"ณ บ้านพระอาทิตย์"
"โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์"
เรื่อง ข้อเสนอวิธีการปล้นเอราวัณ-บงกช
กราบเรียน ท่านผู้ทรงเกียรติทั้งหลาย
สิ่งที่ส่งมาด้วย : แผนภูมิแสดงบันไดวิธี ถ้าต้องการต่ออายุสัมปทานทางอ้อม 30 ปี มูลค่า 2 แสนล้านบาทต่อปี ให้ เชฟรอน และ ปตท.สผ. ในพื้นที่สัมปทานเอราวัณและบงกช
มาถึงโอกาสวันสงกรานต์ประจำปี 2560 แล้ว ต้องยอมรับว่า กระแสเรื่องห้ามนั่งท้ายรถกระบะนั้น ได้กลบกระแสเรื่องที่กระผมจะได้เสนอต่อไปนี้ได้อย่างหมดจด ทำให้กระผมมั่นใจยิ่งขึ้นว่าความฝันของท่านทั้งหลายที่จะร่ำรวยกันไปชั่วลูกชั่วหลานนั้นใกล้จะเป็นจริงแล้ว !?
เพราะทั้งชีวิตนี้ เพียงแค่หากินกับเอราวัณและบงกช อย่างเดียว ท่านผู้ทรงเกียรติก็สบายไปทั้งชาติใช่หรือไม่ครับ!!!?
เพราะเอราวัณและบงกชที่กล่าวถึงนั้น คือแปลงปิโตรเลียมในอ่าวไทย ซึ่งทั้ง 2 แปลงมีการผลิตปิโตรเลียมที่ใกล้จะหมดอายุสัญญาสัมปทานในอีก 5-6 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติรวมกันถึงประมาณ 3 ใน 4 ของผลผลิตในอ่าวไทย จึงนับว่าเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของประเทศนี้
บุคคลภาครัฐที่มีอำนาจในการชี้เป็นชี้ตายเกี่ยวกับการอนุญาตและการกำกับธุรกิจพลังงานจึงย่อมมีส่วนสำคัญที่สุด เพราะว่าทรัพย์สมบัติเหล่านี้จะตกอยู่กับคนไทยทั้ง 70 ล้านคน หรือจะตกอยู่ในมือพวกท่านทั้งหลายให้อิ่มหมีพีมันอย่างที่ไม่เคยมีใครทำได้มาก่อนในประวัติศาสตร์ชาติไทย
กระผมขอเรียนว่า กลุ่มแหล่งก๊าซเอราวัณและแหล่งใกล้เคียง มีแหล่งผลิตก๊าซที่สำคัญ 4 กลุ่ม และแหล่งผลิตน้ำมัน 1 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มแหล่งก๊าซเอราวัณ (Erawan Complex) กลุ่มแหล่งก๊าซและน้ำมันดิบปลาทอง (Platong Complex) กลุ่มแหล่งก๊าซสตูล (Satun Complex) และกลุ่มแหล่งก๊าซฟูนาน (Funan Complex) ซึ่งใช้หลุมผลิตรวมกันจากทุกกลุ่มประมาณ 2,400-2,500 หลุม จากแท่นหลุมผลิตกว่า 130 แท่น
การผลิตก๊าซจากกลุ่มเอราวัณรวมกันจะส่งก๊าซได้ถึงประมาณ 1,200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ส่วนกลุ่มแหล่งก๊าซบงกช ประกอบด้วยแหล่ง บงกช และ บงกชใต้ ผลิตก๊าซรวมกันได้ประมาณเกือบ 900 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งใช้หลุมผลิตประมาณ 430-440 หลุม จากแท่นหลุมผลิตกว่า 30 แท่น
โดยแปลงเอราวัณนั้นมีบริษัทเชฟรอนเป็นผู้รับสัมปทาน ส่วนแปลงบงกชมีบริษัท ปตท. สผ. เป็นผู้รับสัมปทาน
