xs
xsm
sm
md
lg

ครม.อัดงบ 308 ล้านเดินหน้ารถไฟไทย-จีน ด้านญี่ปุ่นสนไฮสปีดกรุงเทพฯ-เชียงใหม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ครม.เห็นชอบ MOC พัฒนารถไฟไทย-จีน เส้นทางหนองคาย- แก่งคอย-มาบตาพุด และอนุมัติงบ 308 ล้านให้คมนาคมและ ร.ฟ.ท.เป็นก้อนแรก ในการลงพื้นที่สำรวจออกแบบและจ้างที่ปรึกษา “ประจิน” เผยสรุปรูปแบบเดินรถและซ่อมบำรุงใน พ.ค.นี้ ส่วนความร่วมมือไทย-ญี่ปุ่นสนใจลงทุนรถไฟ 2 สาย ไฮสปีด กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ และทางคู่กาญจนบุรี-แหลมฉบัง “นายกฯ” รับทราบเดินหน้าเจรจา

พลอากาศเอก ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (7 เม.ย.) ว่า กระทรวงคมนาคมได้รายงานความก้าวหน้าของความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐประชาชนจีนภายใต้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟทางคู่ รางมาตรฐาน (Standard Gauge) ขนาด 1.435 เมตร เส้นทางหนองคาย-โคราช-แก่งคอย-ท่าเรือมาบตาพุด ระยะทาง 873 กม. ในส่วนของผลการประชุมครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 10-11 มี.ค. 2558 พร้อมขอความเห็นชอบร่างความร่วมมือเพื่อการทำงานร่วมกัน (Memorandum of Cooperation : MOC) และงบประมาณในช่วงแรกจำนวน 308 ล้านบาท แบ่งเป็น สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคมจำนวน 57.489 ล้านบาท สำหรับเป็นค่าดำเนินงาน ปรับปรุงสำนักงาน งบประชุม และงบลงพื้นที่ และการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) จำนวน 251.095 ล้านบาท

สำหรับเป็นค่าจ้างที่ปรึกษาสำรวจเพื่อการเวนคืน ค่าจ้างที่ปรึกษาจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ค่าใช้จ่ายในการร่วมปฏิบัติงานสำรวจพื้นที่กับฝ่ายจีน ส่วนงบประมาณในการดำเนินงานขั้นต่อไปจะเร่งสรุปและเสนอ ครม.เห็นชอบต่อไป ซึ่งที่ประชุม ครม.ได้ให้ข้อเสนอแนะหลายเรื่อง เช่น เร่งรัดในการเวนคืนที่ดินเนื่องจากเห็นว่ามีขั้นตอนมาก ทั้งการออก พ.ร.ฎ.-พ.ร.บ.เวนคืนที่ดินเพื่อก่อสร้าง

โดยสาระของร่าง MOC ที่ 2 ฝ่ายจะร่วมกันสำรวจและออกแบบมี 2 ส่วน คือ ไทยจะรับผิดชอบในการสนับสนุนข้อมูล บุคลากร การจัดให้มีเอกสารตามความต้องการและการขอความช่วยเหลือจากกองทัพ เช่นกรมแผนที่ทหารในการบินถ่ายภาพ รวมทั้งติดต่อประสานกระทรวงการต่างประเทศในเรื่องวีซ่า กระทรวงแรงงาน กระทรวงการคลัง ในการนำเครื่องมือเข้ามาสำรวจออกแบบ โดยไทยจะเร่งเดินหน้าในการจ้างที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมและที่ปรึกษาประเมินค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน ส่วนการก่อสร้างแบ่งเป็น 4 ตอน

สำหรับฝ่ายไทยจะรับผิดชอบเรื่องเวนคืนที่ดิน การสำรวจผลกระทบสิ่งแวดล้อม และรับผิดชอบงานก่อสร้างโยธาหลักโดยเปิดโอกาสให้เอกชนไทยเข้าร่วมโครงการ โดยจะเร่งกำหนดแนวทางที่ชัดเจนว่าจะเปิดประมูลหรือสัมปทาน PPP ในเร็วๆ นี้ ส่วนฝ่ายจีนรับผิดชอบเรื่องการออกแบบ การก่อสร้างอุโมงค์ หรือสะพานในบางพื้นที่ จะให้จีนดำเนินการ รวมถึงระบบราง ระบบอาณัติสัญญาณ พลังงานไฟฟ้า เครือข่ายด้านสื่อสาร เนื่องจากต้องนำเข้าเทคโนโลยี โดยไทยจะใช้ผลิตภัณฑ์ที่สามารถผลิตได้ในประเทศไทยเข้ามาร่วมมากที่สุด ส่วนการเดินรถ และซ่อมบำรุงจะมีการพิจารณาในเดือน พ.ค.นี้

อย่างไรก็ตาม ในการดำเนินโครงการรถไฟไทย-จีนนี้ ได้ขอความร่วมมือจากกระทรวงต่างๆ ให้การสนับสนุน ได้แก่ กระทรวงกลาโหม สนับสนุนภาพถ่าย แผนที่ดาวเทียม เทคโนโลยีการสำรวจระยะไกล และล่ามภาษาจีนและอังกฤษ, กระทรวงมหาดไทย สนับสนุนเรื่องการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน การมีส่วนร่วมของประชาชน การประชาสัมพันธ์ระดับจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงศึกษาธิการ สนับสนุนการเตรียมบุคลากรเพื่อรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี การวิจัยและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง, กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สนับสนุนเรื่องการพิจารณารายงาน EIA และการขอใช้พื้นที่, กระทรวงการคลังจะพิจารณาเรื่องรูปแบบการลงทุน การเงิน แหล่งเงินทุน การยกเว้นภาษีและค่าธรรมเนียมต่างๆ, กระทรวงเทคโนโลยีและการสื่อสาร ประสานงานกับ กสทช.ในเรื่องคลื่นความถี่ที่จะใช้ในระบบควบคุมการเดินรถ, กระทรวงการต่างประเทศ จะประสานข้อมูลด้านต่างๆ ด้านการทูต สำนักงบประมาณ ประสานเรื่องการใช้งบประมาณต่างๆ

ส่วนความคืบหน้าความร่วมมือในการพัฒนาระบบรางระหว่างไทย-ญี่ปุ่นนั้น ทางนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมช.คมนาคม ได้รายงานต่อนายกรัฐมนตรีให้รับทราบถึงกรณีที่ทางญี่ปุ่นสนใจที่จะเข้ามาร่วมพัฒนารถไฟ 2 เส้นทาง คือ 1. กาญจนบุรี-แหลมฉบัง ระยะทาง 574 กม. แบ่งเป็น 3 ช่วง คือ กรุงเทพฯ-กาญจนบุรี ระยะทาง 180 กม. กรุงเทพฯ-อรัญประเทศ ระยะทาง 255 กม. และกรุงเทพฯ-แหลมฉบัง ระยะทาง 139 กม. และ 2. กรุงเทพ-พิษณุโลก-เชียงใหม่ ระยะทาง 680 กม. ซึ่งญี่ปุ่นเสนอเป็นรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) โดยจะมีความชัดเจนหลังจากที่ทาง รมช.คมนาคมเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นในช่วงหลังสงกรานต์เพื่อเจรจาในรายละเอียด
กำลังโหลดความคิดเห็น