ปตท.แจงจำเป็นต้องเร่งผุดคลัง LNG เฟส 3 อีก 5 ล้านตันและคลังลอยน้ำ รวมถึงท่อก๊าซเส้นที่ 5 รวมมูลค่าลงทุนกว่า 2 แสนล้านบาทเพื่อเสริมความมั่นคงด้านพลังงานหลังไทยเริ่มมีความเสี่ยงจากปริมาณก๊าซฯ เริ่มลด ปัญหาแหล่งเอราวัณ-บงกชไม่ชัด แถมพม่าเริ่มจ่ายก๊าซฯ ลดลงจากแผน “ณรงค์ชัย” เล็งเจรจาพม่าทำคลัง LNG ลอยน้ำ 2 ลำ
นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. (PTT) เปิดเผยว่า ปตท.เตรียมที่จะเสนอกระทรวงพลังงานเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณาแผนการก่อสร้างคลังก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เฟส 3 จำนวน 5 ล้านตัน และหน่วยแปลงสภาพก๊าซฯ รูปแบบลอยน้ำ หรือ FSUR จำนวน 2 ลำ และลงทุนท่อก๊าซเส้นที่ 5 โดยใช้งบประมาณรวมกว่า 2 แสนล้านบาท ทั้งนี้เพื่อความมั่นคงด้านพลังงานของไทย
“ปตท.ยืนยันว่าโครงการดังกล่าวมีความจำเป็นและอาจจะเร็วกว่าแผนด้วยซ้ำ เพราะจากแนวโน้มความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มสูงขึ้น ขณะที่ปริมาณก๊าซฯ ในอ่าวไทยมีแนวโน้มลดลง หากการเจรจาแปลงสัมปทานเอราวันและบงกชที่จะหมดอายุสัญญาลงในอีก 7-8 ปียังไม่บรรลุได้ตามเวลาที่กำหนด อีกทั้งการเจรจาพื้นที่ปิโตรเลียมคาบเกี่ยวไทย-กัมพูชาก็ล่วงเลยมาก” นายไพรินทร์กล่าว
ทั้งนี้ การลงทุนคลัง LNG เฟส 3 อีก 5 ล้านตัน/ปีได้มองพื้นที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง ซึ่งคนละพื้นที่กับคลัง LNG เฟส 1-2 ที่มีกำลังผลิตอยู่ 10 ล้านตัน/ปี ส่วนคลัง LNG ลอยน้ำจะเป็นการเช่าเรือ LNG มาจอดเพื่อใช้เป็นคลังลอยน้ำในฝั่งพม่าขนาด 3ล้านตัน/ปี โดยจะเปลี่ยนจากแอลเอ็นจีของเหลวเป็นก๊าซแล้วส่งผ่านท่อก๊าซมายังฝั่งไทย ใช้เงินลงทุน 450 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งถือเป็นการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในฝั่งตะวันตก จากเดิมที่มีความเสี่ยงการปิดซ่อมแหล่งก๊าซในพม่าเป็นประจำในช่วง เม.ย. ทำให้ต้องมีการสำรอง LNG และน้ำมันเตาเพื่อป้องกันปัญหาไฟฟ้าขาด พร้อมกับเสนอโครงการสร้าง FSRU ชั่วคราวขนาด 3 ล้านตัน/ปี ที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลาด้วย เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานทางภาคใต้จากการปิดซ่อมแหล่งก๊าซไทย-มาเลเซีย (JDA) ในบางช่วงเวลา
“ไทยรับก๊าซจากพม่าประมาณ 1 ใน 5 ของความต้องการใช้ก๊าซทั้งหมด 5 พันล้าน ลบ.ฟ./วัน และเป็นที่แน่นอนว่าพม่าจะไม่มีก๊าซฯ ขายเพิ่มให้ไทยอีก หากโครงการพัฒนาพื้นที่คาบเกี่ยวไทย-กัมพูชายังไม่จบ และปริมาณการผลิตก๊าซในอ่าวไทยลดลง ก็จำเป็นที่จะต้องเร่งรัดการสร้าง LNG เทอร์มินอลเฟส 3 เร็วยิ่งขึ้นเพื่อการันตีว่าคนไทยจะมีก๊าซใช้ในอนาคต และเพื่อเป็นการสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน จำเป็นต้องเร่งสร้างคลังลอยน้ำ LNG ที่ฝั่งพม่าด้วย ซึ่งรัฐบาลเองได้รับรู้ถึงปัญหาในเรื่องนี้” นายไพรินทร์กล่าว
นายไพรินทร์กล่าวต่อไปว่า ในเร็วๆ นี้ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี และนายณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.พลังงาน จะเดินทางไปพม่า และจะมีการเจรจาโครงการดังกล่าว
นายณรงค์ชัยกล่าวว่า ระหว่างนี้ได้มีการเจรจาระหว่างพม่า ลักษณะรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ในการใช้พื้นที่ฝั่งพม่าในการดำเนินการโครงการ FSRU โดยได้พิจารณาพื้นที่ 2 แห่ง คือ ที่กันเบาะ และทวาย ขนาด 3 ล้านตัน/ปี ซึ่ง ปตท.จะเป็นผู้ลงทุนโครงการนี้ ทั้งนี้ คาดว่าการเจรจาจะสามารถได้ข้อสรุปได้ภายในปีนี้
นายณัฐชาติ จารุจินดา ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมีขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ ปตท. กล่าวว่า ขณะนี้แหล่งก๊าซเยตากุนของพม่ามีปัญหาที่ไม่สามารถส่งก๊าซได้ตามที่เคยตกลงกัน โดยปริมาณที่ส่งขาดไปประมาณ 120 ล้าน ลบ.ฟ./วัน ทำให้การรับก๊าซจากแหล่งยาดานาลดลงไปด้วย เพราะที่ผ่านมาจะนำก๊าซทั้งสองแหล่งมาผสมกันก่อนจะปล่อยเข้าท่อก๊าซ อีกทั้งคุณภาพก๊าซจากแหล่งเยตากุนก็ไม่ค่อยดี ส่งผลให้ปริมาณสำรองลดลงไปด้วย ดังนั้น ปตท.จึงได้หาผู้ที่ประเมิน (Third Party) แหล่งเยตากุน ซึ่งกำลังคัดเลือกอยู่ และจะให้ประเมินปริมาณก๊าซแหล่งเยตากุนใหม่ว่ามีเท่าไร คาดว่าแล้วเสร็จใน 6 เดือนข้างหน้า