xs
xsm
sm
md
lg

โยนกต.คุยอินโดฯ อุ้ม ปตท.ชิ่งวิกฤตน้ำมันรั่ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการรายวัน 360 - “ก.พลังงาน” ประสาน “ก.ต่างประเทศ” เจรจารัฐบาลอินโดฯ ที่ฟ้องร้องค่าเสียหาย “กลุ่ม ปตท.” 7 หมื่นล้าน ฐานทำน้ำมันรั่วไหลจากแหล่งมอนทาราเมื่อปี 52 อ้างเป็นการฟ้องระดับรัฐบาล ด้าน "เทวินทร์" ซีอีโอ ปตท.สั่งระงับการลงทุนใหม่ในกลุ่มปตท.ที่อินโดฯจนกว่าคดีชัดเจน "รสนา"ยื่นเอกสารเพิ่มขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ให้ศาลรธน.พิจารณา ชี้สนช.ลักไก่เหมือน"ศรีธนญชัย"

วานนี้ (18 พ.ค.) พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รมว.พลังงาน เปิดเผยกรณีรัฐบาลอินโดนีเซียฟ้องเรียกค่าเสียหายบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียมจำกัด(มหาชน)หรือ (ปตท.สผ.) และบริษัท PTTEP Australasia หรือ PTTEP AA วงเงินเกือบ 7 หมื่นล้านบาท กรณีเกิดเหตุน้ำมันรั่วไหลของแหล่งมอนทารา ในทะเลติมอร์ ประเทศออสเตรเลียเมื่อปี2552ว่า กระทรวงพลังงานได้รับรายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและได้ประสานไปยังกระทรวงการต่างประเทศให้ช่วยเจรจากับรัฐบาลอินโดนีเซีย เพราะคดีดังกล่าวเป็นการฟ้องร้องระดับรัฐบาล และหากมีการสั่งระงับการดำเนินกิจการของปตท.สผ.และปตท.ในอินโดนีเซีย โดยที่ศาลฯยังไม่มีคำตัดสินในคดีดังกล่าว เชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่จะเข้าไปทำธุรกิจ ขณะเดียวกันสั่งการให้ ปตท.สผ.ดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆให้ถูกต้องเพื่อต่อสู้คดี พร้อมยืนยันว่าคดีที่เกิดขึ้นจะไม่มีผลต่อการเข้าร่วมประมูลสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแหล่งบงกชและเอราวัณที่จะหมดอายุในปี2565-2566 เพราะที่ผ่านมา ปตท.สผ.มีผลการดำเนินงานที่ดีต่อเนื่อง

สำหรับการฟ้องร้องการแยกท่อก๊าซปตท.ที่ผู้ตรวจการแผ่นดินร้องต่อศาลปกครองสูงสุดว่า เรื่องดังกล่าวคณะรัฐมนตรี(ครม.)ได้รับทราบแล้ว โดยศาลปกครองได้รับเรื่องไว้พิจารณาแต่ยังไม่ได้รับฟ้องถ้ามีประเด็นใหม่เพิ่มเติมก็อาจรับฟ้องได้ อย่างไรก็ตามพลังงานก็เห็นด้วยเพื่อที่ทุกอย่างจะได้เป็นมาตรฐานเดียวกันที่ขอให้มีคำแนบท้ายให้ทุกฝ่ายปฏิบัติว่าคำตัดสินของศาลฯถือเป็นอันสิ้นสุด

"กระทรวงพลังงานเห็นด้วยที่จะให้มีคำสั่งเป็นที่สิ้นสุด เป็นบรรทัดฐานเดียวกัน เพื่อต้องการให้ทุกองค์กรยอมรับในผลการตัดสิน เพราะหากยังไม่มีข้อสรุป บริษัทปตท.ก็กังวลว่าผู้ถือหุ้นจะฟ้อง ซึ่งเรื่องนี้ครม.อาจไม่มีอำนาจตัดสินใจ ดังนั้นต้องให้ศาลเป็นผู้ตัดสิน"รมว.พลังงานกล่าว

ส่วนกรณีที่ปตท.จะแยกหน่วยธุรกิจน้ำมันและค้าปลีกตั้งบริษัทน้ำมันและการค้าปลีก จำกัดหรือ PTTOR นั้น ไม่เกี่ยวกับกระทรวงพลังงาน แต่การระดมทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจะต้องมีเรื่องของการเพิ่มทุน กระทรวงพลังงานต้องนำเข้ารายงานต่อคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) รวมทั้งได้มีการชี้แจงเรื่องดังกล่าวให้กับสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)แล้ว

** อ้างอินโดฯไม่คิดอายัดทรัพย์ ปตท.

นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้ปตท.และปตท.สผ.ยังไม่ได้รับเอกสารสำนวนฟ้องศาลเรียกค่าเสียหายจากกรณีน้ำมันรั่วจากแหล่งมอนทาราของรัฐบาลอินโดนีเซียเลย ดังนั้นการดำเนินธุรกิจของบริษัทในกลุ่มปตท.ที่มีอยู่แล้วในอินโดนีเซียก็ดำเนินการตามปกติ แต่จะไม่มีการลงทุนใหม่เพิ่มเติมจนกว่าคดีจะมีความชัดเจน ซึ่งปัจจุบันปตท.มีการลงทุนในอินโดนีเซียหลายโครงการ อาทิ โครงการเหมืองถ่านหินที่มีแผนจะขยายการลงทุนเพิ่มเติม หลังจากสถานการณ์ราคาถ่านหินเริ่มดีขึ้น ส่วนเธุรกิจปลูกปาล์มน้ำมันได้มีการทยอยขายไปจนเกือบหมดแล้ว บริษัทที่ดำเนินธุรกิจซื้อขายน้ำมันและปิโตรเคมี ส่วนปตท.สผ.ได้มีการร่วมลงทุนในโครงการนาทูน่า ซีเอ มีปริมาณการขายก๊าซธรรมชาติประมาณ 224 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และน้ำมันดิบประมาณ 1,200 บาร์เรลต่อวัน

นายเทวินทร์ กล่าวต่อไปว่า ตนได้เดินทางไปร่วมงานEconomic Forum 2017 ที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีโอกาสพูดคุยกับรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม ประเทศอินโดนีเซีย โดยได้รับการปฏิเสธว่าการอายัดทรัพย์สินของปตท.และปตท.สผ.ที่อินโดนีเซียไม่เป็นความจริง เพราะการฟ้องร้องต้องพิจารณาหลักฐานและพยานตามขั้นตอนกระบวนยุติธรรม รวมทั้งไม่มีการระงับความร่วมมือด้านพลังงานระหว่างกันด้วย เพราะถือว่าเป็นคนละเรื่องกัน ที่ผ่านมา ปตท.เข้าไปลงทุนต่างประเทศไม่ได้มุ่งหวังผลประโยชน์เพียงอย่างเดียว แต่เป็นสร้างประโยชน์ร่วมกัน

ทั้งนี้รัฐบาลอินโดนีเซียได้ยื่นฟ้องที่ศาลในกรุงจาการ์ตา หลังจากได้รับร้องเรียนจากกลุ่มชาวประมงอินโดนีเซียถึงผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำมันรั่วที่แหล่งมอนทารา โดยกลุ่มชาวประมงอินโดนีเซียได้มีการยื่นฟ้องศาลที่ออสเตรเลียด้วย ซึ่งปตท.คาดหวังว่าการฟ้องร้องดังกล่าวจะมีความชัดเจนมากขึ้น รวมทั้งแนวทางของรัฐบาลอินโดนีเซียในเรื่องดังกล่าว

สำหรับประเด็นการฟ้องร้องเรื่องท่อก๊าซฯปตท.นั้น ในส่วนปตท.ได้ทำทุกอย่างในขอบเขตที่ทำได้และสมควรทำ ถ้าศาลปกครองฯมีคำสั่งเพิ่มเติมเราก็พร้อมที่จะปฏิบัติตามตามขั้นตอนทางกฎหมาย โดยจะไม่ทำนอกเหนือจากที่ศาลมีคำสั่ง

