“คมนาคม” เตรียมสรุปแผนเส้นทางจักรยานเสนอ ครม.ต้น ก.ค.นี้ โดยกำหนดหน้าที่แต่ละกระทรวงเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้จักรยานและรถยนต์ ตามโครงการ “คืนความสุขให้ประชาชนด้วยเส้นทางจักรยานทั่วไทย” จ่อเพิ่มบทลงโทษทำผิดกฎจราจร ควบคุมพฤติกรรมผู้ใช้รถทุกประเภท และแก้ พ.ร.บ.จราจรฯ ปรับลดความเร็วในเขตเมืองไม่เกิน 50 กม./ชม.
นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมร่วมกับผู้แทนจากกระทรวงมหาดไทย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กรุงเทพมหานคร (กทม.) และชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย ภายใต้โครงการ “คืนความสุขให้ประชาชนด้วยเส้นทางจักรยานทั่วไทย” วันนี้ (16 มิ.ย.) ว่า ที่ประชุมได้สรุปแผนการพัฒนาเส้นทางจักรยานทั่วประเทศ พร้อมกับรับข้อเสนอแนะจากผู้เกี่ยวข้อง เพื่อรวบรวมร่างข้อเสนอโครงการพัฒนาเส้นทางจักรยานทั่วประเทศเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบได้ช่วงต้นเดือน ก.ค.นี้ ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ส่งเสริมการใช้จักรยานเพื่อสุขภาพ เพื่อการท่องเที่ยวและเพื่อการสัญจร โดยให้มีเส้นทางจักรยานในทุกจังหวัดและทุกพื้นที่กว่า 3,009 กม.
โดยจากการหารือเห็นว่าการส่งเสริมการใช้จักรยาน นอกจากมีเส้นทางที่ได้มาตรฐานแล้ว ต้องมีความปลอดภัยในการขับขี่ด้วย โดยตัวแทนชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพฯ เสนอแนะว่าควรปรับทัศนคติผู้ขับรถยนต์ รถจักรยานยนต์ สร้างความเข้าใจในการใช้ถนนร่วมกับรถจักรยาน ซึ่งความปลอดภัยไม่ได้มาจากกายภาพถนน แต่ต้องเคารพกฎหมายด้วย และควรกำหนดอัตราโทษการฝ่าฝืนกฎหมาย จัดทำทางเฉพาะทางจักรยาน และขยายผลไปถึงการสอบใบขับขี่รถยนต์ที่ต้องมีความเข้าใจในเรื่องจักรยาน รวมถึงทำทางจักรยานที่มีความพร้อมสมบูรณ์ทั้งกายภาพและสิ่งอำนวยความสะดวกและความปลอดภัย โดยมีการเสนอให้ควบคุมพฤติกรรม การจำกัดความเร็วในเขตเมือง โดยจะเสนอปรับแก้ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2552 ให้ความเร็วเขตเมืองไม่เกิน 50 กม./ชม. จากปัจจุบันที่ 80 กม./ชม. เป็นต้น
นางสร้อยทิพย์กล่าวว่า แผนโครงการพัฒนาเส้นทางจักรยานทั่วประเทศจะกำหนดบทบาทหน้าที่ของทุกส่วนที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจนขึ้น เช่น กระทรวงคมนาคมมีหน้าที่จัดทำทางจักรยานทั่วประเทศ ดูแลมาตรฐานทางจักรยาน จัดทำเส้นทางจักรยานในพื้นที่ความรับผิดชอบ ส่วนกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้จัดสรรงบประมาณในการจัดทำทางจักรยานทั่วประเทศประมาณ 1,000 ล้านบาท ส่วนกรุงเทพมหานครมีการจัดทำทางจักรยานและส่งเสริมการใช้จักรยานในพื้นที่กรุงเทพมหานคร กระทรวงอุตสาหกรรมควรกำหนดมาตรฐานรถจักรยานที่ปลอดภัย กระทรวงศึกษาธิการรณรงค์เรื่องการขับขี่ปลอดภัยในโรงเรียนตั้งแต่เด็ก เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ตามแผนดำเนินงานเส้นทางจักรยานทั่วประเทศที่ได้มาตรฐาน ในส่วนของกระทรวงคมนาคมมีประมาณ 1,332 กม. ดำเนินการภายในปี 2559 ด้วยการนำยางพารามาเป็นส่วนผสมในการก่อสร้างผิวทางของจักรยานในเส้นทางที่กรมทางหลวงรับผิดชอบประมาณ 105 กม. ใช้ยางพาราประมาณ 192 ตัน ขณะนี้ดำเนินการก่อสร้างเส้นทางจักรยานแล้วเสร็จจำนวน 332 กิโลเมตร อยู่ระหว่างดำเนินการ 16 กิโลเมตร และในอนาคตอีก 983 กม. เส้นทางจักรยานกรุงเทพมหานครพัฒนาเส้นทางจักรยาน 323 กม. และหน่วยงานส่วนภูมิภาคท้องถิ่นดำเนินการ 1,354 กิโลเมตร ดำเนินการแล้วเสร็จ 109 กิโลเมตร โดยเส้นทางที่ก่อสร้างเป็นทางจักรยานโดยใช้ยางพารา มีระบบอำนายความสะดวก ป้าย และไฟฟ้าส่องสว่าง ต้นทุนประมาณ 7 ล้านบาทต่อ กม. ส่วนกรณีไม่มีระบบไฟฟ้าส่องสว่าง มีต้นทุนประมาณ 3 ล้านบาทต่อ กม.