ASTVผู้จัดการรายวัน-ครม.เทกว่า 3 แสนล้าน กระตุ้นเศรษฐกิจไตรมาสสุดท้ายปี 57 ล้วงงบค้างท่อ เร่งจัดจ้างภายในสิ้นปี หวังสร้างงานทั่วประเทศ เชื่อภาคก่อสร้างคึกคักแน่ พร้อมแจก 4 หมื่นล้านให้ชาวนา รายละไม่เกิน 15,000 บาท โยน ธ.ก.ส.สำรองจ่ายไปก่อนแล้วจะจัดงบปี 59 คืนให้ เผย "บิ๊กตู่"สั่งรัฐมนตรีซื้อใจคนจนเป็นพวก แจกต่อเพิ่มวันหยุดปีใหม่ยาว 5 วันรวด ชาวนาพิจิตรบุกทำเนียบทวงเงินจำนำข้าว ขีดเส้นตาย 15 ต.ค. ไม่ได้เงินปิดถนนประท้วง
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วง 3 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2558 ตั้งแต่เดือนต.ค.-ธ.ค.2557 ของรัฐบาล ที่ทำเนียบรัฐบาลว่า ที่ประชุม ครม. ได้เห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ มาตรการเพื่อการสร้างงาน วงเงิน 3.24 แสนล้านบาท และมาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อย ด้วยการช่วยเหลือต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรชาวนา วงเงิน 4 หมื่นล้าน
โดยมาตรการเพื่อการสร้างงาน จะเร่งดำเนินการใน 5 ส่วน ได้แก่
1.ขยายเวลาการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 จากเดิมที่สิ้นสุดเมื่อเดือนก.ย.2557 ที่ผ่านมา ให้ไปจนถึงสิ้นเดือนธ.ค.2557 เนื่องจากพบว่า ยังมีงบลงทุนของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 ยังคงค้างอยู่ 1.47 แสนล้านบาท เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ ผลักดันการจ้างงานหรือลงนามในสัญญาให้แล้วเสร็จภายในปี 2557 คาดหวังว่าหากสามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้เพียง 20 เปอร์เซ็นต์ในส่วนนี้ ก็จะทำให้เกิดการจ้างงานทั่วประเทศ
2.งบลงทุนของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 ซึ่งมีอยู่ราว 4.19 แสนล้านบาท ได้ให้หน่วยงานต่างๆ เร่งรัดการทำสัญญาจ้างตามงบประมาณในส่วนนี้ราว 1.29 แสนล้านบาท ภายใน 3 เดือนแรกปีงบประมาณ ซึ่งแม้ว่าจะเป็นการเร่งรัดให้เกิดการจ้างงาน แต่ก็ได้กำชับให้ทำตามขั้นตอนอย่างถูกต้อง ทั้งการประมูล และการลงนามในสัญญา โดยคาดว่าสามารถเบิกจ่ายได้ 30-40 เปอร์เซ็นต์ ก็จะช่วยให้เศรษฐกิจที่ชะลอตัวอยู่ในขณะนี้กระเตื้องขึ้นมาได้
3.งบกลางเหลื่อมปีที่กันไว้ระหว่างปี 2555-57 จำนวน 7.8 พันล้านบาท และงบไทยเข้มแข็งปี 2552 ที่เหลืออยู่ราว 1.52 หมื่นล้านบาท รวมเป็น 2.3 หมื่นล้านบาท ในการดำเนินโครงการซ่อมสร้างอาคารสถานที่ และจัดซื้อครุภัณฑ์ของหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ ปรับปรุงซ่อมแซมอาคารเรียน และจัดหาครุภัณฑ์โรงเรียนในสังกัดสำนักคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จำนวน 6,850 แห่ง สร้างอาคารเรียนใหม่ 1,014 แห่ง และห้องสุขาโรงเรียน 1,000 หลัง วงเงิน 8,844.9 ล้านบาท ปรับปรุงซ่อมแซมอาคารเรียน และสาธารณูปโภคสถานศึกษาอาชีวะ 421 แห่ง วงเงิน 2,526 ล้านบาท ปรับปรุงอาคารและจัดหาครุภัณฑ์มหาวิทยาลัยของรัฐ วงเงิน 1,827.2 ล้านบาท ปรับปรุงซ่อมแซมอาคารสำนักงาน บ้านพัก ระบบชลประทาน วงเงิน 2,442 ล้านบาท ปรับปรุงซ่อมแซมและก่อสร้างบ้านพักของกระทรวงกลาโหม วงเงิน 736.6 ล้านบาท ก่อสร้างอาคารบ้านพักแพทย์ พยาบาล และจัดหาครุภัณฑ์ทางการแพทย วงเงิน 2,724.7 ล้านบาท และบำรุงรักษาทาง บูรณะทางสายหลัก วงเงิน 3,898.6 ล้านบาท
