xs
xsm
sm
md
lg

ปรับแบบสายสีส้มไม่จบ รฟม.ส่อเอื้อนายทุน “คมนาคม” ชี้ทำผิดวัตถุประสงค์แผนแม่บท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


คมนาคมไม่เห็นด้วย รฟม.ปรับแบบรถไฟฟ้าสายสีส้ม ชี้ผิดวัตถุประสงค์แผนแม่บทในการเชื่อมต่ออุโมงค์ศูนย์วัฒนธรรมที่ออกแบบเป็นสถานีเชื่อมต่อไว้แล้ว แถมต้องศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมใหม่ยิ่งทำให้ล่าช้า เตรียมส่งคืน รฟม.ทบทวน เผยผลกระทบประชาสงเคราะห์ปรับวิธีก่อสร้างได้ วงในหวั่นใช้ข้ออ้างเวนคืนเพื่อเบี่ยงแนวไปเอื้อพื้นที่นายทุนอสังหาฯ

แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า กรณีที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ได้เสนอเรื่องปรับแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตลิ่งชัน-มีนบุรี) ระยะทาง 35.4 กม. ใหม่จากเดิม โดยช่วงดินแดงจะเลี้ยวไปตามถนนวิภาวดีผ่านชุมชนประชาสงเคราะห์เพื่อเชื่อมกับรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคลที่สถานีศูนย์วัฒนธรรมฯ แล้วจึงเบี่ยงเข้าแนวถนนพระราม 9 ที่หน้า รฟม. และเลี้ยวซ้ายเข้าถนนรามคำแหงนั้น จะปรับเป็นใช้แนวถนนดินแดงจนถึงถนนพระราม 9 โดยใช้สถานีพระราม 9 เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคลแทนสถานีศูนย์วัฒนธรรม ทำให้สายสีส้ม เฟส 1 จะเริ่มต้นจากพระราม 9-มีนบุรีนั้น เบื้องต้นกระทรวงไม่เห็นด้วยในเรื่องการปรับแนวเส้นทางดังกล่าว และต้องการให้ รฟม.กลับไปทบทวนใหม่

โดยเห็นว่า รฟม.ควรใช้แนวเส้นทางตามเดิมที่กำหนดไว้ในแผนแม่บทรถไฟฟ้า เนื่องจากมีความเหมาะสมกว่า และเป็นไปตามแผนที่ได้มีการก่อสร้างอุโมงค์ใต้สถานีศูนย์วัฒนธรรมไว้เป็นจุดเชื่อมระหว่างสายเฉลิมรัชมงคลกับสายสีส้มไว้แล้ว นอกจากนี้ แนวเส้นทางที่ รฟม.ปรับใหม่จะไปขนานกับแนวโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ ซึ่งไม่เหมาะสม อีกทั้งไม่ได้เป็นการเปิดพื้นที่ใหม่จึงให้ รฟม.กลับไปศึกษาใหม่อีกรอบ ซึ่งเรื่องนี้จะมีการเสนอให้ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมพิจารณาข้อมูลและตัดสินใจต่อไป

ทั้งนี้ รฟม.ระบุเหตุผลที่มีการปรับเปลี่ยนว่า เพื่อลดปัญหาผู้ได้รับผลกระทบจากการเวนคืนบริเวณชุมชนประชาสงเคราะห์ ซึ่งที่ผ่านมามีการประท้วงคัดค้านจากประชาชนในบริเวณดังกล่าว และการปรับแนวสายทางทำให้ค่าก่อสร้างและค่าเวนคืนลดลงรวมประมาณ 500 ล้านบาทนั้น ประเด็นค่าก่อสร้างลดลงไม่ใช่เหตุผลที่จะพิจารณาปรับเปลี่ยนได้เพราะการก่อสร้างรถไฟฟ้าจะต้องดูที่วัตถุประสงค์ซึ่งกำหนดไว้ในแผนแม่บทเรียบร้อยแล้ว ซึ่งการเปลี่ยนแนวเส้นทางเป็นการเปลี่ยนวัตถุประสงค์และต้องศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมใหม่อีกด้วย ทำให้งานยิ่งล่าช้า ส่วนการเวนคืนและผลกระทบต่อประชาชนนั้น รฟม.ต้องทำความเข้าใจกับประชาชนและชดเชยเยียวยาให้เหมาะสม รวมถึงออกแบบวิธีก่อสร้างที่เวนคืนที่ดินให้น้อยที่สุด

