xs
xsm
sm
md
lg

ครม.ทุ่มงบฯ กว่า 3 แสนล้านกระตุ้น ศก. แจกชาวนาไร่ละ 1 พัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“หม่อมอุ๋ย” เปิดแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ ทุ่มงบฯ กว่า 3 แสนล้านบาท ล้วงงบฯ ค้างท่อเร่งจัดจ้างภายในสิ้นปี หวังสร้างงานทั่วประเทศ ทำภาคก่อสร้างคึกคัก พร้อมแจก 4 หมื่นล้านให้ชาวนาเพื่อช่วยเหลือต้นทุนการผลิตไร่ละ 1 พันบาท ยันไม่ใช่ประชานิยม



ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ แถลงหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วง 3 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2558 ตั้งแต่เดือน ต.ค.-ธ.ค. 2557 ของรัฐบาลว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ มาตรการเพื่อการสร้างงาน วงเงิน 3.24 แสนล้านบาท ประกอบด้วย 5 ส่วน ได้แก่ 1. ขยายเวลาการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 จากเดิมที่สิ้นสุดเมื่อเดือน ก.ย. 2557 ที่ผ่านมา ให้ไปจนถึงสิ้นเดือน ธ.ค. 2557 เนื่องจากพบว่างบลงทุนของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 ยังคงค้างอยู่ 1.47 แสนล้านบาท เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ ผลักดันการจ้างงานหรือลงนามในสัญญาให้แล้วเสร็จภายในปี 2557 คาดหวังว่าหากสามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้เพียง 20 เปอร์เซ็นต์ในส่วนนี้ก็จะทำให้เกิดการจ้างงานทั่วประเทศ

2. งบลงทุนของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 ซึ่งมีอยู่ราว 4.19 แสนล้านบาท ได้ให้หน่วยงานต่างๆ เร่งรัดการทำสัญญาจ้างตามงบประมาณในส่วนนี้ราว 1.29 แสนล้านบาทภายใน 3 เดือนแรกปีงบประมาณ ซึ่งแม้ว่าจะเป็นการเร่งรัดให้เกิดการจ้างงาน แต่ก็ได้กำชับให้ทำตามขั้นตอนอย่างถูกต้อง ทั้งการประมูล และการลงนามในสัญญา โดยคาดว่าสามารถเบิกจ่ายได้ 30-40 เปอร์เซ็นต์ก็จะช่วยให้เศรษฐกิจที่ชะลอตัวอยู่ในขณะนี้กรเตื้องขึ้นมาได้

3. งบกลางเหลื่อมปีที่กันไว้ระหว่างปี 2555-57 จำนวน 7.8 พันล้านบาท และงบไทยเข้มแข็งปี 2552 ที่เหลืออยู่ราว 1.52 หมื่นล้านบาท รวมเป็น 2.3 หมื่นล้านบาท ในการดำเนินโครงการซ่อมสร้างอาคารสถานที่ และจัดซื้อครุภัณฑ์ของหน่วยงานต่างๆ ได้แก่ ปรับปรุงซ่อมแซมอาคารเรียน และจัดหาครุภัณฑ์ โรงเรียนในสังกัดสำนักคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จำนวน 6,850 แห่ง สร้างอาคารเรียนใหม่ 1,014 แห่ง และห้องสุขาโรงเรียน 1,000 หลัง วงเงิน 8,844.9 ล้านบาท ปรับปรุงซ่อมแซมอาคารเรียน และสาธารณูปโภคสถานศึกษาอาชีวะ 421 แห่ง วงเงิน 2,526 ล้านบาท ปรับปรุงอาคารและจัดหาครุภัณฑ์มหาวิทยาลัยของรัฐ วงเงิน 1,827.2 ล้านบาท ปรับปรุงซ่อมแซมอาคารสำนักงาน บ้านพัก ระบบชลประทาน วงเงิน 2,442 ล้านบาท ปรับปรุงซ่อมแซมและก่อสร้างบ้านพักของกระทรวงกลาโหม วงเงิน 736.6 ล้านบาท ก่อสร้างอาคารบ้านพักแพทย์ พยาบาล และจัดหาครุภัณฑ์ทางการแพทย วงเงิน 2,724.7 ล้านบาท และบำรุงรักษาทาง บูรณะทางสายหลัก วงเงิน 3,898.6 ล้านบาท