4.ทบทวนงบกลางเหลื่อมปีตั้งแต่ปี 2548-2556 ที่ยังคงค้างอยู่จำนวน 2.49 หมื่นล้านบาท ซึ่งยังไม่มีการกำหนดดำเนินการในเรื่องใด โดยให้กระทรวงต่างๆ ไปพิจารณาว่าจะนำไปใช้ในโครงการใด หากไม่มีความประสงค์จะเบิกจ่าย ตนก็จะเป็นผู้พิจารณาอีกครั้งว่านำไปใช้ในส่วนไหน ซึ่งงบประมาณในส่วนนี้จะพิจารณาตามความเหมาะสม อาจจะใช้หรือไม่ใช้ก็ได้
5.เร่งรัดอนุมัติส่งเสริมการลงทุน (BOI) ตามคำขอ 380 ราย วงเงินลงทุนรวมประมาณ 429,208 ล้านบาท
"เชื่อว่ามาตรการต่างๆ ในส่วนการสร้างงาน จะสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากของประเทศได้ โดยเฉพาะภาคธุรกิจก่อสร้างที่จะฟื้นตัวทั้งประเทศในช่วง 3 เดือนนี้ ซึ่งส่งผลให้มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นทั้งประเทศ ทั้งแรงงานไทย รวมไปถึงแรงงานต่างด้าวด้วย" ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าว
***แจก4หมื่นล้านให้ชาวนา
ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวว่า สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในส่วนที่ 2 คือ มาตการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อย ด้วยการช่วยเหลือต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรชาวนา วงเงิน 4 หมื่นล้าน ได้ให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จ่ายเงินให้แก่ชาวนาที่มีที่ดินทำกินของตัวเอง เน้นกลุ่มที่ไม่ได้เช่าที่ดินผู้อื่น สำหรับผู้ที่มีที่ดิน 1-15 ไร่ ซึ่งมีอยู่ราว 1.8 ล้านครัวเรือน จะได้รับเงินช่วยเหลือ 1,000 บาทต่อไร่ ส่วนผู้ที่มีที่ดินมากกว่า 15 ไร่ ที่มีอยู่ราว 1.6 ล้านครัวเรือน จะได้รับเงินไม่เกิน 15,000 บาท
ทั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือต้นทุนการผลิตให้แก่ชาวนา เนื่องจากราคาขายข้าวในปีนี้อยู่ที่ราว 8,000 บาทต่อตัน ในขณะที่ต้นทุนการผลิตเฉลี่ยบวกกำไรพื้นฐาน อยู่ที่ราว 9,000 ล้านบาท โดย ธ.ก.ส. จะเริ่มจ่ายเงินโดยการโอนเข้าบัญชีเกษตรกรชาวนา 3.4 ล้านครัวเรือน ที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมส่งเสริมการเกษตร และเปิดบัญชีไว้กับธ.ก.ส. ตั้งแต่วันที่ 20 ต.ค.นี้ โดยงบประมาณในส่วนนี้ ธ.ก.ส. จะเป็นผู้สำรองจ่ายไปก่อน และรัฐบาลจะตั้งงบประมาณเพื่อใช้คืนในการจัดทำงบประมาณปี 2559 โดยเชื่อว่าไม่กระทบกับสภาพคล่องของ ธ.ก.ส. อย่างแน่นอน
"ยืนยันว่ามาตรการนี้ ไม่ได้เป็นประชานิยม เพราะรัฐบาลไม่ได้ต้องการคะแนนเสียง เป็นเพียงแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยเท่านั้น ไม่ได้เข้าตำราประชานิยมแต่อย่างใด และยังเป็นเพียงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของปี 2557 เพียงปีเดียว ไม่ใช่มาตรการช่วยเหลือในระยะยาว เพราะจะมีการพิจารณาอีกครั้ง" ม.ร.ว.ปรีดียาธร กล่าว
