“ประจิน” สั่งกรมเจ้าท่าเร่งศึกษาออกแบบเส้นทางเดินเรือเฟอร์รีเชื่อมอ่าวไทยตะวันออกและตะวันตก (East-West Ferry) ย่นระยะทาง และเวลาเดินทางท่องเที่ยวและขนส่งสินค้า ลดจำนวนรถบรรทุกผ่านกรุงเทพฯ ลดต้นทุนลอจิสติกส์ในระยะยาว คาดเสร็จใน 1.5-3 ปี คาดลงทุนกว่า 4 พันล้าน มีผู้ใช้บริการ 3 ล้านคน/ปี รถยนต์ 2.2 แสนคัน/ปี สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 3.5 พันล้าน/ปี
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมโครงการพัฒนาท่าเรือเฟอร์รีเชื่อมโยงอ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันออกและฝั่งตะวันตก (East-West Ferry) ว่า จากการศึกษาเบื้องต้นพบว่าการพัฒนาเส้นทาง East-West Corridor ทางเรือ ระหว่างชายฝั่งตะวันออกกับชายฝั่งตะวันตก จะเกิดประโยชน์ต่อการเดินทาง การท่องเที่ยว และการขนส่งสินค้า ซึ่งปัจจุบันการเดินทางจากทะเลอ่าวไทยด้านตะวันออกไปตะวันตกหรือจากทาง จ. ชลบุรี จะต้องผ่านสมุทรปราการ กรุงเทพฯ สมุทรสงคราม สมุทรสาคร เพชรบุรี และประจวบคีรีขันธ์ โดยรถยนต์ ระยะทาง 300 กม. ใช้เวลา 6-7 ชั่วโมง แต่หากพัฒนาเส้นทางเดินเรือ โดยใช้เรือเฟอร์รีรุ่นใหม่ที่ไม่มีคลื่น มีความปลอดภัยสูงและมีความเร็วสูง สามารถขนส่งได้ทั้งผู้โดยสารและรถยนต์และสินค้าระยะทางสองฝั่ง ประมาณ 100 กม. ใช้เวลาเดินทางและเข้าออกชายฝั่งไม่เกิน 2 ชม. เท่านั้น
ทั้งนี้ ฝ่ายเศรษฐกิจ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เห็นว่าเส้นทางนี้จะเกิดประโยชน์ในการขนส่งสินค้า การเดินทางของประชาชนและการท่องเที่ยว จึงได้ตั้งคณะทำงานขึ้น 1 ชุด ร่วมกับกรมเจ้าท่า ศึกษาข้อมูลต่างๆ โดยครั้งนี้ได้เชิญผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องในพื้นที่มาให้ข้อมูล และจะลงสำรวจพื้นที่ในเดือน พ.ค.นี้ ในขณะที่กรมเจ้าท่าได้ตั้งงบประมาณปี ( 58-59) วงเงิน 30 ล้านบาท ศึกษาออกแบบเส้นทางเดินเรือ East-West Ferry ซึ่งขณะนี้มีบริษัทยื่นข้อเสนอ 2 ราย โดยจะคัดเลือกในวันที่ 17 เม.ย.นี้ พร้อมกันนี้ได้เร่งรัดการศึกษาออกแบบจาก 18 เดือนให้แล้วเสร็จใน 12-13 เดือน โดยให้ออกแบบให้เป็นท่าเรือมาตรฐาน รองรับรถยนต์ได้ทั้งขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ และบริการเชิงพาณิชย์ด้วย