4. ทบทวนงบกลางเหลื่อมปีตั้งแต่ปี 2448-2556 ที่ยังคงค้างอยู่จำนวน 2.49 หมื่นล้านบาท ซึ่งยังไม่มีการกำหนดดำเนินการในเรื่องใด โดยให้กระทรวงต่างๆ ไปพิจารณาว่าจะนำไปใช้ในโครงการใด หากไม่มีความประสงค์จะเบิกจ่าย ตนก็จะเป็นผู้พิจารณาอีกครั้งว่านำไปใช้ในส่วนไหน ซึ่งงบประมาณในส่วนนี้จะพิจารณาตามความเหมาะสม อาจจะใช้หรือไม่ใช้ก็ได้

“เชื่อว่ามาตรการต่างๆ ในส่วนการสร้างงานจะสามารถช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากของประเทศได้ โดยเฉพาะภาคธุรกิจก่อสร้างที่จะฟื้นตัวทั้งประเทศในช่วง 3 เดือนนี้ ซึ่งส่งผลให้มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นทั้งประเทศ ทั้งแรงงานไทย รวมไปถึงแรงงานต่างด้าวด้วย”

ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าวว่า ในส่วนที่ 2 คือ มาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อย โดยการช่วยเหลือต้นทุนการผลิตให้แก่เกษตรกรชาวนา วงเงิน 4 หมื่นล้านบาท โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จ่ายเงินให้แก่ชาวนาที่มีที่ดินทำกินของตัวเอง เน้นกลุ่มที่ไม่ได้เช่าที่ดินผู้อื่น สำหรับผู้ที่มีที่ดิน 1-15 ไร่ ซึ่งมีอยู่ราว 1.8 ล้านครัวเรือน จะได้รับเงินช่วยเหลือ 1,000 บาทต่อไร่ ส่วนผู้ที่มีที่ดินมากกว่า 15 ไร่ ที่มีอยู่ราว 1.6 ล้านครัวเรือน จะได้รับเงินไม่เกิน 15,000 บาท

ทั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือต้นทุนการผลิตให้แก่ชาวนา เนื่องจากราคาขายข้าวในปีนี้อยู่ที่ราว 8,000 บาทต่อตัน ในขณะที่ต้นทุนการผลิตเฉลี่ยบวกกำไรพื้นฐานอยู่ที่ราว 9,000 ล้านบาท โดย ธ.ก.ส.จะเริ่มจ่ายเงินโดยการโอนเข้าบัญชีเกษตรกรชาวนา 3.4 ล้านครัวเรือนที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมส่งเสริมการเกษตรและเปิดบัญชีไว้กับ ธ.ก.ส.ตั้งแต่วันที่ 20 ต.ค.นี้ สำหรับงบประมาณในส่วนนี้ ธ.ก.ส.จะเป็นผู้จ่ายก่อน และรัฐบาลจะตั้งงบเพื่อใช้คืนในการจัดทำงบประมาณปี 2559 โดยเชื่อว่าไม่กระทบต่อสภาพคล่องของ ธ.ก.ส.อย่างแน่นอน

“ยืนยันว่ามาตรการนี้ไม่ได้เป็นประชานิยม เพราะรัฐบาลไม่ได้ต้องการคะแนนเสียง เป็นเพียงแนวทางการช่วยเหลือเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยเท่านั้น ไม่ได้เข้าตำราประชานิยมแต่อย่างใด นอกจากนี้ยังเป็นเพียงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของปี 2557 นี้เพียงปีเดียว ไม่ใช่มาตรการช่วยเหลือในระยะยาว ซึ่งจะมีการพิจารณาอีกครั้ง”


กำลังโหลดความคิดเห็น