***ปีใหม่หยุดยาว 5 วัน31 ธ.ค.- 4 ม.ค.
ม.ร.ว.ปรีดียาธรกล่าวอีกว่า ที่ประชุม ครม. มีมติให้วันศุกร์ที่ 2 ม.ค.2558 เป็นวันหยุดราชการพิเศษ ส่งผลให้ในช่วงเทศกาลปีใหม่ จะมีวันหยุดติดต่อกัน 5 วัน ตั้งแต่วันพุธที่ 31 ธ.ค.2557 ถึงวันอาทิตย์ที่ 4 ม.ค.2558 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยว
***ซื้อใจประชาชนเป็นพวกรัฐบาล
นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุม ครม. ว่า ช่วงท้ายการประชุม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พูดถึงนโยบายสร้างความปรองดองและปฏิรูป ว่า ขอให้รัฐมนตรีทุกคนช่วยกันดึงประชาชนเข้ามาเป็นพวกให้ได้มากที่สุด โดยเฉพาะกลุ่มรากหญ้า เกษตรกร ชาวนาที่รายได้น้อย มีที่ดินทำนาไม่มาก และชาวสวนยาง ต้องได้รับการดูแลผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในครั้งนี้ และให้ระวังการใช้คำพูด เวลาไปพูดกับประชาชน เพราะเดี๋ยวจะมองว่าเป็นประชานิยม
ส่วนด้านการท่องเที่ยว จากเหตุการณ์ฆาตกรรมนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษ ที่เกาะเต่า จ.สุราษฎร์ธานี ให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงมหาดไทย ลงไปดูความเรียบร้อย ความปลอดภัย ให้ท้องถิ่น ให้ประชาชนช่วยเป็นหูเป็นตา ส่วนการเคลื่อนไหวทางการเมือง ถ้าใครผิด หรือติดคดี ก็ต้องพยายามนำตัวมาดำเนินคดีในประเทศไทย โดยเฉพาะคนที่อยู่ประเทศกัมพูชา สำหรับการแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้หน่วยงานด้านความมั่นคงไปดูแนวทางการทำงานให้สอดคล้องพระราชดำรัสในหลวง เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ให้ ผบ.ทบ. คนใหม่ดูแลการทำงานในพื้นที่ และการทำงานไม่ใช่แค่เอากลุ่มเรา หรือแค่คนในรัฐบาลเท่านั้น แต่ควรมีการเชิญผู้ทรงคุณวุฒิ นักธุรกิจ มากินกาแฟ พูดคุยกัน ไม่ต้องถึงขนาดดินเนอร์ทอล์ก อย่าอยู่โดดเดี่ยว ต้องหาเพื่อน หาคนช่วยคิดบ้าง
**สั่ง"เกษตร"ขอชาวนาอย่าทำนาปรัง
นายยงยุทธ ยังกล่าวถึงการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้ง ว่า นายกฯ ได้สั่งการให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กองทัพ เร่งหามาตรการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะปัญหาภัยแล้ง ที่นายกฯ แสดงความเป็นห่วง เนื่องจากรายงานกรมชลประทานคาดการณ์ปริมาณน้ำในเขื่อนที่เก็บกักได้ในช่วงหน้าฝนปีนี้ มีไม่เพียงพอสำหรับให้ชาวนาในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา และลุ่มน้ำแม่กลอง ปลูกข้าวนาปรังในฤดูแล้งที่จะถึงนี้ หรือตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.2557-เม.ย.2558 โดยขอให้กระทรวงเกษตรฯ ไปทำความเข้าใจชาวนา เพื่อขอไม่ให้มีการทำนาปรังในช่วงเวลาดังกล่าว แล้วให้คำแนะนำว่า พื้นที่ไหนควรทำอะไร
