เวทีการประชุมก๊าซฯ โลก 2015 (World Gas Conference 2015) ระหว่างวันที่ 1-5 มิถุนายน 2558 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ถือเป็นการประชุมทางวิชาการและแสดงนิทรรศการที่ใหญ่และสำคัญที่สุดของอุตสาหกรรมก๊าซธรรมชาติระดับสากลที่จัดขึ้นทุกๆ 3 ปี โดยสมาพันธ์ก๊าซระหว่างประเทศ (IGU)
ในการเสวนาทางวิชาการครั้งนี้ บริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกชูก๊าซธรรมชาติเป็นเสาหลักของพลังงานในอนาคต มีการหยิบยกเรื่องคาร์บอนไพรซ์มาพูดคุยเพื่อให้เกิดการบังคับใช้หวังแก้ปัญหาโลกร้อน และยังเป็นการกระตุ้นการใช้ก๊าซฯ เพิ่มมากขึ้นด้วย เนื่องจากก๊าซธรรมชาติถือเป็นเชื้อเพลิงที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะดังกล่าวเมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงอย่างถ่านหิน โดยระบุว่าปริมาณสำรองก๊าซฯ ของโลกเพิ่มขึ้นมากหลังจากมีการค้นพบเทคโนโลยีนำ Shale Gas ขึ้นมาใช้ ทำให้อีก 15-20 ปีข้างหน้า ความต้องการใช้ก๊าซฯ จะเพิ่มขึ้นเท่าตัว รวมทั้งมีการขนส่งก๊าซฯ ในรูปของเหลว ทำให้การขนส่งได้จำนวนมากและไกลยิ่งขึ้น
พร้อมทั้งเรียกร้องให้ยุโรปหันมาใช้ก๊าซเพิ่มมากขึ้น จากช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมายุโรปมีการใช้ถ่านหินในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น สืบเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจยุโรปที่ยังไม่ฟื้นตัว และถ่านหินราคาถูกลงมาก ซึ่งเป็นผลพวงจากการนำ Shale Gas/Shale Oil มาใช้ ทำให้ราคาก๊าซฯ ในสหรัฐฯ ต่ำมาก
นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปตท.ดำเนินธุรกิจก๊าซฯ มานาน 30 กว่าปี และถือเป็นผู้ผลิต ผู้นำเข้า และจำหน่ายก๊าซฯ รายใหญ่ในภูมิภาคอาเซียน คิดเป็นปริมาณ 5 พันล้าน ลบ.ฟ./วัน หรือคิดเป็นปริมาณก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) 35 ล้านตัน ขณะที่ญี่ปุ่นมีการนำเข้าแอลเอ็นจี 90 ล้านตัน ดังนั้นไทยจึงป็นผู้เล่นในตลาดก๊าซฯ รายใหญ่ของโลก
การเปิดบูทโชว์นวัตกรรมของกลุ่ม ปตท.ภายในงานการประชุมก๊าซฯ โลกครั้งนี้ ปตท.ได้มีการพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้บริหาร ผู้ค้าบริษัทพลังงานชั้นนำจากทั่วโลก ทำให้รับรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ รวมทั้งเห็นแนวโน้มทิศทางราคาแอลเอ็นจีในอนาคต รวมทั้งเจรจาขยายความร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้แก่ประเทศ เนื่องจากความต้องการใช้พลังงานในไทยเติบโตเพิ่มสูงขึ้นตามการขยายตัวทางเศรษฐกิจ แต่การสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศมีจำกัด นับวันจะลดน้อยถอยลงหากแปลงสัมปทานปิโตรเลียมที่จะครบกำหนดในปี 2565-2566 ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไร ก็สุ่มเสี่ยงที่ปริมาณก๊าซฯ จะหายไป 2.2 พันล้าน ลบ.ฟ./วัน และการจัดหาก๊าซฯ จากประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่านั้น โอกาสที่จะจัดหาเพิ่มเติมทำได้ยากขึ้น เนื่องจากพม่าเองก็ต้องการเก็บก๊าซฯ ไว้ใช้ภายในประเทศเองด้วย
ในฐานะที่ ปตท.เป็นบริษัทพลังงานแห่งชาติ มีภารกิจสำคัญต้องสร้างความมั่นคงด้านพลังงาน การมองไปข้างหน้าเพื่อให้ประเทศมีพลังงานใช้ไม่ขาดแคลนจำเป็นต้องวางแผนรับมือไว้ล่วงหน้า จึงเป็นที่มาในการเสนอแผนการลงทุนของกลุ่ม ปตท. วงเงิน 2.08 แสนล้านบาท ได้แก่ โครงข่ายระบบท่อส่งก๊าซฯ เงินลงทุน 1.43 แสนล้านบาท โครงการท่อส่งก๊าซบนบกเส้นที่ 5 จากระยองไปไทรน้อย โรงไฟฟ้าพระนครเหนือและใต้ รวมถึงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานรองรับการจัดหา นำเข้าแอลเอ็นจี เงินลงทุน 6.5 หมื่นล้านบาท ได้แก่ LNG Receiving Terminal แห่งใหม่ จ.ระยอง ขนาด 5 ล้านตัน และ FSRU ในพื้นที่ภาคใต้ของประเทศไทย อ.จะนะ จ.สงขลา ขนาด 3 ล้านตัน
ที่ผ่านมาไทยเดินมาถูกทางที่ผลักดันการใช้ก๊าซฯ ในการผลิตไฟฟ้า และภาคขนส่ง แต่มีจุดพลาดเดียวคือ ปริมาณก๊าซฯ ในอ่าวไทยไม่เพียงพอ จึงต้องจัดหาจากต่างประเทศเข้ามา ปตท.มีการสร้าง LNG Receiving Terminal เฟสแรก 5 ล้านตัน และเฟส 2 อีก 5 ล้านตันซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ส่วนเฟส 3 ก็จะสร้างในพื้นที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง โดยจะต้องขออนุมัติจากภาครัฐก่อน รวมทั้งมีแผนจะลงทุน FSRU ขนาด 3 ล้านตันที่พม่า ซึ่งจะเป็นคลังแอลเอ็นจีลอยน้ำ สร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้แก่พื้นที่ภาคตะวันตกของไทย
ด้านนายณัฐชาติ จารุจินดา ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ บมจ.ปตท. กล่าวว่า ปตท.เตรียมเสนอคณะกรรมการบริษัทฯ ในเดือน มิ.ย.นี้ เพื่อพิจารณาแผนจัดซื้อแอลเอ็นจีสัญญาระยะกลาง 2 ราย จำนวนรวม 1.5-2 ล้านตัน/ปี คาดว่าจะเริ่มทยอยรับแอลเอ็นจีใน 1-2 ปีข้างหน้า หากบอร์ดฯ อนุมัติก็จะเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เพี่ออนุมัติต่อไป
ก่อนหน้านี้ ปตท.ได้ทำสัญญาซื้อขายแอลเอ็นจีระยะยาวกับกาตาร์จำนวน 2 ล้านตัน/ปี โดยทยอยรับแอลเอ็นจีปีนี้เป็นปีแรก
สำหรับการจัดการประชุมก๊าซฯ โลกในครั้งหน้าที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. สหรัฐอเมริกานั้น ปตท.มีไอเดียที่จะนำร้านคาเฟ่ อเมซอน มาอยู่ในบูท ปตท.ด้วย เพื่อสร้างสีสัน รวมทั้งจะมีการแสดงนวัตกรรมความก้าวหน้าในการดำเนินธุรกิจของกลุ่ม ปตท.ด้วย