ทั้งเอราวัณ-บงกช สามารถสร้างรายได้สูงถึงปีละ 2 แสนล้านบาท ลองคิดดูว่าถ้าทำสัญญาไปอีก 10 ปี มูลค่าจะสูงถึง 2 ล้านล้านบาท และถ้าอายุสัญญายาวถึง 30 ปี และยังคงผลิตได้ในอัตราเดิมมูลค่าก็อาจจะถึง 6 ล้านล้านบาท และดังนั้นการปล่อยข่าวปิโตรเลียมไทยมีน้อยและจะหมดใน 4-5 ปี แม้ดูขัดแย้งกับการทำสัญญาระยะยาว แต่ก็โชคดีมากครับที่สื่อส่วนใหญ่ไม่ได้ติดตามตรวจสอบในเรื่องนี้เลย
ดังนั้นถ้าท่านผู้ทรงเกียรติหาหนทางทำมาหากินกับโครงการนี้ได้รับรองว่าจะไม่เคยมีโครงการไหนในประวัติศาสตร์จะทำมาหากินได้มากเท่ากับโครงการนี้อีกแล้ว กระผมจึงเชื่อว่า ถ้าหากท่านผู้ทรงเกียรติเชื่อและทำตามข้อเสนอของกระผมครบทุกข้อเท่านั้น รับรองว่าพวกท่านจะถูกบันทึกในประวัติศาสตร์ว่าเป็นผู้แสวงหาผลประโยชน์จากทรัพยากรของชาติที่ยิ่งใหญ่ที่สุดได้อย่างที่ไม่เคยมีใครทำได้มาก่อนในประเทศไทย
เพื่อให้เข้าใจตรงกัน คำว่า หากท่านเป็นผู้แสวงหาผลประโยชน์จากทรัพยากรของชาติที่ยิ่งใหญ่ที่สุดได้อย่างที่ไม่เคยมีใครทำได้มาก่อนในประเทศไทย ของกระผมนี่เป็นคำชมด้วยความจริงใจนะครับ เพราะผมเชื่อว่าในใจท่านก็คงคิดเหมือนกันว่าจะเป็นวีรบุรุษช่วยเหลือประชาชนไปทำไม สู้เป็นมหาเศรษฐีจากทรัพยากรรวยกว่าตั้งเยอะ โดยเฉพาะในโอกาสที่มีการรัฐประหารมาถึงขนาดนี้แล้ว ถ้าไม่รีบทิ้งทวนตอนนี้ จะให้ไปทิ้งทวนตอนไหน จริงไหมท่าน?
โดยเฉพาะในเวลานี้ประเทศไทยติดอันดับมีความเหลื่อมล้ำระดับโลกแล้ว ขอเพียงท่านใจถึงทำมาหากินในอภิมหาโครงการนี้ให้สำเร็จ ท่านก็จะเป็นมหาเศรษฐีอยู่ยอดบนสุดของความเหลื่อมล้ำที่มากขึ้น สบายกว่าใครทั้งสิ้น จริงไหม?
ข้อเสนอของกระผมนี้ท่านผู้ทรงเกียรติจะเลือกจะทำ หรือไม่เลือกทำ หรือที่ผ่านมาจะทำไปบางส่วนเพราะมีเหตุผลตรงกระผมเสนอ หรือจะเป็นแค่ความบังเอิญหรือไม่ ก็ไม่ทราบได้ เอาเป็นว่าขอให้ฟังข้อเสนอของกระผมดังต่อไปนี้
แหล่งเอราวัณภายใต้สัมปทานที่นำโดยเชฟรอน ในขณะที่แหล่งบงกช มี ปตท.สผ.อยู่นั้นใกล้หมดอายุสัมปทานแล้ว ซึ่งตามมาตรา 26 แห่ง พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 นั้นได้กำหนดในวรรคท้ายว่า
"การต่อระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมให้กระทำได้เพียงครั้งเดียวเป็นเวลาไม่เกิน 10 ปี"
ซึ่งทั้งแหล่งเอราวัณ และ บงกช นั้นได้ถูกต่ออายุสัญญาสัมปทานปิโตรเลียมมาแล้ว 1 ครั้ง ในสมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ โดยมี ท่านปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ มหาบุรุษผู้มองการณ์ไกลครั้งนั้น ได้ตัดสินใจอย่างชาญฉลาดต่ออายุสัญญาสัมปทานให้กับ เชฟรอนในแหล่งเอราวัณ และปตท.สผ.ในแหล่งบงกช เป็นเวลา 10 ปี โดยไม่ต้องประมูลจริงหรือไม่? ซึ่งภายหลังต่อสัญญาแล้วจะหมดอายุสัญญาสัมปทานในปี 2565 และ ปี 2566 ตามลำดับ ซึ่งถือเป็นเวลาที่เหมาะมาก เพราะเป็นรัฐบาลรัฐประหารที่ปราศจากฝ่ายค้านในระบบเลือกตั้งปกติ จริงหรือไม่?
