“ประจิน” สั่งผุดรถไฟทางคู่ รางมาตรฐาน 1.435 เมตร อีก 2 สาย เชื่อมตะวันออก-ตะวันตก และอีสานเหนือ-อีสานใต้ เร่งศึกษารายละเอียดเสนอ ครม.เพิ่มเติมในแผนยุทธศาสตร์คมนาคม ยันของบปี 59 สร้างสายแรกจากหนองคาย-สระบุรี-ระยอง เผยเม็ดเงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเกิน 2 ลล. เหตุมีท่าเรือและสนามบินด้วย ไม่เหมือนแผนรัฐบาลเดิม ยันความโปร่งใส มีทั้ง คตร., คสช.ช่วยกันตรวจสอบ ส่วนสุวรรณภูมิเฟส 2 ปรับแผนใหม่มีรันเวย์ 3 กรอบ 6.2-7.9 หมื่นล้าน
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า การดำเนินโครงการรถไฟทางคู่ขนาดรางมาตรฐาน 1.435 เมตร (Standard Gauge) เส้นทางหลักที่จะดำเนินการ คือ 1. ช่วงหนองคาย-สระบุรี-ระยอง และ 2. ช่วงสระบุรี-กรุงเทพฯ ระยะทางรวม 737 กม. ซึ่งได้รับงบประมาณในการสำรวจออกแบบแล้ว โดยจะแล้วเสร็จกลางปี 2558 จากนั้นจะขอตั้งงบประมาณปี 2559 สำหรับการก่อสร้าง ส่วนเส้นทางที่ 2 จะเป็นสายใต้ จากกรุงเทพฯ-หาดใหญ่-ปาดังเบซาร์ และสายเหนือ (เชียงของ-เด่นชัย-บ้านภาชี) ระยะทาง 655 กม. และในกรอบยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐาน ได้ขออนุมัติที่จะดำเนินการเพิ่มอีก 2 เส้นทาง คือ แนวจากตะวันตก-ตะวันออก (East-West Corridor) ของไทย จากตาก-พิษณุโลก-ขอนแก่น กับอีสานบน-อีสานใต้ จากหนองคาย-มุกดาหาร-อุบลราชธานี โดยจะต้องทำรายละเอียดเพิ่มเติมเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขออนุมัติต่อไป
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมได้รายงานความคืบหน้าแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย ระยะเวลา 8 ปี (2558-2565) ต่อที่ประชุม ครม.เมื่อวันที่ 21 ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นแผนที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เคยเห็นชอบแล้ว แบ่งเป็น 4 ยุทธศาสตร์ 5 แผนงาน ครอบคลุมการพัฒนาด้านการขนส่งทั้งระบบราง ถนน ทางน้ำ และทางอากาศ ซึ่งแตกต่างจากแผนลงทุนโครงสร้างพื้นฐานวงเงิน 2 ล้านล้านบาทเดิม ที่ไม่มีการลงทุนในส่วนของสนามบินและท่าเรือ จึงเป็นแผนงานที่มีโครงการต่างกัน
พล.อ.อ.ประจินกล่าวว่า วงเงินลงทุนรวมของโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล ขณะนี้ยังไม่สามารถบอกชัดเจนได้เนื่องจากต้องรอแผนปฏิบัติ (Action Plan) ซึ่งขณะนี้ทำไปแล้ว 70-80% จะแล้วเสร็จในเดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งเป้าหมายของรัฐบาลในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ผู้ให้บริการระบบขนส่งมีมาตรฐาน และมีความปลอดภัยตามหลักมาตรฐานโลก โดยมี ครม. คสช. และคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ร่วมตรวจสอบเรื่องความโปร่งใส
โดยโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ 6 เส้นทาง มีระยะทางรวม 903 กิโลเมตร วงเงินรวม 129,308 ล้านบาท จะเริ่มดำเนินงานในปี 2558 โดยขณะนี้อยู่ระหว่างประกวดราคา 1 เส้นทาง คือ สายฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย วงเงิน 11,348.35 ล้านบาท และอีก 2 เส้นทางกำลังเสนอ ครม.เปิดประกวดราคาคือ สายชุมทางจิระ-ขอนแก่น ระยะทาง 185 กิโลเมตร วงเงิน 26,007 ล้านบาท และสายประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร ระยะทาง 167 กิโลเมตร วงเงิน 17,293 ล้านบาท ส่วนอีก 4 เส้นทางรอเสนอผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (EIA) คือสายนครปฐม-หัวหิน ระยะทาง 165 กิโลเมตร วงเงิน 20,038 ล้านบาท 5. สายมาบกะเบา-นครราชสีมา ระยะทาง 132 กิโลเมตร วงเงิน 29,855 ล้านบาท 6. สายลพบุรี-ปากน้ำโพ ระยะทาง 148 กิโลเมตร วงเงิน 24,842 ล้านบาท
ส่วนโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เฟส 2 วงเงิน 6.25 หมื่นล้านบาทจะเสนอ ครม.เพื่อขอปรับเปลี่ยนแผนงานโครงการใหม่ โดยแบ่งการดำเนินงานเป็น 2 ช่วง วงเงินลงทุนอยู่ระหว่าง 6.2-7.9 หมื่นล้านบาท โดยจะมีการก่อสร้างทางวิ่ง (รันเวย์) ที่ 3 เพิ่มเติมเข้ามาด้วย โดยคณะทำงานของกระทรวงคมนาคมและบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. อยู่ระหว่างหารือให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนในเดือนพฤศจิกายนนี้