xs
xsm
sm
md
lg

รถไฟไทย-จีนเดินตามแผน นัดปลาย มิ.ย.หารือพร้อมสำรวจจุดสร้างแก่งคอย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม
“ประจิน” ยันเดินหน้าความร่วมมือไทย-จีน พัฒนารถไฟทางคู่ รางขนาด 1.435 เมตร “หนองคาย-โคราช-แก่งคอย-ท่าเรือมาบตาพุด” นัดประชุมครั้งที่ 5 คณะทำงานร่วมไทย-จีน 30 มิ.ย.-1 ก.ค.นี้ พร้อมดูพื้นที่ก่อสร้างบริเวณแก่งคอย ขณะที่ความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่น มี 2 เส้นทาง ไฮสปีดกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ และพัฒนาเส้นทางกาญจนบุรี-กรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา-อรัญประเทศ, ฉะเชิงเทรา-แหลมฉบัง ซึ่งเป็นคนละเส้นทาง ตั้งเป้าลงพื้นที่สำรวจปลาย ก.ค. เริ่มก่อสร้างปี 2559

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ในวันที่ 30 มิ.ย.-1 ก.ค.นี้จะมีการประชุมคณะทำงานร่วมไทย-จีน ในความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีน ภายใต้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟทางคู่ รางมาตรฐาน (Standard Gauge) ขนาด 1.435 เมตร เส้นทางหนองคาย-โคราช-แก่งคอย-ท่าเรือมาบตาพุด ระยะทาง 873 กม. ที่เขาใหญ่ จ.นครราชสีมา เพื่อสรุปความคืบหน้าความร่วมมือ พร้อมกับพาคณะทำงานจีนสำรวจแนวเส้นทางบริเวณแก่งคอย จ.สระบุรีด้วย โดยขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการสำรวจออกแบบซึ่งจะสรุปความชัดเจนเรื่องรูปแบบการลงทุนในเดือน ส.ค. 2558 ซึ่งจะทราบถึงมูลค่าลงทุนที่ชัดเจนด้วย โดยกรอบลงทุนเบื้องต้นอยู่ที่ประมาณ 3 แสนล้านบาท

“ท่านนายกฯ ต้องการให้เร่งสรุปความชัดเจนรายละเอียดต่างๆ เพื่อเตรียมความพร้อมเป็นข้อมูลสำหรับการประชุมร่วม ครม., สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในวันที่ 9 มิ.ย.นี้ หากมีการสอบถามความคืบหน้า” พล.อ.อ.ประจินกล่าว

ทั้งนี้ ความร่วมมือของรัฐบาลไทยกับรัฐบาลจีนในการพัฒนารถไฟนั้นจะเป็นตามข้อตกลงความร่วมมือเพื่อการทำงานร่วมกัน (Memorandum of Cooperation : MOC) ที่ได้มีการลงนามไปแล้ว ซึ่งในส่วนของไทย ครม.ได้อนุมัติงบประมาณในช่วงแรกจำนวน 308 ล้านบาท แบ่งเป็น สำนักงานปลัดคมนาคมจำนวน 57.489 ล้านบาท สำหรับเป็นค่าดำเนินงาน ปรับปรุงสำนักงาน งบประชุม และงบลงพื้นที่ และการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จำนวน 251.095 ล้านบาท สำหรับเป็นค่าจ้างที่ปรึกษาสำรวจเพื่อการเวนคืน ค่าจ้างที่ปรึกษาจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ค่าใช้จ่ายในการร่วมปฏิบัติงานสำรวจพื้นที่กับฝ่ายจีน

โดยสาระของร่าง MOC ที่ 2 ฝ่ายจะร่วมกันสำรวจและออกแบบมี 2 ส่วน คือ ไทยจะรับผิดชอบในการสนับสนุนข้อมูล บุคลากร การจัดให้มีเอกสารตามความต้องการและการขอความช่วยเหลือจากกองทัพ เช่น กรมแผนที่ทหารในการบินถ่ายภาพ รวมทั้งติดต่อประสานกระทรวงการต่างประเทศในเรื่องวีซ่า กระทรวงแรงงาน กระทรวงการคลัง ในการนำเครื่องมือเข้ามาสำรวจออกแบบ โดยไทยจะเร่งเดินหน้าในการจ้างที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมและที่ปรึกษาประเมินค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ส่วนการก่อสร้างแบ่งเป็น 4 ตอน

