xs
xsm
sm
md
lg

“รสนา” ดักคอ แบ่งปันผลผลิตรัฐต้องได้มากกว่าเดิม ไม่ใช่น้อยกว่าเดิมอย่างที่ กพช.ให้นโยบายไปเจรจา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

น.ส.รสนา โตสิตระกูล (แฟ้มภาพ)
“รสนา” เหน็บรัฐมักน้อยกับเอกชน สวนทางขายพลังงานให้ ปชช. กลับมักมาก แนะแบ่งปันผลผลิตกับเจ้าเดิม 5 ปี แล้วค่อยเปลี่ยนใช้ระบบรัฐ - ปชช. ได้ประโยชน์สูงสุดแก้ปัญหาช่วงรอยต่อหมดสัมปทาน ดึง ปตท.สผ กลับมาเป็นของรัฐ 100% เข้าไปเป็นคู่สัญญากับเจ้าของสัมปทานเดิม ย้ำใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตรัฐต้องได้มากกว่าเดิม ไม่ใช่น้อยกว่าเดิม อย่างที่กพช.ให้นโยบายไปเจรจา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า น.ส.รสนา โตสิตระกูล สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านพลังงาน โพสต์ข้อความลงเฟซบุ๊กส่วนตัว รสนา โตสิตระกูล เสนอความคิดเห็นกรณี กพช. มีมติให้คณะกรรมการปิโตรเลียมไปพิจารณากรอบการจัดการกับสัมปทาน 2 แปลง คือ แหล่งเอราวัณ และ แหล่งบงกช ที่จะหมดอายุในปี 2565, 2566 โดย กพช. มีกรอบแนวทางให้พิจารณาทำนองจะให้ “ต่ออายุสัมปทานเจ้าเดิมไปอีก โดยระบุว่ารัฐต้องได้ผลประโยชน์ไม่น้อยกว่าเดิม” ดังนี้

1) ไม่เห็นด้วยที่รัฐจะต่อสัมปทานใน 2 แปลงนี้ให้ผู้รับสัมปทานอีกเพราะเท่ากับต้องให้สัมปทานกับเจ้าเดิมไม่สิ้นสุด

2) ที่ว่ารัฐต้องได้ผลประโยชน์ไม่น้อยกว่าเดิม รัฐควรได้รับประโยชน์มากขึ้นกว่าเดิมจากการบริหารแบบมืออาชีพเมื่อหมดสัมปทานแล้ว เพราะทรัพย์สินแหล่งปิโตรเลียมกลับมาเป็นชองชาติ จึงควรใช้ระบบที่ประเทศต้องได้ประโยชน์เพิ่มขึ้น ระบบ Thailand 1 ที่ใช้กับ 2 แปลงใหญ่ดังกล่าว เป็นระบบที่รัฐได้ประโยชน์น้อยเพราะเป็นสัมปทานยุคแรกที่รัฐยังไม่มีความรู้ ระบบ Thailand 1 โดยเปรียบเทียบยังได้ผลประโยชน์น้อยกว่าแปลงสัมปทานในระบบ Thailand 3 ด้วยซ้ำ

ข้าราชการของเราดูมักน้อยกับเอกชนจัง เห็นใจแต่เอกชนว่าเขาลงทุนสูง กลัวเขาจะได้กำไรน้อย แต่ทีจะขายพลังงานให้ประชาชน กลับใช้วิธีมักมาก ไม่เคยเห็นใจประชาชน โดยอ้างว่าต้องสะท้อนราคาตลาดโลก ทั้งที่ของมาจากในประเทศ ยกให้เอกชนแบบถูกๆ มีบางคนอธิบายเหตุผลว่าเหมือนเวลาเจอทองในบ้าน มีใครบ้างไม่ขายทองในราคาตลาด ถ้าทองที่พบในบ้านขายราคาตลาด แล้วเป็นรายได้ของครอบครัว เป็นรายได้ของประเทศ ก็ไม่มีใครคัดค้าน แต่ที่เป็นอยู่คือยกทองให้เอกชนในราคาต่ำ แต่ให้เอกชนนั้นเอากลับมาขายเอากำไรสูงสุดจากคนในบ้านโดยอ้างว่าต้องสะท้อนราคาตลาดโลก

แต่พอตลาดโลกราคาลด ก็ไม่ลดให้ประชาชน ดูตัวอย่างก๊าซ LPG ในขณะนี้ราคาเฉพาะเนื้อก๊าซจากอ่าวไทยขายคนไทย 19 บาท/กก. แต่ราคานำเข้าแค่ 16 บาท/กก. คนในบ้านต้องใช้ของแพงตลอด แต่บริษัทเอกชนได้ใช้ของถูกกว่าประชาชนเสมอ

