กรมธุรกิจพลังงานออกโรงเตือนผุดปั๊มแอลพีจีเพิ่มอนาคตร่วงแน่ เหตุนโยบาย ก.พลังงานไม่หนุนใช้ในภาคขนส่งเพราะต้องนำเข้าจ่อปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตให้เท่าน้ำมัน และเตรียมหารือกรมการขนส่งทางบกขึ้นภาษีป้ายทะเบียนรถแอลพีจี รวมถึงขยับภาษีนำเข้าอุปกรณ์ ตัวถังดัดแปลงใช้แอลพีจี
นายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ธพ.ได้ส่งสัญญาณไปยังผู้ค้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) ในการหยุดพัฒนาปั๊มแอลพีจีเพิ่มขึ้น เนื่องจากนโยบายกระทรวงพลังงานปัจจุบันจะไม่ส่งเสริมการใช้แอลพีจีในภาคขนส่งด้วยเหตุผลที่ไทยมีการผลิตไม่เพียงพอต้องนำเข้าในปริมาณที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นธุรกิจปั๊มแอลพีจีในอนาคตอันใกล้จะถือเป็นธุรกิจที่จะเติบโตน้อยลง หรือ Sunset Industry
ทั้งนี้ มาตรการสำคัญที่กระทรวงพลังงานกำลังพิจารณาคือการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตของแอลพีจีภาคขนส่งให้เท่ากับน้ำมันเพื่อความเท่าเทียมกันตามค่าความร้อน ซึ่งปัจจุบันน้ำมันมีการเก็บภาษีสรรพสามิตเฉลี่ย 4-5 บาทต่อลิตร โดยแนวทางจะพิจารณาจัดเก็บภาษีฯ ที่หัวจ่ายเพื่อให้ง่ายต่อการปฏิบัติและไม่มีการใช้ข้ามประเภท ดังนั้น หากมาตรการดังกล่าวถูกนำมาใช้ราคาแอลพีจีก็จะสูงขึ้นอีกทำให้ราคาแอลพีจีภาคขนส่งขายปลีกไม่ต่างจากน้ำมันมากนัก
นอกจากนี้ ธพ.ยังได้เตรียมหารือกับกรมการขนส่งทางบกเพื่อเก็บภาษีป้ายทะเบียนรถยนต์แอลพีจีเพิ่มขึ้น รวมไปถึงอยู่ระหว่างการพิจารณาที่จะเก็บภาษีนำเข้าอุปกรณ์ ตัวถังแอลพีจีที่จะดัดแปลงนำมาติดตั้งใช้ในรถยนต์เพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งหากมาตรการเหล่านี้เกิดขึ้นได้ทั้งระบบก็จะทำให้ปริมาณรถยนต์ที่จะหันมาติดตั้งแอลพีจีลดต่ำลง ดังนั้นหากปั๊มแอลพีจีที่มีมากขึ้นต่อเนื่องก็จะยิ่งประสบปัญหาขาดทุนในอนาคต
“ราคาแอลพีจีขนส่งจะสูงขึ้นอีกแน่นอน ยิ่งช่วงราคาน้ำมันถูกยิ่งจะชะลอให้รถที่จะดัดแปลงไปใช้แอลพีจีจะชะลอตัวที่สุดรถแอลพีจีจะลดลงในอนาคต ซึ่งล่าสุดเดือน ก.พ. 58 แค่น้ำมันถูกลงรถแอลพีจีก็ลดลง 10% แล้วเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนโดยจากเดิม 1.2 ล้านคันเหลือเพียง 1 ล้านคันเศษๆ เท่านั้น ซึ่งคาดว่าไม่มีการดัดแปลงเพิ่มขึ้นและที่หายไปน่าจะเกิดจากรถเก่าที่หมดอายุ” นายวิฑูรย์กล่าว
ทั้งนี้ ปั๊มบริการแอลพีจีเดือน มี.ค. 58 อยู่ที่ 2,003 แห่ง เพิ่มขึ้น 15 แห่งจากเดือน ก.พ. 58 และเพิ่มขึ้นจากเดือน มี.ค. 57 จำนวน 215 แห่ง