xs
xsm
sm
md
lg

“ประจิน” การันตีถนนทรุดไม่เกี่ยวทุจริต ผุดเลนจักรยานตลอดแนวคลองแก้ปัญหายั่งยืน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ประจิน” ยืนยันถนนคันคลองทรุดมีเกี่ยวทุจริต ชี้เป็นภาวะภัยแล้งที่มากกว่าประเมินจนกระทบโครงสร้าง ด้าน ทช.เร่งเจาะสำรวจ พร้อมเพิ่มตัวแปรใหม่เพื่อกำหนดวิธีก่อสร้างใหม่ ระบุแก้ปัญหายั่งยืนปรับตลอดแนวคันคลองเป็นเลนจักรยาน พร้อมประกาศลดน้ำหนักบรรทุก

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงกรณีถนนเลียบคันคลองทรุดตัวว่า สาเหตุหลักเกิดจากสภาพแวดล้อมเกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่ได้มีการทุจริตคอร์รัปชัน การออกแบบ ความยาวของเสาเข็มที่ 10 เมตร เป็นไปตามหลักวิศวกรรมซึ่งมีความมั่นคงแข็งแรง โดยกรมทางหลวงชนบท (ทช.) จะเร่งดำเนินการฟื้นฟูพร้อมทั้งสำรวจถนนที่มีความเสี่ยงเพื่อป้องกัน

นายประศักดิ์ บัณฑุนาค รองอธิบดีกรมทางหลวงชนบท กล่าวว่า ปัจจุบันถนนคันคลองทรุดตัวแล้ว 36 สายทาง ระยะทางรวม 16.258 กิโลเมตร และมีจุดเสียหาย จำนวน 133 จุด นอกจากนี้ ยังมีจุดที่มีความเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังอีกจำนวน 4 จุด ซึ่งกรมชลประทานได้ส่งมอบถนน 232 สายทาง ระยะทาง 2,648 กม. เฉพาะผิวทางให้กรมทางหลวงชนบททำการยกระดับจากเหตุน้ำท่วมปี 2554 ซึ่งผ่านการใช้งานมา 2 ปีไม่มีปัญหา แต่ปีนี้เกิดภาวะภัยแล้งน้ำลดจนแห้งทำให้ถนนเกิดการทรุดตัว เนื่องจาก ถนนคันคลองนั้นทรงตัวอยู่ได้เนื่องจากแรงต้านของดินคันคลอง และแรงดันของน้ำในคลองชลประทานช่วยกันรับน้ำหนักคันทาง แต่เมื่อเกิดภัยแล้งน้ำแห้งขอดแรงดันของน้ำที่เคยพยุงถนนคันคลองหายไป ทำให้บางจุดมีแรงต้านของดินไม่เพียงพอถนนจึงทรุดตัว

ทั้งนี้ การออกแบบถนนคันคลองนั้นใช้หลักจากจากสถิติระดับน้ำสูงสุดและระดับน้ำต่ำสุดที่ผ่านมา ซึ่งไม่เคยต่ำกว่า 2 เมตร ดังนั้นจะใช้บทเรียนที่เกิดขึ้นซึ่งเป็นตัวแปรมาทบทวนในการออกแบบปรับปรุงถนน ซึ่งในทางเทคนิคการก่อสร้างถนนมีประมาณ 10 รูปแบบ เช่น ก่อสร้างป้องกันตลิ่งพังโดยใช้ Corrugated Sheet Pile ซึ่งค่าก่อสร้างสูงเฉลี่ย 100 ล้านบาทต่อ กม. ในขณะที่ก่อสร้างแบบมีกำแพงกันดิน เฉลี่ย 50-60 ล้านบาทต่อ กม. ส่วนไม่มีกำแพงกันดินเฉลี่ย 10 ล้านบาทต่อ กม. นอกจากนี้ การแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนเป็นเทคนิคการก่อสร้างโดยขยับแนวถนนไปด้านตรงข้ามคลอง และลดระดับถนนฝั่งคลองปรับปรุงเป็นทางจักรยาน ซึ่งในเดือน ส.ค.นี้จะหารือกับกรมชลประทานเพื่อตรวจสอบถนนคันคลองที่มีพื้นที่เพียงพอในการทำเป็นเลนจักรยานเพิ่ม ส่วนจะใช้วิธีใดก่อสร้างจะต้องดูความเหมาะสม ความคุ้มค่าในการลงทุน

อย่างไรก็ตาม ทช.กำลังเร่งสำรวจวิเคราะห์ดินเพื่อดูจุดอ่อนของดินก่อนนำมากำหนดแบบในการก่อสร้างให้เหมาะสมกับถนนคันคลองที่ทรุดตัวในแต่ละจุด ซึ่งจะมีรูปแบบการก่อสร้างที่ไม่เหมือนกันในแต่ละจุด โดยขณะนี้ ทช.ได้กำหนดแผนปรับปรุงถนนคันคลองใน 31 สายที่เกิดการทรุดตัวก่อน โดยขอวงเงินงบประมาณ 700 ล้านบาท และอีก 150 ล้านบาทสำหรับการป้องกันถนนที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดเหตุทรุดตัวได้ในอนาคต พร้อมกับได้ออกประกาศลดน้ำหนักรถบรรทุกสิบล้อที่วิ่งผ่านคันคลองชลประทาน จากเดิม 25 ตัน เหลือ 18 ตัน 56 สายทาง มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 10 ก.ค. 2558
กำลังโหลดความคิดเห็น