xs
xsm
sm
md
lg

“รสนา” เรียกร้องปฏิรูปตำรวจ หลังโดนกลั่นแกล้งส่งหมายเรียกยัดคดีหมิ่น ปตท.ให้ถึง 4 รอบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

รสนา โตสิตระกูล (ภาพจากแฟ้ม)
“รสนา” แฉตำรวจ สน.ชนะสงคราม ส่งหมายเรียกคดีหมิ่น ปตท. ไปให้ถึง 4 รอบ ทั้งที่ชี้แจงไปแล้วว่าข้อมูลที่พูดในงานเสวนามีแหล่งที่มาชัดเจน ซ้ำยังร้องเรียนไปที่ บช.น. แต่ตำรวจยังบุกถึงบ้านเพื่อให้เซ็นรับหมาย โดยไม่รอผลการร้องเรียนก่อนเลย เชื่อจงใจกลั่นแกล้งดำเนินคดีอาญาอย่างไม่เป็นธรรม ลั่นถึงเวลาต้องปฏิรูปกระบวนการสอบสวนของตำรวจให้ปลอดจากการครอบงำของผู้มีอำนาจรัฐ - ทุน

วันนี้ (11 พ.ค.) น.ส.รสนา โตสิตระกูล สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านพลังงาน ได้โพสต์ภาพพร้อมข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยมีชื่อเรื่องว่า “ถึงเวลาต้องปฏิรูปวงการตำรวจอย่างจริงจัง เพื่อไม่ให้กระบวนการสอบสวนเป็นเครื่องมือผู้มีอำนาจ” ระบุว่า เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 7 พฤษภาคม 2558 ตำรวจจาก สภ.อ.โพธิ์แก้ว จ.นครปฐม ได้เอาหมายผู้ต้องหามาหาดิฉันที่บ้าน เพื่อให้เซ็นรับการเป็นผู้ต้องหาตามหมายเรียกของ สน.ชนะสงคราม ที่บ้านก็ตกอกตกใจกันว่าเกิดอะไรขึ้น

สาเหตุของเรื่องหมายเรียกผู้ต้องหาของ สน.ชนะสงคราม มาจากบริษัท ปตท. แจ้งความว่า ดิฉันหมิ่นประมาทบริษัท ปตท. จากการพูดให้ข้อมูลของดิฉันในงานเสวนาเรื่อง ปฏิรูปพลังงาน ครั้งที่ 2 หัวข้อ “น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติของประชาชน ใครปล้นไป เมื่อ 2 มีนาคม2557 ที่อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา ในตอนท้ายรายการพิธีกรได้เชิญดิฉัน ที่เป็นผู้ฟังให้แสดงความเห็น ดิฉันเพิ่งกลับจากดูงานบริษัท ปิโตรนาส ที่มาเลเซีย เลยเล่าข้อมูลให้ที่ประชุมฟังเรื่องที่ได้ ฟังจากอดีตประธานปิโตรนัสว่าบริษัท ปิโตรนาส ของมาเลเซียเป็นบริษัทพลังงานแห่งชาติที่มีรัฐเป็นเจ้าของ 100% ทำให้การส่งรายได้ให้รัฐเท่ากับ 40% ของงบประมาณแผ่นดิน ข้อความที่ ปตท. หาว่าหมิ่นประมาทเขาให้ถูกเกลียดชังคือข้อความต่อไปนี้

“ส่วน บมจ.ปตท. หลังแปรรูปแล้วส่งเงินปันผลน้อยลง อย่างปี 2555 ปตท. ส่งเงินเข้ารัฐ เป็นเงินส่วนที่เราเรียกว่า ส่วนแบ่งกำไร ปันผลจากเงินกำไร แค่ 17,000 ล้าน ในขณะที่ กฟผ. ส่งให้ 22,000 บาทนะคะ แล้วจะเห็นได้เลยว่า ปตท. ตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา ส่งเงินเข้าหลวงน้อยลงเรื่อยๆ คือ กำไร 170,000 ล้านบาท นะคะ แต่ส่งเงินเข้ารัฐแค่ 17,000 ล้าน คือประมาณ 10%”

ปตท.จำกัด (มหาชน) ไปแจ้งความที่ สน.ชนะสงคราม ว่า ดิฉันหมิ่นประมาทบริษัท ปตท. ด้วยข้อความดังกล่าว

เมื่อได้หมายเรียกผู้ต้องหา ดิฉันให้ทนายติดต่อทางพนักงานสอบสวนจนได้ทราบข้อมูลว่า บริษัท ปตท. แจ้งความข้อหาหมิ่นประมาทในข้อความดังกล่าว ดิฉันได้ทำหนังสือแจ้งไปที่พนักงานสอบสวนว่าข้อมูลที่ดิฉันพูดมาจากข้อมูลเงินนำส่งรายได้แผ่นดินของรัฐวิสาหกิจ ประจำปี 2551 - 2555 มาจาก เว็บไซต์ ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ชื่อ http://www.sepo.go.th/design/category/333-2551-2555.htm และ แบบ ๕๖-๑ สิ้นสุด ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๕ ของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หน้า 302 ส่วนกำไรก่อนภาษีเงินได้ ปี ๒๕๕๕ (ตรวจสอบ) เป็นเงิน ๑๗๒,๑๓๒.๓๓ ล้านบาท จาก เว็บไซต์ ชื่อ http://ptt.listedcompany.com/…/20130330-PTT-Form561-2012-TH… ซึ่งเป็นเอกสารที่เผยแพร่และบุคคลทั่วไปก็สามารถดูได้ และขอให้พนักงานสอบสวนยกเลิกข้อกล่าวหาดิฉันเสีย เพราะประเด็นที่ บมจ.ปตท. กล่าวหาดิฉันหมิ่นประมาทนั้น ดิฉันได้พูดให้ข้อมูลจากแหล่งที่มาที่แน่นอน และไม่เป็นกระทำความผิดต่อบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) แต่อย่างใด

