xs
xsm
sm
md
lg

“วุฒิชาติ” ลั่นประมูลทางคู่รวด 3 สายใน ก.ค. พร้อมเร่งทำแผนเช่าหัวรถจักรดีเซลกว่า 100 คัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“วุฒิชาติ” เดินหน้าจัดทำแผนเปลี่ยนรถไฟดีเซลเป็นระบบรถไฟฟ้าภายใน 15 ปี โดยเร่งปรับแผนจัดหารถทดแทนรถเก่าช่วงเปลี่ยนผ่านจากซื้อเป็นเช่าพร้อมซ่อมบำรุงกว่า 100 คันก่อน พร้อมเดินหน้า ประกาศทีโออาร์ประมูลรถไฟทางคู่ 3 เส้นทางใน มิ.ย.-ก.ค.นี้ ขีดเส้น 19 มิ.ย. ต่อรองกลุ่มมิตซูบิชิ ลดค่างานระบบสายสีแดงสัญญา 3 เป้า 3.1 หมื่นล้าน ก่อนชงบอร์ดตัดสิน ลั่นปรับโครงสร้างลดขั้นตอนการทำงานภายในฝ่ายบริหารทรัพย์สินเป็น One stop service ลดรั่วไหลเพิ่มรายได้จากที่ดินแน่นอน

นายวุฒิชาติ กัลยาณมิตร ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างปรับเปลี่ยนแผนการจัดหาหัวรถจักรใหม่ให้สอดคล้องกับนโยบาย รมว.คมนาคมต้องการให้เปลี่ยนไปใช้หัวรถจักรไฟฟ้าภายในปี 2575 และให้นำร่องการเดินรถไฟฟ้าด้วยระบบ 1 เส้นทาง โดยพบว่ามีความต้องการหัวรถจักรใหม่ประมาณ 100 คัน ดังนั้น ในระยะเวลา 15-17 ปีจากนี้ก่อนที่จะปรับเปลี่ยนเข้าสู่ระบบไฟฟ้า โดยในระยะเปลี่ยนผ่านการจัดหารถทดแทนรถที่มีสภาพเก่าจะใช้วิธีการเช่าใช้พร้อมเหมาซ่อมบำรุงระยะเวลา 15 ปี โดยจะเช่าทั้งหัวรถจักร โบกี้โดยสาร แคร่บรรทุกสินค้า ตู้สินค้า โดยจะใช้รายได้จากการเดินรถมาจ่ายค่าเช่า ช่วยลดค่าใช้จ่ายและภาระหนี้สิน ส่วนรถไฟฟ้าที่จะมีการจัดหาในอนาคตเป็นระบบไฟฟ้าจะใช้วิธีซื้อหรือเช่าจะต้องพิจารณาสภาพคล่องขององค์กร ซึ่งเป็นไปได้ที่จะใช้วิธีการจัดซื้อส่วนหนึ่ง เช่าส่วนหนึ่ง ส่วนรถดีเซลนั้นมีความจำเป็นที่จะต้องมีส่วนหนึ่งเพื่อให้บริการในเส้นทางท้องถิ่น เส้นทางสายย่อย ที่อาจจะลงทุนเป็นระบบไฟฟ้าไม่คุ้มค่า

โดยภายในเดือน มิ.ย.-ก.ค.นี้จะประกวดราคาโครงการจัดซื้อหัวรถจักรดีเซลไฟฟ้า (Diesel Electric Locomotive) น้ำหนักกดเพลา 16 ตัน/เพลา จำนวน 50 คันพร้อมเครื่องอะไหล่ได้ หลังจากมีการยกเลิกร่างทีโออาร์เดิมที่ประกาศเมื่อปลายเดือน ธ.ค. 2557 ที่ผ่านมา เพื่อปรับลดราคากลางลงจาก 6,151 ล้านบาท และการเช่ารถจักร 20 คัน รวมถึงประกาศทีโออาร์โครงการรถไฟทางคู่ 3 เส้นทาง คือ ฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย ระยะทาง 106 กม. วงเงิน 11,348.36 ล้านบาท, ชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น ระยะทาง 185 กม. วงเงิน 26,007.20 ล้านบาท และประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร วงเงิน 17,000 ล้านบาท ซึ่งผ่านสิ่งแวดล้อม (EIA) แล้วได้ ส่วนการจัดซื้อหัวรถจักร น้ำหนักกดเพลา 16 ตัน/เพลา จำนวนอีก 30 คัน กรอบวงเงินประมาณ 3,360 ล้านบาทนั้นต้องยกเลิกและปรับไปอยู่ในแผนการเช่าแทนเนื่องจากไม่ได้รับงบปี 2558

