xs
xsm
sm
md
lg

บินไทยมั่นใจแผนรับวิกฤต ICAO พลิกโอกาสดันมาตรฐานปลอดภัยชั้นนำเอเชีย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


การบินไทยกางแผนรับมือ ICAO จ้าง Third Party ตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัย มั่นใจไม่มีปัญหา หวังพลิกวิกฤตเป็นโอกาสขึ้น top class เป็นแอร์ไลน์ปลอดภัยสูงสุดในเอเชียแปซิฟิก ด้าน “จรัมพร” แจงผู้ถือหุ้นแนวโน้มการเงินดีขึ้น เดินตามแผนปฏิรูป เม.ย. Cabin Factor กว่า 77% ฐานะการเงินยังดี หลังออกหุ้นกู้ 5,000 ล้าน นักลงทุนสนใจเกิน 2.5 เท่า

นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทให้ความสำคัญสูงสุดเรื่องมาตรการด้านความปลอดภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่กระทรวงคมนาคมและกรมการบินพลเรือน (บพ.) ต้องเร่งแก้ไขปลดล็อกข้อบกพร่องที่มีนัยสำคัญต่อความปลอดภัย (SSC) ตามที่องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ระบุ ซึ่งในส่วนของบริษัทฯ จะใช้วิกฤตครั้งนี้เป็นโอกาส โดยตั้งเป้าหมายเป็นสายการบินที่มีมาตรฐานด้านความปลอดภัยสูงสุดในเอเชียแปซิฟิก โดยได้เริ่มดำเนินการแผนรองรับกรณี ICAO ตั้งแต่เดือน ม.ค.ที่ผ่านมา

ซึ่งมี 4 กระบวนการ เริ่มจาก การถูกตรวจสอบระดับลานจอด (Ramp Inspection) โดยหลังจาก ICAO ประกาศตั้งแต่ในเดือน ก.พ.ได้รับการตรวจสอบจาก บพ. 4 แห่งทั่วโลก เดือนมี.ค. เป็น 15 แห่ง และเดือน เม.ย. ครึ่งเดือน 14 แห่ง เพิ่มขึ้น 4 เท่า ซึ่งบริษัทฯ ได้เตรียมการทุก Ramp Inspection หากไม่ผ่านจะปรับปรุงได้ทันตามเวลา โดยในการตรวจสอบมาตรฐานจะมีการดำเนินการตรวจสอบภายใน มีการฝีกอบรมลูกเรืออย่างเข้มข้นหรือ Internal Audit และใน 2 สัปดาห์จะว่าจ้างบุคคลที่ 3 (Third Party) จากกลุ่มสตาร์อัลไลแอนซ์เข้ามาตรวจสอบ จากนั้นจะถือว่าการบินไทยได้มาตรฐานสูงสุดและยืนยันความเชื่อมั่นเรื่องมาตรฐานของการบินไทยกับทุก บพ.ทั่วโลก ซึ่งจะไม่มีเหตุผลที่จะลดเกรดการบินไทยได้ โดยมั่นใจว่าในเดือน มิ.ย. ทุกอย่างจะเรียบร้อยและมั่นใจในเรื่องความปลอดภัยจะอยู่ในระดับ top class

“การบินไทยมีความปลอดภัยและได้รับการตรวจสอบจาก บพ.ทั่วโลกอยู่แล้ว หลังจากนี้ทาง บพ.ต้องแก้ไข ซึ่งจะมีการส่งแผนปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่อง (Corrective Action Plan : CAP) ฉบับใหม่ให้ ICAO ในวันที่ 27 เม.ย. หาก ICAO ยอมรับแผนใหม่จะไม่มีปัญหาอะไร แต่กรณีไม่ยอมรับการบินไทยต้องเตรียมพร้อม กรณีที่จะต้องได้รับการตรวจสอบจากทุก บพ.ทั่วโลกที่ทำการบินเข้าไปแบบเข้มข้นโดยมีแผนงานรองรับชัดเจน” นายจรัมพรกล่าว

เรืออากาศเอก มนตรี จำเรียง รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายกลยุทธ์องค์กรและพัฒนาอย่างยั่งยืน การบินไทย กล่าวว่า ICAO ตรวจสอบ บพ.โดยถาม-ตอบจากแบบคำถาม PQs (Protocal Question) จำนวนทั้งสิ้นกว่า 900 ข้อ ไม่ผ่าน 560 ข้อ ซึ่งมีหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับ SSC 33 ข้อ ซึ่งหลักต้องแก้ไขก่อน จากนั้นแก้ที่ 560 ข้อ สุดท้ายแก้ที่สาเหตุ คือ ระบบงาน, โครงสร้าง บพ., อัตรากำลัง กฎระเบียบและผู้กำกับดูแลต้องมีความชัดเจนในการแก้ไขเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาอีก ซึ่งในส่วนการบินไทยมีแผนบริหารความเสี่ยงเพื่อดำรงธุรกิจไว้รองรับแล้ว

ทั้งนี้ ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับบริษัทฯ และการเตรียมพร้อมรองรับมี 5 ขั้น คือ 1. จะถูกตรวจสอบ Ramp Inspection ถี่ขึ้น 2. นโยบายของแต่ละประเทศ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีที่ออกมา 3. การบินพลเรือนของแต่ละประเทศเข้ามาตรวจสอบมาตรฐาน (Based Audit) ซึ่งการบินไทยได้ตรวจสอบภายในเองและจ้างบุคคลที่ 3 มาตรวจสอบจะเรียบร้อยในเดือน พ.ค.นี้ ทำให้เกิดความเชื่อมั่นและพร้อมหาก ICAO จะตรวจสอบ บพ.
และตรวจมาตรฐานของการบินไทย

