สำหรับการใช้งบประมาณปี 2558 นั้น ขณะนี้มี 2 หน่วยที่เบิกจ่ายล่าช้ากว่าแผน คือ กรมเจ้าท่า และสำนักงานนโยบายแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ส่วนหน่วยงานอื่นเบิกจ่ายได้ตามแผน นอกจากนี้ ยังมีงบประมาณเหลือจ่ายที่ต้องส่งคืนอีกประมาณ 299.86 ล้านบาท ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 2558 โดยมี 7 หน่วยงาน คือ สถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) กรมเจ้าท่า กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท รฟม. ร.ฟ.ท. และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) อย่างไรก็ตาม จะมีการปรับตัวเลขสิ้นเดือน ก.ค. 2558 อีกครั้งซึ่งคาดว่าตัวเลขส่งคืนจะลดลงอีก
กำลังโหลดความคิดเห็น