คมนาคมถกกรมชลประทานหาข้อสรุปรูปแบบสถานีศรีย่าน รถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) เน้นทำทางขึ้น-ลง สอดคล้องกับพื้นที่และภูมิทัศน์ สรุปแบบรายละเอียดกลางปีนี้ ลุ้นผ่าน EIA ในสิ้นปีเพื่อดันเข้า ครม.ขออนุมัติ ตั้งเป้าเริ่มก่อสร้างปี 59 เปิดให้บริการปี 63 ด้าน ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.เวนคืนที่ดินส่วนที่เหลือเพื่อสร้างรถไฟฟ้าสีม่วงส่วนที่ยังไม่ทำสัญญาซื้อขายกับ รฟม.
นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมพัฒนาสถานีรถไฟฟ้าศรีย่าน โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) ระยะทาง 23.6 กิโลเมตร วานนี้ (13 ม.ค.) ว่า ได้หารือร่วมกับ นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทานและผู้บริหารการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เพื่อหาข้อสรุปการออกแบบสถานีรถไฟฟ้าศรีย่านซึ่งจำเป็นต้องใช้พื้นที่ของกรมชลประทานบางส่วนเป็นทางขึ้นลงสถานี โดยกรมชลฯ ไม่ได้ขัดข้องเนื่องจากจะเกิดประโยชน์ในภาพรวม แต่ต้องการให้ รฟม.ออกแบบทางขึ้น-ลงสถานี บริเวณทางออกที่ 3, 4 ให้สอดคล้องกับพื้นที่และภูมิทัศน์ ซึ่ง รฟม.รับไปดำเนินการโดยให้ที่ปรึกษาเร่งออกแบบเพิ่มเติมตามที่ได้หารือและนำมาเสนอเพื่อพิจารณาร่วมกันอีกครั้ง
“รฟม.ได้ดำเนินการออกแบบรายละเอียดรูปแบบการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้หลายสถานีแล้ว เช่น สถานีรัฐสภา สถานีสามเสน สถานีหอสมุดแห่งชาติ ฯลฯ ส่วนสถานีศรีย่านนั้นต้องเข้าไปใช้พื้นที่กรมชลฯ ซึ่งได้ขอให้กระทรวงคมนาคมศึกษาออกแบบเพื่อให้สอดคล้องกับโครงสร้างตึกที่มีอยู่ในปัจจุบัน และขยับมาใกล้แนวรั้วเพื่อไม่ให้กระทบพื้นที่จอดรถของกรมชลฯ มากนัก” นางสร้อยทิพย์กล่าว
สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงใต้ (เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ) ระยะทาง 23.6 กิโลเมตร เป็นเส้นทางใต้ดิน 12.6 กิโลเมตร จำนวน 10 สถานี และสถานียกระดับ 11 กิโลเมตร จำนวน 7 กิโลเมตร มูลค่าก่อสร้างเบื้องต้น 91,716.39 ล้านบาท แผนดำเนินงานระหว่างปี 2559-2563 โดยคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในเดือนกันยายน 2559 เปิดให้บริการในเดือนกันยายน 2563 ซึ่งการออกแบบรายละเอียดจะแล้วเสร็จ กลางปี 2558 จากนั้นจะเสนอการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งหากได้รับความเห็นชอบ ในปลายปี 2558 จะเสนอขออนุมัติโครงการภายในปลายปี 2558 เพื่อขออนุมัติโครงการได้ทันที
โดยแนวเส้นทางโครงสร้างรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ เริ่มจากจุดเชื่อมต่อโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ ที่บริเวณสถานีเตาปูน โดยเปลี่ยนเป็นเส้นทางใต้ดินแล้วเบี่ยงเข้าสู่ถนนสามเสนบริเวณคลองบางซื่อ ผ่านรัฐสภาแห่งใหม่ (โรงเรียนโยธินบูรณะเดิม) โรงเรียนราชินีบน กรมชลประทาน โรงพยาบาลวชิรพยาบาล หอสมุดแห่งชาติ คลองบางลำพูเลี้ยวซ้ายเข้าถนนพระสุเมรุ ผ่านวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร แยกผ่านฟ้าฯ ถนนราชดำเนินกลาง เข้าสู่ถนนมหาไชย ผ่านวัดราชนัดดารามวรวิหาร เข้าสู่ถนนจักรเพชร ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณสะพานพระปกเกล้า เข้าสู่ถนนประชาธิปก ผ่านสี่แยกบ้านแขก ลอดใต้วงเวียนใหญ่ เข้าสู่ถนนสมเด็จพระเจ้าตากสิน ลอดแยกมไหสวรรย์จากนั้นเปลี่ยนเส้นทางยกระดับผ่านแยกถนนจอมทองเข้าสู่ถนนสุขสวัสดิ์ ผ่านแยกถนนประชาอุทิศ ข้ามทางด่วนเฉลิมมหานคร เข้าสู่ราษฎร์บูรณะข้ามคลองแจงร้อน ผ่านสามแยกพระประแดง และสิ้นสุดเส้นทางบริเวณครุใน มีอาคารจอดรถ 2 แห่งที่บางปะกอก และราษฎร์บูรณะ และมีศูนย์ซ่อมบำรุง 1 แห่ง
ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.เวนคืนที่ดินส่วนที่เหลือเพื่อสร้างรถไฟฟ้าสีม่วง
ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (13 ม.ค.) มีมติอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ.เวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อสร้างกิจการรถไฟฟ้าโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง บางใหญ่-ราษฎร์บูรณะ ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ ในท้องที่อำเภอบางบัวทอง อำเภอบางใหญ่ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี และเขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร พ.ศ. ....ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ จำนวน 69 แปลงที่ยังไม่ตกลงทำสัญญาซื้อขายกับ รฟม. และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป
ทั้งนี้ สาระสำคัญของ พ.ร.บ.ดังกล่าว เพื่อเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในท้องที่อำเภอบางบัวทอง อำเภอบางใหญ่ อำเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี และเขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีจำนวนทั้งหมด 69 แปลง ภายในแนวเขตตามแผนที่และบัญชีรายชื่อเจ้าของหรือผู้ครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมายท้ายพระราชบัญญัตินี้ให้แก่ รฟม. เพื่อสร้างกิจการรถไฟฟ้าสายสีม่วง บางใหญ่-ราษฎร์บูรณะ ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ โดยให้ผู้ว่าการ รฟม.เป็นเจ้าหน้าที่เวนคืน และให้มีการเข้าใช้อสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืนภายใน 10 ปี นับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