4. ลดเกรด Category 1 เป็น Category 2 และ 5. การลดเกรดให้อยู่ระดับ Category 3 ซึ่งเป็นการแบนหรือขึ้นแบล็กลิสต์ห้ามบินเข้าประเทศนั้นๆ ซึ่งรุนแรงที่สุด ซึ่งทางองค์การบริหารการบินแห่งสหรัฐอเมริกา (FAA) เคยทำสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติของสหภาพยุโรป หรือเอียซ่า (EASA) จะให้ความสำคัญ ซึ่งมั่นใจว่าเมื่อบริษัทมีการตรวจสอบอย่างเข้มข้นตามมาตรฐานจะไม่มีปัญหา และขณะนี้ยังไม่มีสัญญาณบ่งบอกว่าจะไปถึงระดับ 4 และ 5 อย่างไรก็ตาม กรณีร้ายแรงสุดคือถูกลดเกรดและแบน บริษัทมีแผนดำรงธุรกิจคือ ประสานกับสตาร์อัลไลแอนซ์ให้บริการแทนในรูปแบบต่างๆ เพื่อทำการบินแทนในเส้นทางที่กระทบ และนำเครื่องบินไปใช้ในเส้นทางที่ไม่กระทบ และมีความต้องการสูงแทน เพื่อไม่ทำให้ปริมาณการผลิตด้านผู้โดยสาร (ASK) หรือจำนวนที่นั่งผู้โดยสารคูณระยะทางบินเป็นกิโลเมตรตกต่ำ

สำหรับการประชุมใหญ่สามัญผู้ถือหุ้น บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ประจำปี 2557 เมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2558 ซึ่งมีนายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม รักษาการประธานกรรมการ (บอร์ด) เป็นประธาน ได้ชี้แจงกรณีผู้ถือหุ้น ถึงสาเหตุของผลประกอบการขาดทุนต่อเนื่อง 2 ปี โดยปี 2556 ขาดทุน 12,000 ล้านบาท ปี 2557 ขาดทุนสุทธิ 15,573 ล้านบาท เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองทำให้รายได้ลดลง ซึ่งที่ประชุมมีมติงดจ่ายปันผลในปี 2557 ทั้งนี้ บรรยากาศในที่ประชุมผู้ถือหุ้นการประชุมในวันนี้มีอดีตผู้บริหารระดับสูงของการบินไทยเข้าร่วมประชุมหลายคน เช่น กัปตันโยธิน ภมรมนตรี อดีตผู้บริหารการบินไทย และผู้ถือหุ้นรายย่อยการบินไทย, นายสุเทพ สืบสันติวงศ์ อดีตรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ การบินไทย ซึ่งได้ระบุถึงการบริหารงานของบอร์ดที่ทำให้บริษัทขาดทุน และมีความน่าเคลือบแคลงในหลายประเด็น โดยบอร์ดไม่สามารถตอบคำถามได้อย่างชัดเจน

นายจรัมพรกล่าวถึงความคืบหน้าแผนปฏิรูปว่า การปรับปรุงฝูงบิน ได้มีการปลดระวางเครื่องบืนและทำให้เครื่องบินลดลงจาก 11 แบบเหลือ 8 แบบ และการขายเครื่องบินในเวลา 3 เดือนของปี 2558 ขายได้แล้ว 10 ลำ ซึ่งดำเนินการได้เข้มข้นมากกว่าปีที่แล้วที่ทั้งปีขายได้รวม 10 ลำ ส่วนการปรับปรุงการปฏิบัติงานและลดต้นทุน และด้านบุคลากร เช่น โครงการร่วมใจจากองค์กร (Mutual Separation Plan : MSP) หรือเออร์ลีรีไทร์ออกมา 3 สัปดาห์แล้ว และการปรับปรุงเครือข่ายเส้นทาง ปรับลดกำลังการผลิตลงประมาณ 9.7% ส่วนการขายนั้น ฝ่ายการพาณิชย์ได้มีการขายอย่างเข้มข้นและได้มีการบริหารการขายแบบไดนามิกทำให้อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสารต่อเที่ยวบิน (Cabin Factor) เพิ่มขึ้น โดยในช่วงไตรมาส 1/2558 3 เดือน Cabin Factor ขึ้นมาอยู่ที่ 76% ส่วนเดือน เม.ย.ที่กว่า 77% ถือว่าเป็นทิศทางที่ดี

ส่วนการออกหุ้นกู้เมื่อวันที่ 21 เม.ย.ที่ผ่านมาจำนวน 5,000 ล้านบาท และมีหุ้นกู้สำรองสำหรับเสนอขายอีกไม่เกิน 2,000 ล้านบาทได้รับความไว้วางใจจากผู้ลงทุนและสถาบันการเงินสูงกว่าวงเงิน 2.5 เท่า หรือประมาณ 12,000 ล้านบาท ทำให้ได้รับวงเงินกู้เข้ามาถึง 7,000 ล้านบาทภายในปลายเดือน เม.ย.นี้ตามแผน แสดงให้เห็นว่านักลงทุนและสถาบันการเงินยังคงไว้วางใจสถานะการเงินของบริษัทฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น