สำหรับฝ่ายไทยจะรับผิดชอบเรื่องเวนคืนที่ดิน การสำรวจผลกระทบสิ่งแวดล้อม และรับผิดชอบงานก่อสร้างโยธาหลัก โดยเปิดโอกาสให้เอกชนไทยเข้าร่วมโครงการ โดยจะเร่งกำหนดแนวทางที่ชัดเจนว่าจะเปิดประมูลหรือสัมปทาน PPP ในเร็วๆ นี้ ส่วนฝ่ายจีนรับผิดชอบเรื่องการออกแบบ การก่อสร้างอุโมงค์ หรือสะพานในบางพื้นที่จะให้จีนดำเนินการ รวมถึงระบบราง ระบบอาณัติสัญญาณ พลังงานไฟฟ้า เครือข่ายด้านสื่อสาร เนื่องจากต้องนำเข้าเทคโนโลยี โดยไทยจะใช้ผลิตภัณฑ์ที่สามารถผลิตได้ในประเทศไทยเข้ามาร่วมมากที่สุด ส่วนการเดินรถ และซ่อมบำรุงจะมีการพิจารณาต่อไป

ส่วนความร่วมมือรัฐบาลไทยกับรัฐบาลญี่ปุ่นนั้น ได้มีการลงนามใน MOC ร่วมกันเมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2558 และได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วม 2 ฝ่ายในระดับรัฐมนตรีของ 2 ประเทศ พร้อมกับตั้งคณะทำงาน 3 คณะ ประกอบด้วย 1. คณะทำงานโครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะทาง 715 กม. 2. คณะทำงานเส้นทาง กาญจนบุรี-กรุงเทพฯ, กรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา-อรัญประเทศ, กรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา-แหลมฉบัง ระยะทาง 574 กม. และ 3. คณะทำงานด้านการเงินและรูปแบบการลงทุน โดยภายใน 1 เดือนหลังจากนี้จะจัดทำแผนการทำงาน (Timeline) รูปแบบการทำงาน รูปแบบความร่วมมือแล้วเสร็จ ส่วนแผนงานและรายละเอียดในทุกๆ ด้านจะมีความชัดเจนภายในปีนี้ โดยตั้งเป้าหมายลงพื้นที่เพื่อสำรวจออกแบบในปลายเดือน ก.ค.นี้และเริ่มการก่อสร้างได้กลางปี 2559

“ภายใน 2 สัปดาห์ ทางบริษัท JR East ญี่ปุ่น จะส่งทีมงานเข้ามาร่วมประชุมวางแผนในเรื่องกรอบความร่วมมือ กรอบเวลาการทำงานกัน ให้ได้ข้อสรุปใน 1 เดือน ซึ่งความร่วมมือและการก่อสร้างจะเป็นรูปแบบเดียวกับความร่วมมือรถไฟไทย-จีน แต่ทางญี่ปุ่นอาจจะเข้ามามีส่วนร่วมส่วนใหญ่เพราะใช้เทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูง” พล.อ.อ.ประจินกล่าว

โดยรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-เชียงใหม่นั้นจะใช้เทคโนโลยีชินคันเซ็นของญี่ปุ่น โดยจะกำหนดความเร็วกันต่อไป ส่วนเส้นทางแนวระเบียงเศรษฐกิจด้านใต้ เส้นทางกาญจนบุรี-กรุงเทพฯ, กรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา-อรัญประเทศ, กรุงเทพฯ-ฉะเชิงเทรา-แหลมฉบัง มี 2 แนวทาง คือ 1. ปรับปรุงพัฒนาทางเดิมที่มีขนาดราง 1 เมตร เพื่อให้มีประสิทธิภาพเต็มที่ โดยพัฒนาทั้งราง สถานี ระบบอาณัติสัญญาณ เป็นต้น หรือ 2. หากในอนาคตต้องการเชื่อมต่อเส้นทางกับทางพม่า-ไทย-กัมพูชา-เวียดนาม จะต้องหารือกัน 4 ประเทศ ว่าจะต่อเชื่อมกันด้วยรางขนาด 1 เมตร หรือ 1.435 เมตร โดยเน้นเรื่องการขนส่งสินค้าเป็นหลัก
กำลังโหลดความคิดเห็น