ปตท.สผ.ลั่นเดินหน้าพัฒนาโครงการก๊าซฯ ที่โมซัมบิกในปีนี้ มั่นใจผลิตแอลเอ็นจีสู่ตลาดในปี 62 ใช้ลงทุนตามสัดส่วนถือหุ้นถึง 1.5 พันล้านเหรียญใน 4-5 ปีข้างหน้า ส่วนโครงการใหม่อีก 4 โครงการรอลุ้นความชัดเจนในปีหน้า เผยปีนี้หั่นงบลงทุนแล้ว 600 ล้านเหรียญ จาก 4.8 พันล้านเหรียญ
นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท.สผ.) เปิดเผยว่า จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงมาตั้งแต่ปี 2557 ทำให้บริษัททบทวนแผนการพัฒนาโครงการใหม่ 5 โครงการทั้งในและต่างประเทศในช่วง 2 ปีนี้ โดยในปี 2558 บริษัทฯ ยังคงเป้าหมายที่จะพัฒนาโครงการก๊าซฯ ที่โมซัมบิกเพื่อผลิตก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ซึ่ง ปตท.สผ.ถือหุ้นอยู่ 8.5% เนื่องจากมีลูกค้าที่จะรับซื้อแอลเอ็นจีแล้ว 8 ล้านตันจากเป้าหมายการผลิตเบื้องต้น 12 ล้านตัน/ปี โดยที่เหลือจะเป็นการขายในตลาดจร
โดย ปตท.ได้ทำข้อตกลงเบื้องต้น (HOA) ที่จะซื้อแอลเอ็นจีจากโครงการดังกล่าวแล้ว 2.8 ล้านตัน/ปี ซึ่งแหล่งก๊าซฯ โมซัมบิกจะสามารถผลิตแอลเอ็นจีได้ในปี 2562 และมีโอกาสที่จะซื้อเพิ่มเติมจากแหล่งดังกล่าวในอนาคต เนื่องจาก Anadarko ในฐานะผู้ดำเนินการ (โอเปอเรต) ได้ประเมินพบว่าแปลงแอเรีย วัน มีปริมาณสำรองก๊าซฯ มากพอสมควร แต่จะมีการสำรวจแปลงแอเรีย โฟร์ จะมีปริมาณสำรองก๊าซฯ มากแค่ไหน โดยอาจจะมีการพัฒนาโครงการทั้งสองแปลงไปพร้อมกัน ซึ่งจะต้องหารือกับเจ้าของแปลงแอเรีย โฟร์ก่อน
ทั้งนี้ การพัฒนาโครงการก๊าซฯ ที่โมซัมบิกจะใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 6.6 แสนล้านบาท โดยจะเป็นการลงทุนของ ปตท.สผ.ตามสัดส่วนการถือหุ้น 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 5 หมื่นล้านบาทใน 4-5 ปีข้างหน้า โดยแหล่งเงินทุนจะมาจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน และการรีไฟแนนซ์เงินกู้ที่ครบกำหนดชำระ ขณะนี้ทาง Anadarko ได้ตกลงว่าจ้างผู้รับเหมาสร้างโรงงานผลิตแอลเอ็นจีบนบกแล้ว
นายเทวินทร์กล่าวต่อไปว่า ส่วนการพัฒนาโครงการอื่นๆ ที่เหลือ เช่น โครงการมาเรียนา ออยล์ แซนด์ ที่แคนาดา โครงการ Hassi Bir Rekaiz ที่แอลจีเรีย โครงการเอ็ม 3 ที่พม่า โครงการ Cash Maple ที่ออสเตรเลีย จะมีความชัดเจนในปีหน้าว่าจะพัฒนาโครงการหรือไม่ อย่างไร โดยช่วงนี้อาศัยจังหวะราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง หันมาปรับลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ลง
ส่วนงบลงทุนในปีนี้ที่เคยตั้งไว้ 4.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ ได้ปรับลดลง 600 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือลดลง 14-15% มาจากการลดค่าใช้จ่ายตามโปรแกรมลด ละ เลื่อนในโครงการ Save to be Safe และเลื่อนโครงการที่ยังไม่จำเป็นต้องลงทุนออกไป
สำหรับงบลงทุน 5 ปี (ปี 2558-2562) วางไว้ที่ 2.43 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐนั้น พบว่าสัดส่วนงบลงทุน 50% ใช้ลงทุนในประเทศไทยเพื่อรักษาระดับการผลิตปิโตรเลียมไม่ให้ลดลง ซึ่งปัจจุบัน ปตท.สผ.ก็ยังคงลงทุนในแหล่งบงกชที่จะหมดอายุสัญญาในปี 2565-2566 ตามปกติ แต่หากในปี 2560 รัฐยังไม่มีความชัดเจนในแปลงสัมปทานที่จะหมดอายุว่าจะมีทิศทางอย่างใดก็จะมีผลต่อการเจาะหลุมผลิตเพิ่มเติมหรือไม่ อันจะส่งผลต่อปริมาณการผลิตก๊าซฯ ในอ่าวไทย
ทั้งนี้ แหล่งเอราวัณและแหล่งบงกชที่จะหมดอายุสัมปทานในปี 2565-2566 มีกำลังการผลิตก๊าซฯ รวม 2.2 พันล้าน ลบ.ฟ./วัน หรือคิดเป็นสัดส่วน 50% ของกำลังการผลิตในประเทศ ซึ่งหาก 2-3 ปีข้างหน้ารัฐไม่มีความชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไรก็จะมีผลทำให้กำลังการผลิตก๊าซฯ ลดลงได้ โดยยอมรับว่าหากรัฐเปิดประมูลให้รายใหม่เข้ามาพัฒนาในแหล่งปิโตรเลียมที่จะหมดอายุลง การดำเนินการอย่างราบรื่นคงลำบากเพราะไม่มีความต่อเนื่อง แม้ว่ารัฐจะมีการจ้างบริษัทเข้ามาศึกษาปริมาณสำรองที่เหลืออยู่ก็ตาม ทางที่ดีที่สุดควรให้ผู้ประกอบการรายเดิมมีส่วนเข้าไปถือหุ้นในแหล่งเดิมด้วย โดยผู้ประกอบการเดิมเองก็แสดงเจตจำนงต้องการพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมดังกล่าวต่อไป