***"บิ๊กตู่"หวังเศรษฐกิจไทยเติบโตขึ้น
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แถลงภายหลังการประชุม ครม. ถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ว่า มาตรการภาพรวมส่วนใหญ่เป็นเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณที่มีอยู่ และที่ค้างอยู่ ซึ่งได้ดึงออกมาเพื่อปฏิบัติงานเร่งด่วน โดยแยกประเภท คือ เรื่องการซ่อมแซม และสร้าง เพื่อนำไปสู่การสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ และการดูแลเกษตรกรที่มีรายได้น้อย เพื่อผลักดันให้เศรษฐกิจกระเตื้องขึ้น
เมื่อถามว่า แผนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจนี้ จะส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า คาดหวังอย่างนั้น และเป็นวิธีการแก้ปัญหาตามหลักการอย่างนั้นอยู่แล้ว แต่อยู่ที่วิธีการตัดสินใจ ซึ่ง ครม. และทุกกระทรวง ทบวง กรม เห็นชอบร่วมกัน โดยการขับเคลื่อน แบ่งออกเป็น 2 อย่าง คือ 1.งบประมาณปี 2558 หรือ งบปี 2557 ที่ค้างอยู่ยังไม่ดำเนินการ และ 2.ให้กระทรวงการคลังไปตามเก็บมาเพิ่มอีก เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าเราพยายามทำทุกวิถีทางแล้ว ทั้งงบประมาณใช้จ่ายภาครัฐ มาตรการทางภาษี ทั้งหมดเป็นการแก้ปัญหาตามหลักการแก้ปัญหาเศรษฐกิจโลกที่เขาทำกัน แต่ของเราคนที่มีผลกระทบ รายได้น้อยมีจำนวนมากเราต้องแก้ไปตามลำดับ ดูแลทุกคน
เมื่อถามว่า ตอนนี้ตัวเลขส่งออกติดลบ จะแก้ปัญหาอย่างไร พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ต้องไปดูว่าติดลบเพราะอะไร คงไม่ใช่เป็นความบกพร่องของเราแต่ฝ่ายเดียว การส่งออกติดลบ ไม่ใช่ส่งของไม่ได้ แต่เป็นเพราะเขาไม่ซื้อ เพราะกำลังการซื้อน้อยลง เศรษฐกิจโลกกำลังจะลง นั่นคือสิ่งที่เราต้องเตรียมการในวันข้างหน้า ที่เราเข้ามาวันนี้ เราได้เตรียมการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ไว้ แต่จะเกิดผลได้ทันทีคงยาก ต้องใช้เวลา เราจะแก้วันนี้ให้ได้ก่อน จะต้องขยายตลาดเพิ่มอย่างไร และดูมาตรการต่างๆ
**ยันถ้าเศรษฐกิจไม่โตไม่ใช่ความผิด
เมื่อถามว่า ถ้าเศรษฐกิจในปีนี้ ไม่โตตามที่คาดไว้ จะถือว่าเป็นความผิด เพราะการบริหารของรัฐบาลหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ตอบยาก เรามาแก้ปัญหาขณะนี้ และเราแก้ปัญหาแบบที่ใครเขาไม่เคยที่จะกล้าแก้มาก่อน เรามาแก้ปัญหาเป็นระบบ ไม่เคยมีรัฐบาลไหนทำ เราแก้ให้เป็นระบบมากขึ้น