และถือว่าเป็นความโชคดีของทั้ง เชฟรอน และปตท.สผ. ที่ท่านปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ได้ต่ออายุสัญญาสัมปทาน โดยไม่ได้เปลี่ยนเงื่อนไขว่าถ้าใกล้หมดอายุสัญญาสัมปทานแล้ว รัฐหรือเอกชนคู่สัญญารายใหม่ไม่สามารถเข้าพื้นที่ล่วงหน้าเพื่อการผลิตต่อเนื่องได้ จริงหรือไม่? อันเป็นเหตุผลสำคัญทำให้รัฐบาลในชุดนี้มีข้ออ้างว่าจะต้องให้เอกชนรายเดิมได้เปรียบในพื้นที่ต่อไปเพื่อความต่อเนื่องในการผลิต จริงหรือไม่?
ดังนั้นกระผมอยากให้ท่านเดินตามแนวทางของท่านปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ต่อไปว่า ถ้าจะต่ออายุสัญญาสัมปทานที่แหล่งปิโตรเลียมใดอีก อย่าได้ใส่เงื่อนไขไปโดยเด็ดขาดว่าก่อนหมดอายุสัญญาสัมปทานนั้น ให้รัฐหรือเอกชนคู่สัญญาเข้าไปในพื้นที่เพื่อสำรวจและผลิตให้เกิดความต่อเนื่องได้ พวกท่านจะได้ใช้มุกนี้ได้ไปเรื่อยๆ ดีไหม?
กระผมจึงเห็นดีเห็นงามด้วย ในช่วงรัฐบาลท่านพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเสนอต่ออายุสัมปทานแปลงโน้นแปลงนี้ไปอีกเรื่อยๆ โดยอ้างว่ากฎหมายเปิดช่องให้ต่ออายุได้ 10 ปี และผมสนับสนุนให้ทำมึนๆไว้ครับ เพราะแม้บริษัทที่เกี่ยวข้องอาจจะสมคบกับข้าราชการเพื่อหลบเลี่ยงภาษีอากรของประเทศชาติ ก็ให้ช่วยกันพูดไว้ก่อนว่าไม่ใช่บริษัทคู่สัญญาโดยตรงกับแหล่งสัมปทาน จริงหรือไม่?
เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ท่านมหาบุรุษปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร ต่ออายุสัมปทานไปอีกเป็นเวลา 10 ปี ทั้งแหล่งเอราวัณและบงกช ทั้งๆที่ยังมีระยะเวลาเหลืออยู่อีกนานถึง 5 - 6 ปี มาคราวนี้ในปี พ.ศ. 2560 ยังเหลือเวลาก่อนหมดสัญญาอีก 5 - 6 ปี ใครจะทำอะไรก็รีบทำตอนนี้เถิด ในช่วงที่ยังไม่มีฝ่ายค้าน และมีกฎหมายไม่ให้ประชาชนมาชุมนุมขัดขวาง จริงหรือไม่ครับท่าน?
ปัญหาที่ต้องแก้ไข คือ สัญญาสัมปทานทั้งแหล่งเอราวัณและบงกช ก็ได้ต่ออายุไปแล้ว ซึ่งจะต่อสัญญาไม่ได้อีกตาม พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 ก็ย่อมเห็นอยู่แล้วว่าเจตนาผู้ร่างกฎหมายต้องการให้ทรัพย์สินจากการสัมปทานปิโตรเลียม ตลอดจนแหล่งปิโตรเลียมซึ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทยที่คนไทยรอมา 40 ปีนั้นตกอยู่แก่รัฐและประชาชน ถ้าขืนปล่อยไปอย่างนั้น พวกท่านจะทำมาหากินกันต่อไปได้อย่างไร จริงหรือไม่?