ทั้งนี้ รถไฟทางคู่สายฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย ต้องรอสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ทำหนังสือตอบมายัง ร.ฟ.ท.อย่างเป็นทางการว่าไม่มีข้อท้วงติงอื่นๆ อีก เนื่องจากก่อนหน้านี้ สตง.มีหนังสือทักท้วงว่า ร.ฟ.ท.คำนวณราคาโครงการผิดพลาด 4 รายการ ซึ่งกรมบัญชีกลางให้ความเห็นว่า ร.ฟ.ท.ควรปรับราคากลางและร่าง TOR ใหม่ ส่วนทางคู่ชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น เหลือขั้นตอนการจัดจ้างที่ปรึกษาควบคุมงาน เมื่อแล้วเสร็จก็จะทำการประกาศประกวดราคางานก่อสร้างทันที

ส่วนความคืบหน้าโครงการก่อสร้างรถไฟชานเมืองสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต สัญญาที่ 3 (งานระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมตู้รถไฟฟ้าบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน) มูลค่า 27,926 ล้านบาทนั้น ล่าสุดเมื่อวันที่ 12 มิ.ย. กลุ่มกิจการร่วมค้า MHSC Consortium (บริษัท MITSUBISHI Heavy Industrial Ltd บริษัท Hitachi และ บริษัท Sumitomo Corporation) ได้ยืนยันราคาเดิมที่ 32,850 ล้านบาท ซึ่งยังสูงกว่าราคากลางที่ ร.ฟ.ท.ได้ปรับราคากลางใหม่อยู่ที่ 30,500 ล้านบาท ดังนั้นในวันที่ 16 มิ.ย.นี้จะมีการเจรจาอีกครั้ง โดยตั้งเป้าว่าราคาที่ยอมรับได้อาจต้องปรับมาพบกันครึ่งทางที่ 31,000 ล้านบาทเศษ ซึ่งต้องรอการเจรจาก่อน ทั้งนี้ ไม่ว่ากลุ่ม MHSC จะยอมปรับลดหรือไม่จะต้องสรุปเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) ตัดสินใจแล้ว

“ส่วนตัวผมอยากให้โครงการนี้ไปต่อได้เพราะเสียเวลามามากแล้ว ซึ่งหากสรุปสัญญา 3 ได้เรายังต้องใช้เวลาอีก 48 เดือนในการจัดหารถ และเราอาจต่อรองกับกลุ่ม MHSC ช่วยเร่งจัดรถมาวิ่งในช่วงบางซื่อ-ตลิ่งชันก่อน แต่หากต้องเปิดประมูลใหม่ก็จะต้องเพิ่มเวลาตรงนี้ไปอีก 6 เดือน-1 ปี” นายวุฒิชาติกล่าว

