xs
xsm
sm
md
lg

ทอท.กลับลำหันพัฒนาสุวรรณภูมิเฟส 2 ก่อน หลัง คค.ติงผุดรันเวย์สำรองและอาคารใหม่ขัดมติ ครม.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย  จำกัด (มหาชน) หรือทอท.
“คมนาคม” ติง ทอท.รื้อแผนพัฒนาสุวรรณภูมิ ยันให้เดินหน้าตามแผนแม่บทเดิม บอร์ด ทอท.ยอมรับทำตามแผนเดิมขยายเฟส 2 ก่อน ส่วนรันเวย์ที่ 3 รอผ่าน EHIA ค่อยเดินหน้า หวั่นไม่มีรันเวย์สำรองจะกระทบบริการและซ่อมรันเวย์ทำยาก สั่งศึกษาหาทางออก และเร่งปรับแผนแม่บทบรรจุก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังใหม่เพิ่ม เผยใน 5 ปีต้องลงทุนรวม 1.4 แสนล้าน คาดเงินขาดมือ 6-7 หมื่นล้านปี 61

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ทอท. ที่มี นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากรเป็นประธาน ว่า บอร์ดได้มีมติปรับแนวทางการดำเนินงานทางโครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ให้เป็นไปตามตามความเห็นของกระทรวงคมนาคม ที่ได้มีหนังสือถึง ทอท.ลงวันที่ 9 เม.ย. 2558 ให้ดำเนินการตามแผนแม่บทการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเดิม จากที่ก่อนหน้านี้ ทอท.ได้เสนอแผนปรับพัฒนาสุวรรณภูมิระยะ 2 วงเงิน 61,735.420 ล้านบาทออกเป็น 2 ระยะ โดยลงทุนก่อสร้างหลุมจอดและโครงสร้างพื้นฐานที่อยู่ใต้ดินก่อน จากนั้นค่อยก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1, ขยายอาคารผู้โดยสารทิศตะวันออก พร้อมกันนี้จะเร่งก่อสร้างทางวิ่ง (รันเวย์) สำรอง ความยาว 2,900 เมตรก่อน และเมื่อได้รับอนุมัติผลการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและประเมินผลกระทบต่อสุขภาพ (EHIA) แล้ว จึงจะก่อสร้างเป็นรันเวย์ที่ 3 ความยาว 3,700 เมตร วงเงินลงทุน 20,243.106 ล้านบาท และก่อสร้างงานเพิ่มเติมคือ อาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 หรือ Multi-Function Terminal วงเงิน 27,684.392 ล้านบาท

ดังนั้น มติบอร์ด ทอท.ให้มีการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิใน 3 กลุ่ม คือ 1. การพัฒนาสุวรรณภูมิระยะ 2 วงเงิน 61,735.420 ล้านบาท ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2553 โดยคาดว่าผลการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ได้รับความเห็นชอบในเดือน ต.ค. 2558 จากนั้นจะใช้เวลาในการคัดเลือกผู้รับจ้าง 9 เดือน และก่อสร้างอีก 33 เดือน และทดสอบอีก 3 เดือน รวม 45 เดือน แล้วเสร็จในปีงบประมาณ 2562 ทั้งนี้ ในระหว่างรอการพิจารณา EIA นั้น ทอท.จะดำเนินการจัดหาผู้รับจ้างในโครงการโดยไม่ผูกพันสัญญาคู่ขนานกันไปเพื่อเตรียมพร้อมไว้ก่อน และให้ดำเนินการได้ทันทีที่ EIA ผ่าน

2. ก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 โดยรอผลการพิจารณา EHIA จากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ซึ่งคาดว่าอย่างเร็วจะได้รับการอนุมัติภายในเดือนตุลาคม 2559 โดยจะเปิดใช้งานทางวิ่งเส้นที่ 3 ได้ในเดือน ต.ค. 2562 โดยระหว่างนี้จะจัดทำTOR และหาผู้รับจ้างออกแบบไว้ เพื่อให้พร้อมสำหรับการประมูลเมื่อ EHIA ผ่าน โดยคาดว่าจะใช้เวลาในการหาผู้รับจ้าง 9 เดือน ก่อสร้างประมาณ 33 เดือน สามารถเปิดใช้รันเวย์ที่ 3 ได้ในเดือน ต.ค. 2562 ซึ่งหาก EIA ล่าช้าก็จะขยับแผนออกไปประมาณ 1 ปี อย่างไรก็ตาม บอร์ด ทอท.มีความกังวลและเห็นว่าการก่อสร้างทางวิ่งสำรองฉุกเฉินความยาว 2,900 เมตรยังมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการก่อสร้างก่อนเพื่อป้องกันความเสี่ยงในช่วงก่อนที่รันเวย์ที่ 3 จะเสร็จเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้บริการ ซึ่งได้มอบหมายให้ ทอท.พิจารณาศึกษาแนวทางที่เหมาะสม

โดยหากไม่มีรันเวย์สำรองก่อนจะมีปัญหาเรื่องการซ่อมบำรุงรันเวย์ที่มีอายุการใช้งานเกือบ 10 ปีแล้วไม่สามารถซ่อมบำรุงใหญ่ได้ โดยจะได้เพียงซ่อมบำรุงตามสภาพ โดยปิดเป็นช่วงๆ ความยาวไม่มากและใช้เวลาช่วงกลางคืนเพื่อไม่ให้กระทบต่อการให้บริการ ซึ่งปัจจุบันมีปริมาณจราจรสูงมากเฉลี่ย 900-1,200 เที่ยวบินต่อวัน ทั้งนี้ยืนยันว่ารันเวย์ของสุวรรณภูมิได้มาตรฐานความปลอดภัย โดยองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ได้เข้ามาตรวจสอบทุกปี

3. โครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ทอท.จะต้องปรับแผนแม่บทเพื่อเพิ่มเติมงานส่วนนี้เข้าไป ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 3-6 เดือนแล้วเสร็จในเดือนมกราคม 2559 โดยจะดำเนินการของบประมาณเพิ่มเติมเพื่อจัดทำผลกระทบสิ่งแวดล้อมคู่ขนานไปด้วย จากนั้นจะนำเสนอโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ต่อกระทรวงคมนาคมและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณาในเดือน มิ.ย. 2559 ก่อนเสนอ ครม.พิจารณา คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2561 และแล้วเสร็จในปี 2563

อย่างไรก็ตาม ตามแผนพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ภูเก็ต หาดใหญ่ ในช่วง 5 ปี คาดว่า ทอท.จะใช้เงินลงทุนรวมประมาณ 1.3-1.4 แสนล้านบาท โดยในปี 2559 ใช้ประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท และประเมินจากเงินสดหมุนเวียนที่มี 4.5 หมื่นล้านบาท นั้น คาดว่าเงินสดขาดมือประมาณ 6-7 หมื่นล้านบาทในปี 2561 ทั้งนี้อยู่ภายใต้เงื่อนไขการเติบโตของผู้โดยสารด้วย ซึ่งหากมีการเติบโตสูงอาจจะไม่มีปัญหาเงินสดขาดมือได้ โดยจะปรับแผนการเงินในทุกๆ ปี
กำลังโหลดความคิดเห็น