"ถ้าจะเป็นความผิดของเรา ก็แล้วแต่สังคม ถ้าอยากจะเป็นแบบเดิมก็เอา ผมคิดว่าอย่าเอามาเป็นสิ่งที่ว่าไม่เรียบร้อย ไม่ดีแล้วเอามาโทษ มาหาว่าเราไม่ดี ใช่ผมรับผิดชอบ เพราะผมเป็นหัวหน้ารัฐบาล แต่ประเด็นสำคัญ ปัญหาเหล่านี้ สะสมมานานแค่ไหน ลองไปทบทวนดูว่าเกิดอะไรขึ้นมาบ้าง และในอดีตแก้ปัญหามาอย่างไร วันนี้มาแก้ปัญหาอีกวิธีการหนึ่ง ซึ่งจะทำให้เกิดความยั่งยืน แต่ต้องใช้เวลา ฉะนั้นคำว่า ใช้เวลา ต้องพิจารณาดู เวลาที่ว่าควรจะยังไง ถ้าเราทำได้เร็วก็จบ ถ้าทำไม่ได้เร็ว ก็ว่ากันต่อไป ผมไม่รู้" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
เมื่อถามว่า มาตรการเศรษฐกิจที่อนุมัติไป คาดว่าจะทำให้ค่าจีดีพีสูงขึ้นหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เราคาดการณ์ไม่ได้ขนาดนั้น เพราะเม็ดเงินจะลง ยังไม่ลงไปเลย เราทำเร็วที่สุดแล้วและเต็มที่แล้ว แต่ต้องเข้าใจว่าผ่านขั้นตอนเยอะ ทั้งนี้ การใช้จ่ายงบประมาณไม่ได้มาเป็นก้อน แต่มาเป็นเอกสาร และเวลานี้อยู่ที่กระทรวงการคลัง ซึ่งจะต้องเบิกเม็ดเงินมาตั้งโครงการจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ
ส่วนเรื่องการทุจริต ได้สั่งให้ตั้งคณะกรรมการ มอบให้รองนายกฯ รับผิดชอบเป็นเขต เป็นจังหวัด โดยจะมีคณะกรรมการไปตรวจสอบ และสุ่มตรวจโครงการที่ลงทุนว่ามีทุจริตตรงไหน จะลงโทษทันที นี่ถือเป็นมาตรการเร่งด่วน
เมื่อถามว่า โจทย์ที่ยากที่สุดคือเรื่องเศรษฐกิจติดลบในรอบ 30 กว่าเดือน ซึ่งเป็นช่วงที่ นายกฯ เข้ามาบริหารประเทศพอดี ในที่ประชุมครม.กระทรวงที่เกี่ยวข้องได้รายงานสถานการณ์อย่างไร พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ทราบ เขาทำอยู่ และรายงานมาโดยตลอด
**นายกฯยันไปร่วมประชุมอาเซม
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงการเดินทางไปประชุมสุดยอดผู้นำเอเชีย-ยุโรป (อาเซม) ในระหว่างวันที่ 16-17 ต.ค.นี้ ที่เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี ว่า ก็ต้องไป
เมื่อถามว่าการเดินทางไปประชุมที่พม่า วันที่ 9-10 ต.ค.นี้ จะนำประเด็นเขตเศรษฐกิจพิเศษท่าเรือน้ำลึกทวาย ไปหารือด้วยหรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า จะคุยหมดทุกเรื่อง
สำหรับกรณีที่ชาวนาบางส่วน ที่ยังไม่ได้รับเงินจากโครงการรับจำนำข้าวนั้น ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการสอบสวน และติดตามอยู่ ใครที่ยังไม่ได้ กำลังตรวจสอบว่าผิดพลาดตรงไหน จะดูให้
