xs
xsm
sm
md
lg

คลังขายบอนด์แสนล้าน ดอกเบี้ย 4% “สมหมาย” มั่นใจขายเกลี้ยง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


คลังเตรียมขายพันธบัตรออมทรัพย์พิเศษ รุ่น “สุขกันเถอะเรา” วงเงิน 1 แสนล้านบาท ดอกเบี้ยเฉลี่ย 4% เพื่อชดเชยขาดดุล พร้อมขายพันธบัตร ธ.ก.ส.วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท ชดเชยขาดทุนจำนำข้าว ในระหว่างวันที่ 12-23 ม.ค.นี้ ผ่านแบงก์กรุงเทพ กรุงไทย กสิกรไทย ไทยพาณิชย์ และ ธ.ก.ส. “สมหมาย” มั่นใจขายเกลี้ยงเพราะดอกเบี้ยจูงใจ เผยช่วงแรกกำหนดวงเงินซื้อต่อรายไม่เกิน 2 ล้าน หวังกระจายถึงมือรายย่อย “สมหมาย” เผยเข้าพบหม่อมอุ๋ยถกงบปี 59 ภายในสัปดาห์นี้ ยันขาดดุลเพิ่มขึ้นแน่

นายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังจะเปิดขายพันธบัตรออมทรัพย์รุ่นพิเศษ “สุขกันเถอะเรา” วงเงิน 1 แสนล้านบาทในปีงบประมาณ พ.ศ.2558 และของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) พ.ศ.2558 โดยพันธบัตรเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณปี 58 วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท อายุ 10 ปี กำหนดอัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันได โดยปีที่ 1-3 อัตราดอกเบี้ย 3%, ปีที่ 4-7 อัตราดอกเบี้ย 4%, ปีที่ 8-10 อัตราดอกเบี้ย 5% คิดเป็นอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 10 ปีอยู่ที่ 4% และพันธบัตรเพื่อชดเชยการขาดทุนในโครงการรับจำนำข้าว วงเงิน 5 หมื่นล้านบาท อายุ 5 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ 3.8%

“กระทรวงการคลังมีนโยบายในการส่งเสริมการออมของภาคประชาชน โดยเตรียมขายพันธบัตรออมทรัพย์พิเศษ รุ่น “สุขกันเถอะเรา” วงเงิน 1 แสนล้านบาท ในระหว่างวันที่ 12-23 ม.ค.58 นี้ ผมมั่นใจว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีจากตลาด เนื่องจากดอกเบี้ยกำหนดอัตราไว้น่าจูงใจ” นายสมหมาย กล่าวและว่า กระทรวงการคลัง กำหนดวงเงินซื้อขั้นสูงไว้ที่ 2 ล้านบาทต่อราย ในช่วงสัปดาห์แรกของการจำหน่ายคือ วันที่ 12-18 ม.ค.2558 เพื่อเป็นการกระจายการเข้าถึงพันธบัตรออมทรัพย์อย่างทั่วถึง หลังจากนั้นจึงเปิดขายไม่กำหนดเพดาน โดยจะขายผ่านธนาคารทั้ง 4 แห่ง คือ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกสิกรไทย และธนาคารไทยพาณิชย์ ส่วนพันธบัตรของ ธ.ก.ส.จะเปิดขายที่เคาน์เตอร์ของ ธ.ก.ส.ด้วย

นายกฤษฎา อุทยานิน ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กล่าวว่า พันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี จะจำหน่ายเป็นแบบไร้ใบพันธบัตร ส่วนของอายุ 5 ปีนั้น จะเป็นแบบมีใบพันธบัตร ผู้ที่มีสิทธิซื้อคือ ประชาชนทั่วไป มูลนิธิ สมาคม สถาบันการเงิน และนิติบุคคลที่ไม่มีการแสวงหากำไร สามารถชำระได้ทั้งเงินสด หักบัญชีเงินฝาก และเช็ค โอนกรรมสิทธิ์ได้ตั้งแต่วันที่ 12 ก.ค.2558 เป็นต้นไป และสามารถใช้พันธบัตรเป็นหลักประกันได้ขึ้นอยู่กับเกณฑ์รับประกันของหน่วยงานนั้นๆ

การชำระอัตราดอกเบี้ยจะชำระปีละ 2 งวด ในวันที่ 12 ม.ค.และ 12 ก.ค.ของทุกปี จนกว่าจะครบอายุ ในส่วนพันธบัตร 10 ปี ครบอายุชำระในวันที่ 12 ม.ค.68 มีกระทรวงคลังเป็นผู้ออกพันธบัตร และ 5 ปี ครบชำระวันที่ 12 ม.ค.63 มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกันเงินต้น และดอกเบี้ย

