xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.ผนึกราชบุรีฯ ลุยธุรกิจพลังงาน ทุ่ม 9.4 หมื่นล้านผุด FSRU-โรงไฟฟ้าอาเซียน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ปตท.จับมือราชบุรีฯ เซ็นเอ็มโอยู 3 ฉบับลุยธุรกิจพลังงานในอาเซียน คาดใช้เงินลงทุนรวม 9.4 หมื่นล้านบาทตั้งคลังแอลเอ็นจีลอยน้ำชั่วคราวและโรงไฟฟ้าถ่านหินในพม่า รวมทั้งผุดโรงไฟฟ้าที่อินโดนีเซีย และเวียดนาม

วันนี้ (24 มิ.ย.) นายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของการลงทุนโครงการด้านพลังงานระหว่างกลุ่ม ปตท. กับบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เพื่อศึกษาความเป็นไปได้การลงทุนโครงการด้านพลังงานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รองรับความต้องการใช้พลังงานของประเทศและเสริมความมั่นคงด้านพลังงานในอนาคต

โดยการลงนามบันทึกความเข้าใจครั้งนี้มี 3 ฉบับ คือ ฉบับที่ 1 บันทึกความเข้าใจระหว่างหน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เพื่อศึกษาโอกาสความเป็นไปได้ในการลงทุนโครงการLNG Receiving Terminal ในพม่า รวมถึงโอกาสในการจัดแหล่งก๊าซธรรมชาติให้แก่โรงไฟฟ้าที่ผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ

ฉบับที่ 2 บันทึกความเข้าใจระหว่างบริษัท พีทีที เอ็นเนอร์ยี่ รีซอร์สเซส และ บมจ. ผลิตไฟฟ้าราชบุรีฯ เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนและแลกเปลี่ยนข้อมูลในโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในพม่า และฉบับที่ 3 บันทึกความเข้าใจระหว่าง บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ และ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรีฯ เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในอินโดนีเซีย และโครงการโรงไฟฟ้าและสาธารณูปโภคในตอนกลางประเทศเวียดนาม

นายพงษ์ดิษฐ พจนา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ผลิตไฟฟ้าราชบุรี โฮลดิ้ง กล่าวว่า ความร่วมมือกับกลุ่ม ปตท.ครั้งนี้ถือเป็นความสำเร็จเบื้องต้น และยังแสดงถึงบทบาทขององค์กรธุรกิจใหญ่ที่เป็นต้นแบบในการผนึกกำลังกันเป็นแบบทีมไทยแลนด์ เพื่อแข่งขันกับผู้เล่นรายใหญ่ในต่างประเทศ ซึ่งการมีพันธมิตรที่แข็งแกร่งอย่างกลุ่ม ปตท. เชื่อว่าจะสร้างความเข้มแข็งและการเติบโตขององค์กรต่อไปได้

โดยมูลค่าการลงทุนของโครงการต่างๆ ที่ลงนามเอ็มโอยูทั้ง 3 ฉบับกับกลุ่ม ปตท. คิดเป็นวงเงินรวมทั้งสิ้น 2,850 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 9.4 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย โครงการความร่วมมือในเรื่องคลังแอลเอ็นจีชั่วคราว (FSRU) ในพม่า เฟสแรก 3 ล้านตัน/ปี ใช้เงินลงทุน 400 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยราชบุรีฯ จะถือหุ้น 25-30% ที่เหลือถือหุ้นโดย ปตท.และผู้ร่วมทุนอื่น ซึ่งถือเป็นโครงการเร่งด่วนเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้แก่ประเทศ

นอกจากนี้ ยังศึกษาร่วมกันที่จะลงทุน FSRU ระยะที่ 2 อีก 7 ล้านตัน/ปี รองรับอีก 6-7 ปีข้างหน้าที่ปริมาณแหล่งก๊าซในเยตากุนและยาดานาจะเริ่มลดลง คาดจะลงทุนอีก 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยโครงการนี้ไม่อยู่ในงบการลงทุนที่เซ็นเอ็มโอยูดังกล่าว โดยโครงการนี้นอกจากจะส่งก๊าซมาไทยแล้วยังจำหน่ายในพม่าด้วย

นายพงษ์ดิษฐกล่าวต่อไปว่า ยังมีโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่เชียงตุง ในประเทศพม่า กำลังผลิต 600 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุนประมาณ 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยราชบุรีฯ ถือหุ้น 50% ปตท. 40% ที่เหลือเป็นผู้ร่วมทุนท้องถิ่น โดยโรงไฟฟ้าแห่งนี้คาดจะขายไฟฟ้าให้แก่ไทย 500 เมกะวัตต์ในปี 2565

ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าและสาธารณูปโภคเพื่อป้อนให้โครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ของกลุ่ม ปตท.ในเวียดนาม โดยจะสร้างโรงไฟฟ้าเบื้องต้นขนาด 500 เมกะวัตต์ ทางราชบุรีฯ จะถือหุ้น 30% ใช้เงินลงทุน 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

ส่วนของอินโดนีเซียโครงการแรกที่จะร่วมมือกันคือการเตรียมแผนซื้อโรงไฟฟ้าซัมเซล กำลังผลิต 300 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุน 150 ล้านเหรียญสหรัฐ

นายพงษ์ดิษฐกล่าวถึงโครงการโรงไฟฟ้ามะริด ที่พม่า ขนาด2,640 เมกะวัตต์ ใช้เงินลงทุน 4,800 ล้านเหรียญสหรัฐว่า ขณะนี้รอคำตอบจากทางรัฐบาลพม่าว่าจะเห็นชอบลงทุนเมื่อใด โดยราชบุรีฯ ถือหุ้น 45% ที่เหลือเป็นนักลงทุนท้องถิ่น

ดังนั้น ในปี 2566 ราชบุรีฯ คาดว่าจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 9,700 เมกะวัตต์จากปัจจุบันที่มีกำลังผลิตตามแผนงาน 6,200 เมกะวัตต์

นายสุรงค์ บูลกุล ประธานกรรมการบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การร่วมมือครั้งนี้จะทำให้บริษัทฯ มีกำลังผลิตเพิ่มขึ้นสูงกว่า 1 พันเมกะวัตต์ใน 5 ปี จากสิ้นปีนี้ที่จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งสิ้น 1,355 เมกะวัตต์

โดยเป้าหมายหลักคือ การเข้าลงทุนโรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศพม่า อินโดนีเซีย ซึ่งยังมีความต้องการใช้พลังงานเป็นจำนวนมาก ส่วนลักษณะการลงทุนนั้นจะขึ้นอยู่ในแต่ละโครงการว่าจะต้องตั้งบริษัทร่วมทุนหรือไม่ โดยขณะนี้อยู่ในช่วงเริ่มต้น จึงยังไม่สามารถให้รายละเอียดได้ แต่จะเริ่มเห็นความชัดเจนเกี่ยวกับโครงการลงทุนต่างๆ ระหว่างทั้งสองกลุ่มบริษัทภายในปีนี้

นอกจากนี้ บริษัทฯ ตัดสินใจลงทุนโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มที่ญี่ปุ่น 24 เมกะวัตต์ ซึ่ง ปตท.ลงทุนเอง 100% ได้อัตราค่าไฟฟ้าที่ 42 เยน/หน่วย และในอนาคตมีแผนจะเพิ่มกำลังผลิตโซลาร์ฟาร์มในญี่ปุ่นให้ได้ 100-150 เมกะวัตต์ใน 5 ปีข้างหน้า
กำลังโหลดความคิดเห็น