ดังนั้นกระผมจึงเห็นด้วยอย่างยิ่ง ถ้าจะแก้ไขกฎหมายใหม่ โดยอำพรางอ้างว่าจะเพิ่มทางเลือกในระบบแบ่งปันผลผลิต และระบบจ้างผลิต นอกเหนือจากระบบสัมปทานเดิม เพื่อให้ภาคประชาชนตายใจ จากนั้นก็จะได้ถือโอกาสทำให้เนื้อหาเหมือนกับการต่ออายุสัมปทานนั่นแหละ จึงจะเนียนที่สุด เพราะไหนๆ กฎหมายเดิมก็ต่ออายุสัญญาสัมปทานไม่ได้อยู่แล้ว
วิธีการที่กระผมเสนอคือแม้จะเขียนกฎหมายว่าเพิ่มให้มีระบบแบ่งปันผลผลิต แต่ก็ทำให้เหมือนสัมปทานได้ เพียงแค่อย่าเขียนกฎหมายให้ตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติโดยเด็ดขาด เพราะเมื่อไม่มีการตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติที่จะทำหน้าที่ขายปิโตรเลียมของรัฐได้อย่างเป็นรูปธรรม กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติก็ติดระเบียบราชการทำธุรกิจไม่ได้เหมือนบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ และเป็นผลทำให้เอกชนคู่สัญญาสามารถนำไปขายปิโตรเลียมแทนรัฐได้ วิธีการนี้ก็มีเนื้อหาไม่ต่างจากระบบสัมปทานไงครับท่าน
ท่านอาจสงสัยว่าเอกชนขายปิโตรเลียมแทนรัฐนั้นดีตรงไหน ก็มันจะดีตรงที่ ในระบบแบ่งปันผลผลิตถ้าไม่มีบรรษัทน้ำมันแห่งชาติมานับปิโตรเลียมทุกหยดที่รัฐพึงได้เพื่อไปขายด้วยตัวเอง ทำให้รัฐต้องฝากเอกชนคู่สัญญาขายแทนให้ แล้วรัฐก็ต้องรอรายงานตัวเลขยอดขายจากเอกชนเป็นหลัก (เหมือนระบบสัมปทาน)
ส่วนระบบรับจ้างผลิตหรือจ้างบริการก็จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ขอเพียงแต่ในร่าง พ.ร.บ.ปิโตรเลียม อย่าไปเปิดช่องให้มีการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติขึ้นได้ก็แล้วกัน เนื่องจากในระบบจ้างผลิตหรือจ้างบริการนี้ จะต้องมีบรรษัทน้ำมันแห่งชาติทำหน้าที่ตรวจปริมาณและขายปิโตรเลียมทุกหยดที่เป็นของรัฐ 100 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น เมื่อกุดหัวทิ้ง หางก็ไม่ต้องห่วง
เพราะถ้าขืนปล่อยให้มีการตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติเกิดขึ้นได้ องค์กรนี้มาทำหน้าที่นับปิโตรเลียมทุกหยดที่รัฐจะได้ (ไม่ว่าจะระบบแบ่งปันผลผลิต หรือ จ้างผลิต) และสมมุติถ้าบรรษัทน้ำมันแห่งชาติสามารถทำให้เกิดมีรายได้เพิ่มขึ้นมากมายมหาศาลอย่างที่ไม่เคยได้มาก่อนในประวัติศาสตร์ชาติไทย ผมว่าไม่เพียงแต่แผนของพวกท่านที่เคยทำกันมามันจะพังทลายและต้องอับอายเท่านั้น ต่อไปการโกงปริมาณปิโตรเลียมก็จะยากขึ้นด้วย จริงหรือไม่ !!!?
นอกจากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ที่กระผมยังขอสนับสนุนให้รัฐบาลไทย อย่าปล่อยให้มีการจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติโดยเด็ดขาด เพราะขืนให้มีบรรษัทน้ำมันแห่งชาติแล้ว บรรษัทน้ำมันแห่งชาติจะต้องรับเอา 2 แปลงนี้มาดำเนินการเอง รวมถึงบรรดาทรัพย์สินและแท่นขุดเจาะทั้งปวงจะตกเป็นกรรมสิทธิ์ของบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ แล้วเปิดประมูลจ้างบริษัทเอกชนให้บริการผลิตปิโตรเลียม การทำมาหากินของท่านทั้งหลายคงจะยากยิ่งขึ้น เพราะทั้งเอราวัณและบงกชมีปิโตรเลียมอยู่แล้วอย่างชัดเจน ลูกค้าก็มีชัดเจน ทรัพย์สินที่ลงทุนก็ตกเป็นของรัฐ ดังนั้นของเนื้อๆแบบนี้เอาไปให้ประเทศชาติและประชาชนได้ยังไง จริงไหมครับท่าน?
ถ้าขืนมีบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ แปลงเอราวัณและบงกช ซึ่งเดิมเป็นเพชรเม็ดงามที่สร้างกำไรให้แก่ บริษัทเชฟรอน และ บริษัท ปตท. สผ. มาอย่างต่อเนื่องนานถึง 30 ปี ก็จะหมดค่าลงทันที เพราะเมื่อต้องส่งมอบทรัพย์สินอันมีมูลค่าสูงที่ทั้งสองบริษัทใช้ในแหล่งเอราวัณและบงกชแก่บรรษัทน้ำมันแห่งชาติ สองบริษัทก็จะไม่เหลือทรัพย์สินอะไรในแหล่งเอราวัณและบงกช จริงหรือไม่?
เรื่องนี้จึงเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะสองแปลงนี้ผลิตปิโตรเลียมรวมกันมูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี ถ้าคูณด้วย 10 ปี ก็เป็นมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านบาท แต่ถ้ารัฐบาลไทยจัดตั้งบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ แล้วนำเอาสองแปลงกลับไปดำเนินการเอง จาก 2 ล้านล้านบาท จะกลายเป็นศูนย์ สองบริษัทจะต้องเดินออกไปจากเอราวัณและบงกช อย่างตัวเปล่า จริงหรือไม่?
