บอร์ด ปตท.ไฟเขียวซื้อแอลเอ็นจีเพิ่มจากเชลล์ และบีพี รายละ 1 ล้านตัน/ปี เป็นระยะเวลา 15-20 ปี อิงสูตรราคาทั้งน้ำมันและก๊าซ เริ่มรับก๊าซฯ กลางปี 59 ส่วนโครงการสร้างคลังแอลเอ็นจีลอยน้ำที่พม่า รอรัฐบาลพม่าไฟเขียวพร้อมลงทุนทันที
นายณัฐชาติ จารุจินดา ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.ที่ผ่านมา อนุมัติให้บริษัททำสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากบริษัท เชลล์ และบริษัท บีพี รายละ 1 ล้านตัน/ปี เป็นระยะเวลา 15-20 ปี เริ่มรับแอลเอ็นจีในกลางปี 2559 โดยจะเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพื่ออนุมัติต่อไป หลังจากนั้นจะให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาสัญญาซื้อขายก๊าซแอลเอ็นจีดังกล่าวต่อไป
การตัดสินใจซื้อก๊าซแอลเอ็นจีจากเชลล์และบีพีเพื่อให้สอดคล้องกับแผนงานที่ต้องการมีสัญญาซื้อขายแอลเอ็นจีระยะยาวคิดเป็นสัดส่วน 60-70% ที่เหลือเป็นการซื้อจากตลาดจรเพื่อบริหารความเสี่ยง โดยสัญญาซื้อขายแอลเอ็นจีครั้งนี้จะอิงสูตรราคาน้ำมันกับก๊าซฯ ในสัดส่วนที่เท่ากัน ต่างจากสัญญาซื้อแอลเอ็นจีจากกาตาร์ 2 ล้านตัน/ปี ที่อิงสูตรราคาตามน้ำมันทั้ง 100% ทำให้มีความเสี่ยงสูงถ้าราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น
ปัจจุบัน ปตท.มีสถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG Receiving Terminal เฟสแรก 5 ล้านตัน/ปี และขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้าง LNG Receiving Terminal เฟส 2 อีก 5 ล้านตัน คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2560 ส่วนการขยายในเฟส 3 อีก 5 ล้านตันตัดสินใจเลือกพื้นที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง ซึ่งไม่ไกลจาก LNG Receiving Terminal เฟส 1-2 คงต้องรอการอนุมัติจากรัฐบาลก่อนดำเนินการได้
นายณัฐชาติกล่าวถึงความคืบหน้าการสร้างคลังแอลเอ็นจีลอยน้ำ (FSRU) ในประเทศพม่าว่า ขณะนี้คงต้องรอความเห็นชอบจากรัฐบาลพม่าก่อนจะดำเนินการ โดยจุดที่ตั้งคลังแอลเอ็นจีลอยน้ำจะเป็นทวายหรือกันเบาะนั้นไม่ต่างกันมากในแง่เงินลงทุน เนื่องจากอยู่ห่างกันเพียง 60 กม.เท่านั้น โดยโครงการดังกล่าวจำเป็นต้องเร่งดำเนินการ เพื่อเพิ่มคุณภาพก๊าซฯ จากแหล่งยาดานาและแหล่งเยตากุน รวมทั้งปริมาณก๊าซจากแหล่งเยตากุนเริ่มที่จะผลิตได้น้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้จึงเกิดความเสี่ยงการผลิตไฟฟ้าในฝั่งตะวันตกของไทยได้
ส่วนเรื่องการปรับลดงบลงทุนในปีนี้ของ ปตท. จาก 77,280 ล้านบาท ลงเหลือ 55,663 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นการปรับลดแผนการลงทุนของกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาตินั้น นายณัฐชาติกล่าวว่า โครงการลงทุนของกลุ่มธุรกิจก๊าซฯ ที่สำคัญมี 2 โครงการ คือ โครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติ เส้นที่ 4 (ระยอง-แก่งคอย) และโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบกนครสวรรค์ และนครราชสีมา ซึ่งจะทยอยแล้วเสร็จตั้งแต่ปลายปีนี้ถึงปีหน้าซึ่งเป็นไปตามแผนงาน โดยโครงการเหล่านี้มีความล่าช้าในการจ่ายเงินค่าก่อสร้าง ทำให้ต้องปรับลดงบลงทุนลงเพื่อให้สอดคล้องกับการจ่ายเงินจริง