***“สมหมาย” พบหม่อมอุ๋ยถกงบปี 59

นายสมหมาย เปิดเผยว่า ภายในเดือน ก.พ.นี้ จะเข้าพบ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ เพื่อหารือเกี่ยวกับกรอบการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2559 เบื้องต้นต้องมีการทำงบประมาณแบบขาดดุลเพิ่มขึ้น แต่คงไม่ถึง 5 แสนล้านบาทจนเต็มกรอบ 20% ของงบประมาณรายจ่าย อย่างไรก็ตาม ตนยอมรับว่างบประมาณสมดุลดีแน่เพียงแต่ต้องดูเวลาด้วย สำหรับแนวทางการขาดดุลงบประมาณมองว่าสามารถเพิ่มขึ้นได้ แต่รายได้ก็ต้องเพิ่มขึ้นด้วย ที่ผ่านมา การคิดโครงการลงทุนระยะกลาง และระยะยาวมักจะถูกเปลี่ยนเมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาล โดยสิ่งที่รัฐบาลนี้กำลังคิดก็คือ มองเห็นความจำเป็นที่ต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพราะละทิ้งมานาน จนการลงทุนเหลือไม่มาก ส่วนการจัดทำงบฯ กลางปี 2558 เพิ่มเติมนั้นไม่มี ตนไม่เคยพูดว่าจะทำเลย

“ขาดดุลมากกว่าเดิมแน่ แต่ต้องตกลงกับรองนายกฯ ว่าจะเป็นเท่าใด ส่วนแนวคิดที่จะทำงบประมาณแบบสมดุลตามแผนเดิมในปี 2560 ต้องเลื่อนไปก่อน เพราะก่อนหน้านี้ที่ตั้งกรอบดังกล่าวไว้เพราะกลัวว่ารัฐบาลจะไปทำโครงการประชานิยมจนขาดความระมัดระวัง ถึงตอนนี้ไม่ใช่ ตอนนี้ต้องกระตุ้นศรษฐกิจ” นายสมหมาย กล่าว

ก่อนหน้านี้ รัฐมนตรีคลังเปิดเผยว่า จะเสนอให้มีการทำงบประมาณแบบขาดดุล 3 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นจากปี 58 ที่ขาดดุล 2.5 แสนล้านบาท เพื่อให้มีงบประมาณกระจายไปใช้ในโครงการที่มีความจำเป็น โดยเฉพาะด้านการศึกษา ด้านสาธารณสุข และโครงการลงทุนพื้นฐาน ซึ่งที่ผ่านมา ยอมรับว่าการใช้จ่ายงบประมาณยังไม่มีความสมบูรณ์ แต่ละรัฐบาลตั้งงบประมาณมาใช้ในโครงการของตัวเองการทำงบประมาณแบบแบบขาดดุลเพิ่มขึ้น ภายใต้เงื่อนไขต้องมีการจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้น จากการปฏิรูประบบการจัดเก็บภาษีด้วย โดยมั่นใจว่าในปีงบประมาณ 2559 การจัดเก็บรายได้จะเพิ่มขึ้นพอสมควร ทั้งจากการปรับปรุงประสิทธิภาพจัดเก็บ และการอุดช่องโหว่ ซึ่งการจัดเก็บอาจยังไม่เต็มที่เพราะยังไม่ได้รวมภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่คาดว่าจะเริ่มจัดเก็บได้ในกลางปี 2560 ส่วนจะจัดเก็บจะเพิ่มมากน้อยแค่ไหนนั้นขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจและระดับรายได้ประชาชนหากเศรษฐกิจโตได้ 4-5% ต่อปี ก็จะเก็บรายได้มาก แต่ก็ยังจำเป็นต้องมีการทำงบประมาณขาดดุลเช่นเดิม

นอกจากนี้ รัฐบาลยังมีความจำเป็นที่จะต้องกู้เพื่อมาลงทุน โดยเฉพาะโครงการลงทุนใหญ่ๆ ในระยะยาว เพื่อเป็นการวางรากฐานของประเทศ ซึ่งต้องหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพราะอาจไปแตะต้องทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่บ้าง ในกรณีเช่น การลงทุนโครงการรถไฟรางคู่ ต้องมีการกู้เงินออกพันธบัตรในประเทศ แต่สินค้าทุนยังจำเป็นที่ต้องมีการนำเข้าจากต่างประเทศ ก็ต้องนำเงินสกุลบาทไปแลกเงินตราต่างประเทศออกมา ซึ่งเป็นกระบวนการค้าตามปกติ ไม่ได้ไปใช้ในลักษณะตั้งกองทุนจากเงินทุนสำรอง
กำลังโหลดความคิดเห็น