โดยเมื่อวันที่ 13 มิ.ย.ที่ผ่านมาคณะกรรมการ (บอร์ด) ร.ฟ.ท.ได้พิจารณาแผนฟื้นฟู เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานรวม 7 แผนงาน เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพการเดินรถ การพัฒนาบุคลากร, การใช้ระบบสารสนเทศ, การหาแนวทางบริหารทรัพย์สินขนาดใหญ่ เป็นต้น ซึ่งบอร์ดมีข้อสังเกตและแนะนำเพิ่มเติม เช่น กำหนดเป้าหมายของการดำเนินงานและผลสำเร็จ ส่วนการปรับโครงสร้างองค์กร จะมีการปรับกระบวนการและขั้นตอนการทำงานภายในที่มีความล่าช้าและต้องผ่านการพิจารณาหลายฝ่ายใหม่ เช่น ฝ่ายบริหารทรัพย์สิน ปรับการทำงานการพิจารณาเป็น One stop service โดยลดขั้นตอนการให้บริการตั้งแต่การยื่นจนได้รับอนุญาตจาก 24 ขั้นตอนเหลือ 9 ขั้นตอน ซึ่งมีการโอนย้ายบางหน่วยงานมาอยู่ในฝ่ายบริหารทรัพย์สินเพื่อความรวดเร็ว พร้อมกันนี้จะจ้างที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการทรัพย์สินขนาดใหญ่เข้ามาช่วยประเมินราคาในช่วงแรก ซึ่งในภาพรวมจะลดการรั่วไหล เพิ่มรายได้ด้านการบริหารทรัพย์สินมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันมีรายได้จากการบริหารทรัพย์สินปีละกว่า 2,000 ล้านบาทเท่านั้น

“ในระยะแรกการปรับโครงสร้างจะไม่มีการปรับลดพนักงานรถไฟ จะเกลี่ยพนักงานที่มีให้เหมาะสมกับงานที่ปรับใหม่ก่อน ส่วนอนาคตจะมีการปรับเพิ่มพนักงานและพัฒนาศักยภาพเพื่อรองรับความร่วมมือโครงการรถไฟทางคู่ รถไฟไทย-จีน และรถไฟไทย-ญี่ปุ่น ส่วนรองผู้ว่าฯ ร.ฟ.ท.จะยังมีจำนวน 7 คน โดยจะมีการปรับเปลี่ยนความรับผิดชอบให้สอดคล้องกับงาน เช่น รองผู้ว่าฯ ด้านรถไฟสายสีแดง, รองผู้ว่าฯ ด้านยุทธศาสตร์, รองผู้ว่าฯ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน 1, 2 จะรวมกัน เป็นต้น ซึ่งจะใช้เวลาปรับเปลี่ยนภายใน 6-12 เดือน”

ส่วนที่ดินให้กระทรวงการคลังเพื่อแก้ปัญหาหนี้สินนั้น ภายในเดือน มิ.ย.นี้จะมีการประชุมร่วมระหว่าง ร.ฟ.ท. กับกรมธนารักษ์ เพื่อดูมูลค่าทรัพย์สินที่มีการจ้างประเมิน ปรับทิศทางการพัฒนาที่ดินย่านมักกะสันให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่แบ่งพัฒนาเพื่อประโยชน์สาธารณะ, เชิงพาณิชย์ และพิพิธภัณฑ์เพื่อการเรียนรู้ จะสรุปร่วมกันได้

นอกจากนี้จะมีการแก้ปัญหาคนจรจัดที่หัวลำโพง เบื้องต้นสำรวจมีประมาณ 50 คน ซึ่งจะมีการจัดระเบียบใหม่ที่ไม่ให้มีปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชนเหมือนในอดีต โดย ร.ฟ.ท.จะร่วมมือกับกรมพัฒนาและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์, NGO, มูลนิธิต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมทำแผน โดยจะพัฒนาคนจรจัดเหล่านี้ในด้านอาชีพ จิตใจ เพื่อส่งคืนสู่สังคม คืนครอบครัว เพื่อให้มีอาชีพทำงาน ในขณะที่รถไฟพร้อมรับคนเหล่านี้เข้าทำงานเป็นลูกจ้างตามความเหมาะสม เป็นการแก้ปัญหาเพื่อปรับปรุงภาพลักษณ์ของหัวลำโพงใหม่ ซึ่งในปี 2558 หัวลำโพงครบ 99 ปี จะมีการจัดกิจกรรมเพื่อเฉลิมฉลองต่อเนื่องปีที่ 99-ปีที่ 100
กำลังโหลดความคิดเห็น