3) ข้อเสนอแปลงปิโตรเลียมที่กำลังจะหมดสัมปทาน รัฐควรเปลี่ยนมาใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตโดยทำสัญญากับเจ้าเดิม 5 ปี หลังหมดสัมปทาน เพื่อให้รัฐสามารถส่งบริษัทพลังงานแห่งชาติที่เป็นของรัฐ 100% เข้าไปควบคุมดูแลในฐานะเจ้าของ ในระบบแบ่งปันผลผลิต บริษัทพลังงานแห่งชาติจะทำหน้าที่เป็นเจ้าของแทนรัฐ แทนประชาชน (ไม่เหมือนระบบสัมปทาน ที่เอกชนผู้ได้สัมปทานเป็นเจ้าของ) บริษัทพลังงานแห่งชาติจะบริหารในฐานะเจ้าของเพื่อว่าหลังจากหมดสัญญาแบ่งปันผลผลิต 5 ปีแล้ว บริษัทพลังงานแห่งชาติจะสามารถตัดสินใจได้ว่าจะดำเนินการกับแปลงปิโตรเลียมในรูปแบบใดต่อไปที่ประเทศและประชาชนจะได้ผลประโยชน์สูงสุด

เมื่อหมดสัมปทาน 2 แปลงใหญ่ในปี 2565, 2566 เคยมีข้อเสนอว่ารัฐควรใช้ระบบจ้างผลิต แต่จากการฟังบริษัทผู้เป็นเจ้าของสัมปทานเดิมใน กมธ. พลังงาน ใน สปช. ได้ข้อมูลว่าผู้รับสัมปทานเดิมไม่ยอมรับระบบจ้างผลิต เพราะจะได้ผลประโยชน์น้อยกว่าที่เคยได้ จึงเห็นได้ชัดเจนว่าระบบสัมปทานจะมีปัญหาในช่วงรอยต่อก่อนหมดอายุสัมปทานเสมอ ที่รัฐบาลไม่สามารถเข้าไปจัดการอะไรในช่วงรอยต่อก่อนหมดสัมปทานเพื่อรักษาระดับการผลิต เว้นแต่มีข้อเสนอที่ผู้รับสัมปทานรายเดิมพอใจ เจ้าของสัมปทานเดิมอ้างว่าถ้าไม่มีข้อเสนอที่จูงใจพอ เขาจะไม่ลงทุนต่อ ซึ่งจะทำให้ปริมาณก๊าซที่ผลิตได้ลดน้อยลง เป็นการบีบบังคับให้รัฐต้องให้เจ้าเดิมผลิตต่อไป

ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาในช่วงรอยต่อ จึงควรใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตกับเจ้าเดิม แต่ผลประโยชน์ของรัฐต้องได้มากกว่าเดิม ไม่ใช่ “ได้ไม่น้อยกว่าเดิม” อย่างที่ กพช. ให้นโยบายไปเจรจา

ระบบแบ่งปันผลผลิตต้องมีบริษัทพลังงานแห่งชาติของรัฐเข้าไปเป็นคู่สัญญากับเจ้าของสัมปทานเดิม และเมื่อสิ้นสุดสัญญาแบ่งปันผลผลิต 5 ปี ค่อยพิจารณาว่าจะใช้ระบบจ้างผลิต หรือแบ่งปันผลผลิตต่อไป

4) การจัดตั้งบริษัทพลังงานแห่งชาติ รัฐอาจพิจารณานำปตท.สผ กลับมาเป็นของรัฐ 100% เพื่อให้เป็นบริษัทของรัฐที่เข้าไปดำเนินการในระบบแบ่งปันผลผลิตร่วมกับเจ้าของสัมปทานเดิม

5) ให้บริษัทพลังงานแห่งชาติเป็นบริษัทที่บริหารแบบมืออาชีพโดยมีรัฐเป็นเจ้าของ 100% มีระบบที่ออกแบบไม่ให้นักการเมืองเข้าไปแทรกแซงหาประโยชน์ และมีระบบที่ประชาชนสามารถตรวจสอบความโปร่งใส มีธรรมาภิบาลปลอดการคอร์รัปชันในการบริหารงาน

6) มักมีการพูดว่านักการเมืองก็ขี้โกง ส่วนข้าราชการก็ไร้ประสิทธิภาพ จึงต้องยกการบริหารทรัพยากรในรัฐวิสาหกิจให้เอกชน แต่มีคำถามว่าเอกชนทำเพื่อใคร? เอกชนทำเพื่อผู้ถือหุ้น ไม่ใช่ทำเพื่อประชาชนทั้งประเทศ และประชาชนมีสิทธิเข้าไปตรวจสอบหรือไม่? ถ้าไม่ใช่ผู้ถือหุ้นก็ไม่มีสิทธิตรวจสอบ

อย่างไรก็ตาม ในเมื่อประชาชนต้องจ่ายภาษีเลี้ยงนักการเมืองขี้โกง และข้าราชการไร้ประสิทธิภาพอยู่แล้ว จึงต้องปฏิรูประบบราชการและการบริหารประเทศให้มีประสิทธิภาพ และปลอดการคอร์รัปชั่นให้จงได้ เพื่อให้คนเหล่านี้ที่กินเงินเดือนจากภาษีประชาชนสามารถทำงานอย่างมืออาชีพเหมือนเอกชนและดูแลกิจการของประชาชนให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชนผู้เป็นเจ้าของหุ้นส่วนประเทศไทยตัวจริง

ถ้าไม่มีการปฏิรูปกิจการพลังงานให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนอย่างแท้จริงในช่วงนี้ ประชาชนเริ่มตั้งคำถามว่าการยึดอำนาจในครั้งนี้เสียของหรือไม่?
กำลังโหลดความคิดเห็น