และที่สำคัญการมีบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ อาจจะทำให้ ผู้ถือหุ้น ปตท.บางคนของพวกท่านต้องมีอันต้องตกใจด้วย เพราะเดี๋ยวก็ต้องมาถกเถียงกันอีกว่าท่อก๊าซธรรมชาติที่ถูกผูกขาดโดย ปตท. รวมถึงอำนาจมหาชนที่ได้ในการผูกขาดการซื้อก๊าซธรรมชาติของ ปตท. นั้น ทรัพย์สินที่ผูกขาดเหล่านี้จะต้องไปเป็นกรรมสิทธิ์ของ บรรษัทน้ำมันแห่งชาติหรือไม่ เพื่อขจัดการผูกขาดทั้งปวงมาตกอยู่แก่รัฐ 100% และทำให้เกิดการประมูลแข่งขันนั้น จะทำให้พวกท่านต้องเดือดร้อนได้ จริงไหม?
เมื่อท่านได้แก้ไขกฎหมายพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 เพื่อแก้ปัญหาที่กฎหมายไม่ให้ต่ออายุสัญญาสัมปทาน ด้วยการเพิ่มคำว่า “ระบบแบ่งปันผลผลิต” แต่เนื้อหาไส้ในเหมือนระบบสัมปทาน ในขณะที่คำว่า “ระบบจ้างผลิต” ที่เพิ่มเข้ามาในกฎหมายนั้น ก็ทำไม่ได้จริงเพราะไม่มีบรรษัทน้ำมันแห่งชาติ ขั้นตอนต่อไปก็ต้องอย่าให้มีการประมูลโปร่งใสโดยเด็ดขาด ด้วยนะครับ
วิธีการล็อกสเปกนั้นคงแทบไม่ต้องสอนกระมังครับ เช่น ขอให้ช่วยกันผลักดันระบุในเงื่อนไขการประมูลว่า ผู้ประมูลต้องมีประสบการณ์การผลิตปิโตรเลียมในแหล่งเอราวัณและบงกชเท่านั้น, การทำให้ข้อมูลไม่ชัดเจนเพื่อกีดกั้นผู้ที่จะร่วมแข่งขันประมูลรายอื่น เช่น ข้อมูลการรับซื้อก๊าซ, ราคาก๊าซ, ข้อมูลธรณีวิทยา ฯลฯ และจะให้ดีท่านต้องทำให้ระบบท่อก๊าซธรรมชาติทางทะเลต้องตกอยู่ในมือ ปตท. ต่อไป กระผมรับรองว่าผู้เข้าประมูลจะเหลือแต่คนแวดวงเดียวกันที่คุยกันได้ จริงหรือไม่?
และด้วยวิธีการที่กระผมนำเสนอข้างต้นนี้ มีโอกาสสูงมากที่ผู้ชนะการประมูลจะอยู่ในแวดวงเดิมๆ และรายเดิมๆ ที่กระผมจะขออนุญาตนำเสนอในจดหมายฉบับต่อๆไป
และเมื่อมั่นใจว่าจะทำในทุกขั้นตอนตามแผนที่กระผมเสนอแล้ว อย่าลืมนำทรัพย์สินที่ได้จากผู้รับสัมปทานที่หมดอายุในแหล่งเอราวัณและบงกช มาคิดมูลค่าทางบัญชีหักค่าเสื่อมให้มีมูลค่าต่ำๆไว้ก่อน อย่าคิดมูลค่าทางเศรษฐกิจที่แท้จริงเด็ดขาด ส่วนแบ่งของรัฐจะได้น้อยลงตามสัดส่วนการลงทุน เรื่องนี้หวังว่าท่านคงจะไม่ลืมด้วย
สุดท้ายนี้เนื่องในวันสงกรานต์ กับโครงการมหาสมบัติที่มีมูลค่าสูงที่สุดในประเทศไทย กระผมขออำนวยพรให้ท่านอดทนเข้าไว้และอย่าหน้าบางโดยเด็ดขาด ขอให้ประสบความสำเร็จในการทำมาหากินกับทรัพยากรของชาติให้ยิ่งใหญ่กว่าใครในประวัติศาสตร์ชาติไทยที่ไม่เคยมีมาก่อน กระผมรอท่านในวันนั้นอยู่เสมอ
ขอแสดงความนับถือ
ทรราชน้อย คอยอยู่