ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - ภาคประชาชนจับมือนักวิชาการตั้งวงเสวนาถกประเด็นปัญหาระบบจราจรและขนส่งมวลชนเชียงใหม่ ชี้ปัญหาจราจรแออัดเกิดจากคนเสพติดการใช้รถส่วนตัวเนื่องจากขาดทางเลือกในการเดินทางที่ตอบสนองความต้องการได้อย่างแท้จริง ขณะที่ชมรมจักรยานวอนขอเส้นทางเฉพาะหนุนการใช้ได้จริงในชีวิตประจำวันลดปัญหาจราจร นอกจากนี้ตำหนิการออกแบบสร้างสะพานข้ามแม่น้ำปิงรับอุโมงค์ลอดแยกแม่โจ้ทำได้สุดห่วยขัดแย้งสภาพการใช้ชีวิตจริงของชุมชน ยื่นหนังสือจี้กรมทางหลวงเร่งแก้ไข
วันนี้ (10 ก.ค.58) ที่โรงเรียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา จังหวัดเชียงใหม่ กลุ่มภาคประชาชนและนักวิชาการเชียงใหม่ ร่วมกันจัดเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นเกี่ยวกับระบบจราจรและขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่เพื่อผลักดันสู่การจัดทำแผนแม่บทการจัดการระบบขนส่งและการจราจรภาคประชาชน
โดยมีผู้เข้าร่วมการเสวนาประกอบด้วยนายสวิง ตันอุด ภาคีขับเคลื่อนเชียงใหม่จัดการตนเอง, ดร.นิรันดร โพธิกานนท์ ที่ปรึกษาชมรมจักรยานวันอาทิตย์, ผศ.ดร.วสันต์ จอมภักดี ประธานคณะกรรมการประสานงานอนุรักษ์แม่ปิงและสิ่งแวดล้อม (คอปส.) และ ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม หัวหน้าหน่วยงานวิจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและโครงสร้างพื้นฐาน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ พร้อมมีผู้สนใจเข้าร่วมจำนวนหนึ่ง
ทั้งนี้ นายสวิง กล่าวว่า เชียงใหม่การเปลี่ยนแปลงในทุกๆ ด้านไปอย่างรวดเร็วส่งผลให้มีปัญหาจราจรแออัดตามมาด้วย จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการวางแผนรองรับการแก้ปัญหานี้ที่มีแนวโน้มรุนแรงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยที่ผ่านมาภาครัฐมีการดำเนินโครงการต่างๆ มากมายที่ระบุว่าเป็นการแก้ไขปัญหาจราจร
อย่างไรก็ตามส่วนมากแทบไม่ได้มีการสอบถามและทราบถึงความต้องการที่แท้จริงของประชาชนที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงเลยว่ามีความต้องการอย่างไร ดังนั้นในส่วนของภาคประชาชนและนักวิชาการที่ทำการศึกษาเกี่ยวระบบการจราจรของเชียงใหม่จึงอยากเรียกร้องการมีส่วนร่วมและมีข้อเสนอแนะที่เป็นการสะท้อนให้เห็นความต้องการและปัญหาที่แท้จริงเพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่เป็นระบบและตรงจุดมากยิ่งขึ้น
ด้าน ดร.ปุ่น ระบุว่า สาเหตุของปัญหาการจราจรที่สำคัญอย่างหนึ่งของเชียงใหม่ เนื่องมาจากผู้คนเคยชินกับการใช้รถส่วนตัวมากเกินไปจนทำให้การจราจรบนท้องถนนคับคั่ง ส่งผลกระทบทำให้สูญเสียพื้นที่ทางเดินเท้าและจักรยานไปด้วย ขณะที่รถบริการสาธารณะที่มีอยู่อย่างรถสี่ล้อรับจ้างก็ยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างตรงจุด
ทั้งนี้ มองว่าการแก้ไขปัญหานี้จำเป็นที่จะต้องมีจุดเริ่มต้นและเรียกร้องจากประชาชนว่ามีความต้องการอย่างไร และผลักดันให้ภาครัฐตอบสนองความต้องการดังกล่าว ซึ่งเป็นสิทธิโดยชอบที่ทำได้ โดยร่วมกันพัฒนาโครงข่ายระบบขนส่งและการจราจรที่มีประสิทธิภาพและสามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนชาวเชียงใหม่ได้อย่างแท้จริง
ขณะที่ ดร.นิรันดร เสนอแนะเกี่ยวกับการสนับสนุนการใช้จักรยานในชีวิตประจำวันว่า เป็นทางเลือกหนึ่งที่จะช่วยลดการใช้รถส่วนตัวและลดความคับคั่งของการจราจรบนท้องถนน ทั้งนี้สามารถทำได้โดยการจัดให้เส้นทางที่มีอยู่เป็นทางสำหรับจักรยานแต่รถอื่นๆ ยังใช้ทางร่วมกันได้ โดยจำกัดความเร็วไม่ให้เกิน 30 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งเป็นความเร็วที่ไม่เป็นอันตรายต่อจักรยานมากนักหากเกิดอุบัติเหตุ ทั้งนี้หากเป็นไปได้อยากให้มีการกำหนดนำร่องให้เส้นทางรอบสี่เหลี่ยมคูเมืองเชียงใหม่เป็นเส้นทางจักรยานแล้วมีการขยายผลเชื่อมโยงต่อไปยังเส้นทางอื่นๆ ที่เป็นไปได้
ส่วน ผศ.ดร.วสันต์ กล่าวถึงโครงการก่อสร้างทางลอดจุดตัดทางหลวงหมายเลข 11 กับทางหลวงหมายเลข 1001 (รวมสะพานข้ามแม่น้ำปิง) จังหวัดเชียงใหม่ หรืออุโมงค์ทางลอดแยกแม่โจ้ว่า เป็นการออกแบบก่อสร้างที่ไม่สอดคล้องกับสภาพการใช้ชีวิตประจำวันของชาวชุมชนในย่านดังกล่าว โดยเฉพาะการก่อสร้างในส่วนของสะพานข้ามแม่น้ำปิง ที่จะทำให้ถนนทางลอดสะพานของทั้งสองฝั่งที่เดิมมีความกว้าง 22 เมตร เหลือเพียง 7 เมตร ซึ่งคับแคบและเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการจราจรคับคั่งและอันตรายกับผู้คนในย่านดังกล่าว
ทั้งนี้ ได้มีการทำหนังสือถึงอธิบดีกรมทางหลวงแล้วเพื่อขอให้มีการทบทวนปรับแบบก่อสร้าง โดยลดความกว้างของสะพานที่จะทำการขยายเป็น 10 ช่องทาง เหลือเพียง 6-8 ช่องทาง พร้อมเพิ่มทางเท้า ทางจักรยาน และพื้นที่สีเขียว ซึ่งเวลานี้ยังอยู่ระหว่างการรอคำตอบจากกรมทางหลวง
สำหรับความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ ในการเสวนาครั้งนี้ รายงานข่าวแจ้งว่า ทางภาคประชาชนจะมีการรวบรวมจัดทำเป็นข้อเสนอของภาคประชาชนเพื่อส่งให้กับภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้พิจารณาต่อไปในการเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนได้มีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางการจัดการระบบจราจรที่เหมาะสมและตรงความต้องการของชาวเชียงใหม่