xs
xsm
sm
md
lg

ไทยเซ็นMOC ญี่ปุ่นพัฒนารถไฟ 2 เส้นทาง ตั้งเป้าสำรวจปลายก.ค. ตอกเข็มกลางปี 59

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ประจิน”เผยลงนาม MOC ญี่ปุ่นแล้ว เตรียมตั้งคณะทำงาน 3 ชุด เพื่อกำหนดกรอบทำงาน รูปแบบความร่วมมือให้ชัดเจนใน 1 เดือน ตั้งเป้าลงพื้นที่สำรวจปลายก.ค.นี้ เริ่มก่อสร้างกลางปี 59 ระบุรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพ-เชียงใหม่ ใช้เทคโนโลยีชินคันเซ็น พร้อมเจรจาปัญหาการบิน โดย JCAB ญี่ปุ่น ยอมขยายเวลาผ่อนปรนสายการบินของไทย ไม่มีกำหนด ยกเว้นมีปัญหาแทรกซ้อนอื่นเกิดขึ้น โดยจะมีการสุ่มตรวจสายการบินของไทยเหมือนเดิม และติดตามการแก้ SSC ตามเงื่อนไข ICAO ใกล้ชิด


พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2558 ตนและนายอะคิฮิโระ โอตะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงที่ดินโครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการท่องเที่ยวแห่งญี่ปุ่น (MLIT) ได้ร่วมลงนามในบันทึกความร่วมมือ(MOC) ด้านระบบราง ซึ่งหลังจากนี้จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการ่วม 2 ฝ่าย ในระดับรัฐมนตรีของ 2 ประเทศ ซึ่งภายใต้คณะกรรมการชุดนี้ จะมีการจัดตั้งคณะทำงาน 3 คณะ ประกอบด้วย 1. คณะทำงานโครงการรถไฟความเร็วสูง เส้นทาง กรุงเทพ-เชียงใหม่ ระยะทาง 715 กม. 2. คณะทำงานเส้นทาง กาญจนบุรี-กรุงเทพ, กรุงเทพ-ฉะเชิงเทรา-อรัญประเทศ,กรุงเทพ-ฉะเชิงเทรา-แหลมฉบัง ระยะทาง 574กม. และ 3. คณะทำงานด้านการเงินและรูปแบบการลงทุน โดยภายใน 1 เดือนหลังลงนามใน MOC จะสามารถการจัดทำแผนการทำงาน (Timeline) รูปแบบการทำงาน รูปแบบความร่วมมือแล้วเสร็จ โดยตั้งเป้าหมายลงพื้นที่เพื่อสำรวจออกแบบในปลายเดือนก.ค. นี้ โดยแผนงานและรายละเอียดในทุกๆ ด้านจะมีความชัดเจนภายในปีนี้ และตั้งเป้าเริ่มการก่อสร้างประมาณกลางปี 2559
“หลังจากนี้ผมจะเสนอนายกฯ ให้ลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการร่วม 2 ฝ่าย ส่วนคณะทำงาน 3 ชุด ผมจะลงนามเอง และภายใน 2 สัปดาห์ทาง บริษัท JR East ญี่ปุ่น จะส่งทีมงานเข้ามาร่วมประชุมวางแผนในเรื่องกรอบความร่วมมือ กรอบเวลาการทำงานกัน ให้ได้ข้อสรุปใน 1 เดือน ซึ่ง ความร่วมมือและการก่อสร้าง จะเป็นรูปแบบเดียวกับความร่วมมือรถไฟไทย-จีน แต่ทางญี่ปุ่นอาจจะเข้ามามีส่วนร่วมส่วนใหญ่ เพราะใช้เทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูง”
โดยรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพ-เชียงใหม่นั้นจะใช้เทคโนโลยีชินคันเซ็นของญี่ปุ่น โดยจะกำหนดความเร็วกันต่อไป ส่วนเส้นทางแนวเศรษฐกิจด้านใต้ กาญจนบุรี-กรุงเทพ, กรุงเทพ-ฉะเชิงเทรา-อรัญประเทศ,กรุงเทพ-ฉะเชิงเทรา-แหลมฉบัง มี 2 แนว คือ 1.ปรับปรุงพัฒนาทางเดิมที่มีขนาดราง 1 เมตร เพื่อให้มีประสิทธิภาพเต็มที่ โดยพัฒนาทั้งราง สถานี ระบบอาณัติสัญญาณ เป็นต้น หรือ 2. หากในอนาคตต้องการเชื่อมต่อเส้นทางกับทางพม่า-ไทย-กัมพูชา-เวียดนาม จะต้องหารือกัน 4 ประเทศ ว่าจะต่อเชื่อมกันด้วยรางขนาด 1 เมตรหรือ 1.435 เมตร โดยเน้นการขนส่งสินค้าเป็นหลัก และผู้โดยสารเป็นรอง ซึ่งจะเลือกแนวทางใด ขึ้นกับข้อดี ข้อเสีย