แต่พนักงานสอบสวนท่านนั้นยังคงส่งหมายเรียกครั้งที่ 2, 3 มาให้ดิฉันไปรับทราบข้อกล่าวหาไม่หยุดหย่อน ดิฉันจึงทำหนังสือร้องเรียนไปที่ บช.น. เมื่อวันที่ 27 เมษายน ที่ผ่านมา ว่า การกระทำของพนักงานสอบสวนดังกล่าวเป็นการจงใจกลั่นแกล้งดำเนินคดีอาญากับดิฉันด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม อันเป็นการไม่ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๓๑ ซึ่งมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๕๗ และขอให้โปรดสอบสวนการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม และมีคำสั่งยกเลิกการตั้งข้อกล่าวหากับดิฉัน

แต่ยังไม่ทันจะได้รับคำตอบจาก บช.น. ดิฉันก็ได้หมายเรียกครั้งที่ 4 จากพนักงานสอบสวนคนเดิมให้ไปพบในวันศุกร์ที่ 8 พฤษภาคม ดิฉันให้ทนายโทรไปหาพนักงานสอบสวนท่านนั้นและแจ้งว่า ได้ส่งเรื่องร้องเรียนไปที่บชน.แล้ว และจะรอผลการพิจารณาของ บช.น. ก่อน โดยจะไม่ไปพบในวันศุกร์ที่ 8 พฤษภาคม เพราะวันนั้นดิฉันมีนัดหมายไปพบผู้ว่าการ สตง.เพื่อส่งหลักฐานเพิ่มเติมคือคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินเรื่องการคืนท่อก๊าซไม่ครบถ้วน

แม้จะโทร. ชี้แจงเหตุผลกับพนักงานสอบสวนแล้ว แต่แทนที่พนักงานสอบสวนจะรอการพิจารณาจาก บช.น. ก่อน ปรากฏว่า วันรุ่งขึ้นวันที่ 7 พฤษภาคม พนักงานสอบสวน สน.ชนะสงคราม ก็ส่งตำรวจจาก สภ.อ.โพธิ์แก้ว บุกไปหาดิฉันที่บ้าน เพื่อให้ดิฉันหรือคนในบ้านเซ็นรับหมายเรียกผู้ต้องหา

นี่เป็นการคุกคามดิฉันโดยไม่เป็นธรรมหรือไม่?

พนักงานสอบสวนเป็นต้นทางของระบบยุติธรรม แต่พฤติกรรมดังกล่าวทำให้เกิดคำถามว่า พนักงานสอบสวนยอมเป็นเครื่องมือของนักการเมืองหรือองค์กรใดองค์กรหนึ่งที่มีอิทธิพล ที่จะใช้พนักงานสอบสวนเป็นเครื่องมือคุกคามประชาชนที่วิจารณ์หรือตรวจสอบนักการเมือง และองค์กรเหล่านั้นใช่หรือไม่?

เห็นได้จากการที่พนักงานสอบสวนไม่ได้ใช้วิจารณญานที่เป็นอิสระในการพิจารณาว่าข้อกล่าวหาใดต่อบุคคลใดเป็นกรณีที่เข้าข่ายการหมิ่นประมาทหรือไม่? สมควรออกหมายเรียกบุคคลนั้นเป็นผู้ต้องหาหรือไม่?

ขอให้เพื่อนมิตรลองเปรียบเทียบกรณีการร้องทุกข์กล่าวโทษที่ดิฉันเคยร้องเรียนผ่านพนักงานสอบสวนเมื่อปี 2547 กรณีอดีตรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาจำคุก 15 ปีจากการรับสินบนบริษัทยาบริษัทหนึ่ง ในคดีนั้้นศาลฎีกานักการเมืองไม่สามารถเอาบริษัทยามาลงโทษพร้อมกับนักการเมือง แต่คำพิพากษามีความชัดเจนที่ตำรวจสามารถดำเนินการสั่งเรื่องฟ้องได้ ดิฉันได้ร้องทุกข์กล่าวโทษทั้งรัฐมนตรีที่ไม่ดำเนินคดีกับบริษัทยา และบริษัทยาที่ให้สินบนอดีตรัฐมนตรีต่อพนักงานสอบสวน แต่จากปี 2547 จนถึงปัจจุบัน ไม่ปรากฏว่า พนักงานสอบสวนได้ดำเนินการอย่างกระตือรือร้นที่จะแจ้งข้อกล่าวหาต่อทั้งรัฐมนตรีที่ละเว้น และบริษัทยาอย่างเอาจริงเอาจังเหมือนที่กำลังปฏิบัติต่อดิฉัน

ผ่านมาแล้ว 11 ปี คดีที่ดิฉันร้องทุกข์กล่าวโทษในฐานะประชาชนที่ไม่มีอำนาจทุน และอำนาจทางการเมืองหนุนหลังอยู่ ไม่ได้รับติดตามอย่างกระตือรือร้นจากพนักงานสอบสวนในการนำผู้กระทำผิดมารับผิดแต่ประการใด

ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะมีการปฏิรูปกระบวนการสอบสวนของตำรวจให้ปลอดพ้นจากการครอบงำของผู้มีอำนาจรัฐ และอำนาจทุน เพื่อให้กระบวนการสอบสวนของตำรวจเป็นต้นทางของระบบยุติธรรมอย่างแท้จริง
ภาพจากเฟซบุ๊ก รสนา โตสิตระกูล




กำลังโหลดความคิดเห็น