“คาดว่าจะใช้เวลาในการสำรวจออกแบบใน 1 ปี ซึ่งจะต้องเลือกท่าเรือที่เหมาะสมทั้งสองฝั่ง โดยจะมีท่าเรือหลัก ท่าเรือสำรอง โดยหากเป็นไปได้จะใช้พัฒนาท่าเรือของภาครัฐหรือของรัฐวิสาหกิจ ส่วนให้บริการเดินเรือนั้นจะเป็นการลงทุนของภาคเอกชน ซึ่งเบื้องต้นฝั่งตะวันตกท่าเรือจะอยู่บริเวณหัวหิน, ปึกเตียน, ชะอำ จ.เพชรบุรี, ปราณบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ฝั่งตะวันออก บริเวณท่าเรือแหลมฉบัง หรือท่าเทียบเรือเกาะลอย ศรีราชา ดำเนินการก่อสร้างและจัดหาผู้ให้บริการเดินเรือภายใน 3 ปี แต่หากเลือกท่าเรือเดิมที่มีอยู่แล้วการพัฒนาจะเหลือใน 1.5 ปี ยอมรับว่าการลงทุนในช่วงแรกจะสูง แต่ค่าใช้จ่ายด้านบริการและซ่อมบำรุงจะลดลง และในระยะยาวจะส่งผลให้ต้นทุนด้านลอจิสติกส์ในภาพรวมลดลง” พล.อ.อ.ประจินกล่าว
อย่างไรก็ตาม กรมเจ้าท่าได้เคยทำการศึกษาโครงการเชื่อมการเดินทางด้านคมนาคมทางน้ำระหว่างฝั่งตะวันตกกับฝั่งตะวันออก เมื่อปี 2555 แล้วสรุปว่าจุดที่มีความเหมาะสมคือ แหลมบาลีฮาย-ปึกเตียน เพชรบุรี ระยะทาง 100 กม. ใช้เวลา 2-3 ชม. โดยเส้นทางดังกล่าวจะช่วยย่นระยะเวลา และเป็นการสร้างโอกาสและช่องทางในการท่องเที่ยว ส่วนการขนส่งสินค้านั้นจะลดจำนวนรถบรรทุกที่ต้องผ่าน กทม. และภาคกลางตอนล่าง ซึ่งปัจจุบันมีปริมาณมากและมีค่าใช้จ่ายสูง ส่วนความปลอดภัยนั้นได้ติดตั้งระบบ (Vessel Traffic System หรือ VTS) ซึ่งเป็นอุปกรณ์พิสูจน์ตำแหน่งของเรือทุกลำ และกำหนดเส้นทางเดินเรือ เพื่อความปลอดภัย มีศูนย์ควบคุมและสั่งการอยู่ทั้งสองฝั่ง และหน่วยกู้ภัยช่วยเหลือประจำ หน่วยบริการด้านสภาพอากาศ คลื่นลม ทำให้มีความมั่นใจมากขึ้น
นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า การก่อสร้างท่าเรือเฟอร์รีจะต้องมีพื้นที่หลังท่าที่อำนวยความสะดวก เช่น ท่าเรือกินน้ำลึกเท่าไร พื้นที่หลังท่าจำนวนเท่าไร ประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม โดยกรมเจ้าท่าจะเป็นเจ้าภาพ ซึ่งได้หารือกับกระทรวงการท่องเที่ยวฯ เพื่อมองถึงกลุ่มเป้าหมาย เพื่อสร้างแรงจูงใจในการใช้บริการท่าเรือเฟอร์รี โดยเบื้องต้นได้มีเอกชนให้ความสนใจและทำการทดสอบตลาด (Market Sounding) ในกลุ่มท่องเที่ยวว่ามีความสนใจเส้นทางเดินเรือท่องเที่ยวนี้มากน้อยแค่ไหน
อย่างไรก็ตาม ตามเป้าหมายคาดว่าจะมีนักธุรกิจ นักท่องเที่ยว เดินทางปีละ 3 ล้านคน รถยนต์ปีละ 2.2 แสนคัน สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่าปีละ 3.5 พันล้านบาท และธุรกิจต่อเนื่องปีละ 4.5 พันล้านบาท โดยโครงการมีมูลค่าลงทุนกว่า 4 พันล้านบาท