JCAB ญี่ปุ่น ขยายเวลาผ่อนปรนสายการบินของไทย ไม่มีกำหนด
ส่วนกรณีการบินเข้าประเทศญี่ปุ่น ซึ่ง MOU ที่ทาง กรมการบินเรือนของประเทศญี่ปุ่นหรือ Japan Civil Aviation Bureau (JCAB) ผ่อนปรนให้สายการบินของไทย จะสิ้นสุดในวันที่ 31 พ.ค. 2558 นั้น พล.อ.อ.ประจินกล่าวว่า ก่อนหน้านี้ทางเจ้าหน้าที่กรมการบินพลเรือน (บพ.) ของไทยได้ไปเจรจากับทาง JCAB แล้ว ล่าสุด หลังจากทาง JCAB ได้แจ้งยืนยันว่า จะขยาย MOU ผ่อนปรนให้สายการบินของไทย ภายใต้เงื่อนไขเดิม ออกไปโดยไม่มีกำหนด โดยในระหว่างนี้ ทาง JCAB จะมีการสุ่มตรวจสายการบินของไทยตามปกติ พร้อมทั้งติดตามความก้าวหน้าในการแก้ไข เพื่อปลดล็อคข้อบกพร่องที่มีนัยต่อความปลอดภัย (SSC) ตามโครงการตรวจสอบการกำกับดูแลความปลอดภัยสากล (USOAP) ขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ตามที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ ( ICAO) ต้องการ ซึ่งในหลักการหากสายการบินของไทยมีมาตรฐานการบินตามที่มีในขณะนี้ก็จะไม่มีปัญหาหรือผลกระทบ ยกเว้นมีปัญหาแทรกซ้อนเกิดขึ้นซึ่งไม่สามารถตอบได้ ดังนั้น ในขณะนี้สายการบินประจำและสวายการบินเช่าเหมาลำของไทยยังทำการบินไปยังญี่ปุ่นได้ตามปกติ ภายใต้เงื่อนไข MOU เดิม
ทั้งนี้ เงื่อนไขหลักใน MOU เดิม JCAB จะอนุญาตให้สายการบินของไทยทำการบินได้ ก็ต่อเมื่อ เป็นเครื่องบินของสายการบินประเทศไทย ที่เป็นเที่ยวบินประจำ และเช่าเหมาลำที่บินในเส้นทางไป-กลับประเทศญี่ปุ่น ไม่เกี่ยวกับประเทศอื่น โดยเช่าเหมาลำจะให้เฉพาะที่เคยให้บริการอยู่เดิมและต้องทำการบินในเส้นทางที่เคยให้บริการเดิม,ทำการบินด้วยอากาศยานที่เคยให้บริการเดิม โดยทาง JCAB จะส่งเจ้าหน้าที่ 2 คนมาช่วย บพ.ของไทยในการตรวจด้านความพร้อมในการประเมินสายการบินต่างๆ
สำหรับการผลิตขบวนรถไฟฟ้าสำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่-บางซื่อ) ซึ่งได้เดินทางไปยัง J-TREC หรือ Japan Transport Engineering Company ซึ่งเป็นผู้ผลิตซึ่งมีความก้าวหน้าอย่างมาก โดยทาง J-TREC ยืนยันที่จะส่งมอบรถขบวนแรกได้ในเดือนกันยายน 2558 และทำการทดสอบระบบทั้งหมดประมาณ 4 เดือน จะเปิดให้บริการได้
ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ด้านรูปแบบการลงทุนและการเงิน ทางญี่ปุ่นให้ความสำคัญมาก โดยเฉพาะรถไฟความเร็วสูง เส้นทาง กรุงเทพ-เชียงใหม่ ซึ่งจะเงินลงทุนค่อนข้างสูง ซึ่งจะมีการพิจารณาแหล่งเงินทุนร่วมกันอย่างดีที่สุด รวมถึงการเข้ามาร่วมลงทุนด้วยนอกจากนี้ ทางญี่ปุ่นสนใจที่จะศึกษา รถไฟเส้นทางกรุงเทพ-ระยอง เนื่องจากแนวเส้นทางรถไฟที่จะไปสู่ภาคตะวันออกนั้น มีหลายโครงการที่จะต้องมีการวางแผนการก่อสร้างร่วมกัน เพื่อใช้ประโยชน์ทางร่วมกัน ตั้งแต่ช่วงฉะเชิงเทรา-แหลมฉบัง-มาบตาพุด

กำลังโหลดความคิดเห็น