xs
xsm
sm
md
lg

แบงก์ชาติหนุนทำงบขาดดุล มั่นใจคุมเงินเฟ้ออยู่ในกรอบ พร้อมส่งสัญญาณ ดบ. ในระยะต่อไป

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ มั่นใจอัตราเงินเฟ้อไม่หลุดกรอบล่าง เผยดอกเบี้ยนโยบายในระยะต่อไปจะต้องดูสถานการณ์เศรษฐกิจ พร้อมหนุนรัฐบาลทำงบประมาณขาดดุลต่อเนื่อง หลังจากเศรษฐกิจโดยเฉพาะตัวเลขการบริโภค และการลงทุนของภาคเอกชนในเดือน พ.ย.57 ถือว่าฟื้นช้ากว่าที่คาดการณ์

จากกรณีคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้ใช้กรอบอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) ในปี 58 ที่ 2.5% บวกลบไม่เกิน 1.5% เมื่อวานนี้ (6 ม.ค.) นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า จากการประเมินของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) หากอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำกว่ากรอบก็จะสามารถดำเนินนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายได้มากขึ้น แต่หากเงินเฟ้อสูงกว่า 2.5% การดำเนินนโยบายทางการเงินก็จำเป็นต้องมีความเข้มงวดเพิ่มมากขึ้น แต่เชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อในปีนี้จะไม่หลุดกรอบล่าง

“การกำหนดกรอบอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปีนี้ที่ 2.5% ในช่วงคาดการณ์ 1-4% เชื่อว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะไม่ต่ำกว่า 1% แม้ว่าราคาน้ำมันจะปรับตัวลดลงมาที่ปัจจุบันเฉลี่ย 50 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล โดย ธปท.ยังคงคาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันจะปรับตัวสูงขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง โดยเฉลี่ยทั้งปีน่าจะอยู่ที่ 70 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล กนง.จะใช้เครื่องมือทางการเงินที่มีอยู่ ดูแลอัตราเงินเฟ้อของไทยในปี 58 ไม่ให้สูง หรือต่ำจนเกินไป” นายประสาร กล่าวและว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายในระยะต่อไปจะต้องพิจารณาถึงภาวะเศรษฐกิจ ประสิทธิผล จากการประเมินของ กนง.เห็นว่าที่ผ่านมา นโยบายการเงินมีความผ่อนคลาย และเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แม้การฟื้นตัวจะยังเป็นไปอย่างอ่อนแอ แต่ก็เห็นการสัญญาณการฟื้นตัวต่อเนื่องในเดือน พ.ย.ที่การบริโภค และการลงทุนด้านเอกชนยังขยายตัวได้ดีเมื่อเทียบกับ ต.ค. แม้ว่าจะขยายตัวช้ากว่าที่คาด แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวลจนเกินไป

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบให้ใช้กรอบอัตราเงินเฟ้อทั่วไปแทนกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อพื้นฐานในการบริหารนโยบายการเงิน เพื่อสะท้อนค่าครองชีพประชาชนได้ดีขึ้น และยืดหยุ่นดีกว่าแบบเดิม

นายประสาร ยังแสดงความเห็นด้วยต่อกระทรวงการคลังที่จะต้องจัดทำงบประมาณขาดดุลต่อเนื่องไปอีกในปีงบประมาณ 59 เนื่องจากเศรษฐกิจไทยในขณะนี้ฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดไว้ ประกอบกับตัวเลขการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนในเดือน พ.ย.57 แม้จะฟื้นตัวขึ้นจากเดือน ต.ค.57 แต่ก็ยังถือว่าช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้เช่นกัน

โดยนายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง กล่าวว่า ภายในสัปดาห์นี้จะหารือกับ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับกรอบการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2559 โดยจะเสนอให้ทำงบประมาณขาดดุลประมาณมากกว่า 2.5 แสนล้านบาท เพื่อให้มีงบประมาณกระจายไปใช้ในโครงการที่มีความจำเป็น โดยเฉพาะด้านการศึกษา ด้านสาธารณสุข และโครงการลงทุนพื้นฐาน ซึ่งที่ผ่านมายอมรับว่า การใช้จ่ายงบประมาณยังไม่มีความสมบูรณ์ แต่ละรัฐบาลตั้งงบประมาณมาใช้ในโครงการของตัวเอง

ทั้งนี้ การทำงบประมาณแบบขาดดุลเพิ่มขึ้นภายใต้เงื่อนไขต้องจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นจากการปฏิรูประบบการจัดเก็บภาษีด้วย มั่นใจว่าในปีงบประมาณ 2559 การจัดเก็บรายได้จะเพิ่มขึ้นพอสมควร ทั้งจากการปรับปรุงประสิทธิภาพจัดเก็บ และอุดช่องโหว่ ซึ่งการจัดเก็บอาจยังไม่เต็มที่เพราะยังไม่ได้รวมภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่คาดว่าจะเริ่มจัดเก็บได้ในปี 2560 ส่วนจะจัดเก็บเพิ่มมากน้อยแค่ไหนนั้นขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจและระดับรายได้ประชาชน หากเศรษฐกิจโตได้ 4-5% ก็จะเก็บรายได้มาก แต่ก็ยังจำเป็นต้องมีการทำงบประมาณขาดดุลเช่นเดิม

“รัฐบาลยังมีความจำเป็นที่จะต้องกู้เพื่อมาลงทุนโดยเฉพาะโครงการลงทุนใหญ่ๆ ในระยะยาวเพื่อวางรากฐานของประเทศ ซึ่งต้องหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพราะอาจไปแตะต้องทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่บ้าง เช่น การลงทุนโครงการรถไฟทางคู่ต้องกู้เงินโดยออกพันธบัตรในประเทศ แต่สินค้าทุนยังจำเป็นที่ต้องมีการนำเข้าจากต่างประเทศ” นายสมหมาย กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น