เอกชนเผย “ฉัตรชัย” ดึงเกม ถ่วงผลักดันร่างแก้ไข พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า หลังกำหนดให้รัฐวิสาหกิจที่ทำธุรกิจแข่งเอกชนต้องอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ ทั้ง ปตท. การบินไทย ทอท. กรุงไทย อสมท อ้างมีประเด็นที่ยังเคลือบแคลง และกลัวปั่นป่วนช่วงแก้รัฐธรรมนูญ ปูดเจอ ปตท.วิ่งล็อบบี้ ยกข้ออ้างต่อไปตรึงราคาช่วยประชาชนไม่ได้แล้ว “พาณิชย์” ลุยต่อ เตรียมเปิดรับฟังความคิดเห็นรัฐวิสาหกิจอีกรอบ ก่อนสรุปเสนอ รมว.พาณิชย์ชง ครม.ไฟเขียวภายใน พ.ค.นี้
ผู้สื่อข่าวรายงานจากกระทรวงพาณิชย์ว่า ภาคเอกชนหลายคนที่เป็นกรรมการในคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ที่มี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รมว.พาณิชย์ เป็นประธาน มีความกังวลว่าการที่กระทรวงพาณิชย์แก้ไข พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2542 ล่าช้า และจนถึงขณะนี้ก็ยังไม่มีความชัดเจน ทั้งๆ ที่กรมการค้าภายในได้เสนอร่างที่แก้ไขไปให้ รมว.พาณิชย์พิจารณาประมาณ 1 เดือนมาแล้ว โดยการไม่ผลักดันหรือชะลอการผลักดันอาจจะส่งผลกระทบทำให้ไม่สามารถแก้ไขกฎหมายได้ทัน และยังส่งผลกระทบต่อธุรกิจรายกลางและรายเล็กที่จะไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการทำธุรกิจของธุรกิจรายใหญ่ ซึ่งอาจทำให้ถูกมองว่ารัฐบาลฟังเสียงธุรกิจขนาดใหญ่ที่ให้การสนับสนุนรัฐบาลมากกว่า
สาเหตุของความล่าช้าเพราะมีบางประเด็นที่ยังเคลือบแคลงสงสัย หากผ่านความเห็นชอบแล้วอาจทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องคัดค้าน และต่อต้านกฎหมายฉบับนี้ โดยเฉพาะประเด็นที่กำหนดให้รัฐวิสาหกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยทำธุรกิจแข่งกับเอกชน และแสวงหาผลกำไร เช่น บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารกรุงไทย บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ เพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างเป็นธรรม และไม่ทำลายคู่แข่ง หรือธุรกิจรายเล็ก
ทั้งนี้ ยังพบข้อมูลอีกว่า ปตท. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีผู้ถือหุ้นจำนวนมาก และอยู่ในหลายวงการ ได้พยายามล็อบบี้ไม่ให้กระทรวงพาณิชย์ผ่านกฎหมายฉบับนี้ เพราะ ปตท.อาจเสียประโยชน์ และก่อนหน้านี้ ปตท.เคยชี้แจงกับกระทรวงพาณิชย์ว่าหากรัฐบาลจะให้ ปตท.ตรึงราคาน้ำมันช่วยเหลือผู้บริโภคคงทำไม่ได้อีกแล้วเพราะจะผิดกฎหมายแข่งขันทางการค้า จึงเป็นเหตุให้ รมว.พาณิชย์ยังลังเลที่จะให้ความเห็นชอบ และนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพราะเกรงจะเกิดกระแสต่อต้าน และความวุ่นวายจนอาจกระทบต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ร่างแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายดังกล่าว ได้แก่ 1. กำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าเป็นหน่วยงานอิสระ อาจอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง หรือกระทรวงพาณิชย์
2. กรรมการต้องสรรหาจากผู้ทรงคุณวุฒิ และทำงานเต็มเวลา จากปัจจุบัน เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และมาจากภาคเอกชน กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการคลัง ส่วนใหญ่เป็นตัวแทนภาคธุรกิจขนาดใหญ่ และนักการเมือง
3. กำหนดให้รัฐวิสาหกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยทำธุรกิจแข่งกับภาคเอกชน และแสวงหาผลกำไร ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับนี้
4. เพิ่มเติมคำนิยมของบริษัทให้ครอบคลุมบริษัทในเครือด้วย เพื่อให้ง่ายต่อการพิจารณาเกณฑ์ การมีอำนาจเหนือตลาด และเกณฑ์การควบรวมกิจการ ซึ่งเป็นกฎหมายลูกของ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า
5. เปลี่ยนแปลงโทษ ทั้งอาญาและปรับ เพิ่มโทษทางปกครอง และมีมาตรการลดหย่อนโทษให้ผู้กระทำผิดที่ให้ข้อมูลเป็นประโยชน์แก่คณะกรรมการฯ ในการพิจารณาคดี
6. กำหนดให้สามารถพิจารณาเอาผิดกับธุรกิจไทยที่กระทำผิดนอกราชอาณาจักร แต่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคในประเทศ เช่น กรณีสายการบินจากไทยร่วมกับสายการบินต่างประเทศขึ้นค่าบริการต่างๆ จนทำให้ผู้บริโภคในไทยเดือดร้อน
ล่าสุดผู้สื่อข่าวได้สอบถาม นายสันติชัย สารถวัลย์แพศย์ รองอธิบดีกรมการค้าภายใน โดยได้รับการชี้แจงว่า กรมฯ ได้มีการหารือกับนางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมช.พาณิชย์ เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ถึงการแก้ไข พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า โดยเห็นว่าการจัดตั้งสำนักงานคณะกรรมการแข่งขันทางการค้าให้เป็นองค์กรอิสระนั้นจะให้เป็นองค์กรอิสระอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงพาณิชย์ เช่นเดียวกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงการคลัง ส่วนกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ กำหนดให้คณะกรรมการสรรหามาจากปลัดกระทรวงเศรษฐกิจ เพื่อให้ปลอดจากการเมือง และภาคธุรกิจขนาดใหญ่
“ในประเด็นรัฐวิสาหกิจ กระทรวงฯ จะเปิดรับฟังความคิดเห็นของรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวข้อง โดยจะชี้แจงว่าการทำธุรกิจของเขาทุกอย่างเหมือนเดิม เพียงแต่ในบางธุรกิจที่แข่งกับเอกชนต้องอยู่ใต้กฎหมายนี้ และจะมีข้อยกเว้นให้ด้วย อย่าง ปตท.มีหลายธุรกิจ แต่ธุรกิจขายน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ก็ต้องอยู่ใต้กฎหมายนี้ และจะมีข้อยกเว้นกรณีที่รัฐขอความร่วมมือตรึงราคาน้ำมัน หรือก๊าซ เพื่อช่วยเหลือประชาชน จะไม่ถือว่าผิดกฎหมาย”
อย่างไรก็ตาม กรมฯ จะเร่งเปิดรับฟังความคิดเห็น จัดทำข้อสรุปและเสนอให้ รมว.พาณิชย์พิจารณา เพื่อเสนอให้ ครม.เห็นชอบให้ทันภายในเดือน พ.ค.นี้ หาก ครม.เห็นชอบแล้วจะนำร่างดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งไม่น่าจะใช้เวลานานมากนักกว่ากฎหมายจะมีผลบังคับใช้ เพราะขณะนี้ทั้ง สนช. และสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีความพยายามผลักดันการแก้ไขกฎหมายนี้ และยังได้จัดทำร่างแก้ไขเพิ่มเติมของตนเองด้วย