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม แบ่งเป็นเฟส 1 ( ตะวันออก) ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี ส่วนเฟส 2 (ตะวันตก) จะเป็นช่วงตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรม ต่อมา รฟม.ได้ปรับแนวเป็นพระราม 9-มีนบุรี และตลิ่งชัน-พระราม 9 ซึ่งมีกระแสข่าวว่า การปรับแนวเบี่ยงมาใช้ถนนพระราม 9 แทนประชาสงเคราะห์เพื่อเลี่ยงการเวนคืนและลดผลกระทบประชาชนเป็นเหตุผลหนึ่งที่แฝงประเด็นการเอื้อประโยชน์ให้แก่กลุ่มทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ที่มีสายสัมพันธ์กับทางนักการเมืองหรือไม่ เพราะมีการเบี่ยงเส้นทางไปอยู่ในแนวโครงการใหญ่ ขณะที่เส้นทางเดิมผ่านพื้นที่อาศัย กทม.2 อีกทั้งสถานีศูนย์วัฒนธรรมได้ออกแบบเพื่อรองรับการเปลี่ยนถ่ายผู้โดยสารไว้ ส่วนสถานีพระราม 9 ไม่มีการออกแบบไว้เป็นสถานีเปลี่ยนถ่ายที่จะมีผู้โดยสารจำนวนมาก

โดยส่วนตะวันตกจะเป็นเส้นทางใต้ดินทั้งหมด เริ่มต้นจากที่สถานีบางขุนนนท์ ผ่านสถานีรถไฟธนบุรี โรงพยาบาลศิริราช ลอดแม่น้ำเจ้าพระยา เข้าสู่แนวถนนราชดำเนินกลาง สนามหลวง สะพานผ่านฟ้าลีลาศ ถนนหลานหลวง ถนนเพชรบุรี แยกอุรุพงษ์ แยกเพชรพระราม เลี้ยวซ้ายที่แยกประตูน้ำ ถนนราชปรารภ วิภาวดีผ่านชุมชนประชาสงเคราะห์เพื่อเชื่อมกับรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคลที่สถานีศูนย์วัฒนธรรมฯ และเข้าสู่พื้นที่ศูนย์ซ่อมบำรุงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยที่ใช้ร่วมกับสายเฉลิมรัชมงคล (สำหรับแนวใหม่ จากราชปรารถเบี่ยงขวาที่แยกสามเหลี่ยมดินแดงเข้าสู่ถนนดินแดง และตรงเข้าถนนอโศก-ดินแดง ออกสู่ถนนพระราม 9)

ส่วนตะวันออก จากศูนย์วัฒนธรรม-ประดิษฐ์มนูธรรม ถนนรามคำแหง ราชมังคลากีฬาสถาน ไปสิ้นสุดเส้นทางที่แยกลำสาลี ผ่านจุดตัดถนนศรีบูรพา จากนั้นจึงเริ่มยกระดับตามแนวเกาะกลางถนนเข้าสู่สถานีบ้านม้า ผ่านหมู่บ้านสัมมากร ยกข้ามทางแยกต่างระดับรามคำแหงจุดตัดถนนกาญจนภิเษก ผ่านแยกลาดบัวขาวจุดตัดถนนมีนพัฒนา ผ่านเคหะรามคำแหง ไปสิ้นสุดเส้นทางที่สถานีมีนบุรีบริเวณก่อนถึงแยกรามคำแหง-ร่มเกล้าซึ่งเป็นจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าโมโนเรล สายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) และเป็นที่ตั้งของศูนย์ซ่อมบำรุงสำหรับเส้นทางส่วนนี้ร่วมกับสายสีชมพู
กำลังโหลดความคิดเห็น