ขณะที่ นายสมพร ว่องวุฒิพรชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงกรณีรัฐบาลอินโดฟ้องเรียกค่าเสียหายกรณีน้ำมันรั่วไหลว่า บริษัทมีความประสงค์ที่จะหาข้อสรุปที่ถูกต้องและต้องเป็นธรรม เนื่องจากเราเป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติจำเป็นต้องรักษาภาพจน์ของประเทศ โดยเรายินดีที่จะรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นหากพิสูจน์ได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์

** "รสนา" ย้ำ กม.ปิโตรเลียม ขัด รธน.

อีกด้าน น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.กทม. เข้ายื่นข้อมูลเพิ่มเติมต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ผ่านนายทิฆัมพร ยะลา เจ้าหน้าที่สอบสวนผู้ชำนาญการ สำนักตรวจสอบเรื่องร้องเรียน กรณีก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 27เม.ย.ได้ยื่นคำร้องขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดิน พิจารณาและมีความเห็นเสนอต่อศาลรธน. วินิจฉัยว่า ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ที่ผ่านการพิจารณาของสนช. เมื่อวันที่ 30 มี.ค.60 เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรธน.หรือไม่

ทั้งนี้ เนื่องจากสนช.ผ่านร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม เป็นช่วงรอยต่อก่อนที่รธน.ใหม่จะประกาศใช้เพียง 6 วัน ซึ่งมติครม. เมื่อวันที่ 4 เม.ย.60 ออกมาตรการให้ปฏิบัติตาม มาตรา 77 วรรคสอง ของรธน. ว่าทุกหน่วยงานที่จะตรากฎหมายขึ้น จะต้องให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน และจัดทำรายงานผลกระทบอย่างรอบด้าน ซึ่ง สนช.ย่อมรู้แนวทางการจัดทำร่างกฎหมายตาม มาตรา 77 ของรธน.อยู่แล้ว แต่ สนช.ไม่ได้มีการดำเนินการจัดทำความคิดเห็นตาม มาตรา 77 วรรคสองแต่อย่างใด ย่อมทำให้ประชาชนเสียสิทธิ์ในการร่วมตรากฎหมายตามเจตนารมณ์รธน.

"สนช.มีการตัด มาตรา 10/1 ออกไป โดยไม่ถูกต้องตามข้อบังคับการประชุม และไม่มีการลงมติให้ตัดออกโดยที่ประชุมสนช. ซึ่งทราบว่า ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล อดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นคนขอไว้ ซึ่งต้องถามกลับว่า สนช.ปฏิบัติหน้าที่ ต้องไม่อยู่ภายใต้อาณัติใคร ต้องทำหน้าที่เพื่อประชาชน ใช่หรือไม่ และการที่สนช.ไม่มีฝ่ายค้าน ฝ่ายตรวจสอบในการตรากฎหมาย กฎหมายเกือบทุกฉบับก็จะผ่านทุกครั้ง ใช่หรือไม่ และยิ่งตัดมาตรา 10/1 ออกไป โดยที่ไม่ลงมติ สนช.ใช้เทคนิคเหมือนเป็นการล้มมวยก่อนที่ไม่มีการลงมติ และใช้วิธีการถอนออกไป จะใช้กับกฎหมายอื่นๆไม่ได้ เหมือนเป็นการลักไก่ เหมือนศรีธนญชัยเกินไป" น.ส.รสนา กล่าว

เมื่อถามว่า ร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ยังเป็นเพียงร่างกฎหมาย อาจจะไม่อยู่ในอำนาจของผู้ตรวจการฯ หรือไม่ น.ส.รสนา กล่าวว่า ก่อนหน้านี้เราก็ใช้ช่องทางตามรธน. มาตรา 213 ยื่นให้ศาลรธน.วินิจฉัยแล้ว แต่การมายื่นผู้ตรวจการฯ ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งตามมาตรา 77 วรรคสองของรธน. เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยของศาลรธน. ว่าการกระทำดังกล่าวขัดต่อรธน. หรือไม่ เพราะเราเห็นว่าการที่จะทูลเกล้าฯ ร่าง
กำลังโหลดความคิดเห็น