"ถ้าต้องให้ ก็คือต้องให้ เป็นเรื่องของงบประมาณผูกพัน ไปถามสิว่าเป็นความรับผิดชอบของใคร รัฐบาลผมอีกหรือ ทีเขาทำผิดไม่เห็นถาม มาถามลงที่ผมนี่" นายกฯกล่าว
ส่วนที่ได้นำผู้นำเหล่าทัพ ทหาร ตำรวจระดับสูง ที่เกษียณอายุราชการเข้าพบ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ เมื่อวันที่ 30 ก.ย.ที่ผ่านมา ที่บ้านสี่เสาฯนั้น ก็ไม่มีอะไร ท่านให้กำลังใจ เป็นเพียงการเข้าไปลา ในฐานะลูกหลานทหารเท่านั้น ก็พาเหล่าทัพรุ่นเก่าไปอำลา ท่านก็เป็นกำลังใจกลับมาในการแก้ปัญหาชาติบ้านเมือง ทหารไม่เคยทะเลาะเบาะแว้งกัน
**ชาวนาพิจิตรฯบุกทวงเงินจำนำข้าว
ที่ทำเนียบรัฐบาล กลุ่มเกษตรกรจากจังหวัดพิจิตร และนครสวรรค์ ได้เดินทางมายื่นหนังสือต่อ พล.อ.ประยุทธ์ ผ่านศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี พร้อมกับเรียกร้องให้นายกฯ เร่งรัดการจ่ายเงินให้ชาวนาตามโครงการรับจำนำข้าวเปลือกปีการผลิต 2556/2557 ซึ่งจนถึงขณะนี้ผ่านมากว่า 11 เดือน ชาวนายังไม่ได้รับเงินจากโครงการดังกล่าว ทำให้ได้รับความเดือดร้อนให้เกษตรกรทั้งค่าครองชีพ ค่าปุ๋ย ค่ายาค่าเช่านา จึงขอเร่งรัดอนุมัติจ่ายเงินให้กับเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อน รวม 121 ราย จำนวนเงิน 20,646,007.01 บาท ตลอดจนขอให้ ธ.ก.ส. ลดดอกเบี้ยให้เกษตรกร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนอีกทางหนึ่งด้วย โดยชาวนาจะรอคำตอบถึงวันที่ 15 ต.ค.นี้ หากยังไม่มีความชัดเจน จะปิดถนนประท้วงต่อไป
** หมอวรงค์ติงนโยบายขายข้าวไม่โปร่งใส
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่นางดวงพร รอดพยาธิ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ยืนยันแนวทางการระบายข้าวแบบเปิดขายตรงให้กับผู้ส่งออกที่มีคำสั่งซื้อว่าโปร่งใส ตรวจสอบได้ เนื่องจากมีการประกาศเงื่อนไขชัดเจนและมีเกณฑ์ราคาขั้นต่ำว่า ตนเข้าใจดีว่าอธิบดีเป็นคนดี แต่อาจจะรู้ไม่เท่าทัน เพราะใบพีโอ หรือคำสั่งซื้อนั้นหามาได้ไม่ยาก จะเอากี่ใบ เมื่อไรก็ได้ และที่สำคัญ การขายข้าววิธีดังกล่าว เป็นวิธีการหากินแบบเก่าๆ ที่เคยเกิดขึ้น แม้จะยืนยันว่ามีการตั้งราคาขั้นต่ำขึ้นมา ตนต้องย้ำว่า ช่วงนี้อาจจะโปร่งใส แต่อนาคตนั้น มีปัญหาแน่ เพราะวิธีเจรจาแบบดังกล่าว เป็นช่องทางทำมาหากินที่วงการค้าข้าวไม่สบายใจ และที่สำคัญการขายแบบนี้ จะไปมีผลต่อเสถียรภาพราคาข้าวเปลือกของชาวนาตามมาได้