กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเผยจดทะเบียนตั้งบริษัทใหม่ไตรมาสแรก 1.7 หมื่นราย เพิ่มขึ้น 12% ทุนจดทะเบียนเฉียด 5 หมื่นล้านบาท จับตา 100 บริษัททุนสูง สั่งเรียกชี้แจงและโชว์เงินทุน เผยหากไม่ร่วมมือจะขึ้นแบล็กลิสต์เป็นบริษัทไม่น่าเชื่อถือ ไม่ควรทำธุรกิจด้วย อึ้ง! พบบางบริษัทยื่นจดทุนสูงถึง 9 แสนล้านบาท สุดท้ายม้วนเสื่อหลังเจอกฎเหล็ก แนะธุรกิจส่งงบการเงินปีนี้ผ่านทางออนไลน์
น.ส.ผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า การจดทะเบียนธุรกิจเดือน มี.ค. 2558 มีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัทจัดตั้งใหม่ทั่วประเทศจำนวน 5,698 ราย เพิ่มขึ้น 9% เมื่อเทียบกับเดือน มี.ค. 2557 โดยมีทุนจดทะเบียนจำนวน 16,092 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4% และจดทะเบียนเลิก 1,181 ราย เพิ่มขึ้น 42% มีทุนจดทะเบียน 3,115 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 21% ส่วนยอดรวม 3 เดือนมีผู้จดทะเบียนตั้งใหม่รวม 17,309 ราย เพิ่มขึ้น 12% มีทุนจดทะเบียนรวม 49,527 ล้านบาท ลดลง 22% และจดเลิก 3,674 ราย เพิ่มขึ้น 27% มีทุนจดทะเบียนรวม 8,950 ล้านบาท ลดลง 20%
“การจดจัดตั้งใหม่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แสดงให้เห็นว่าคนยังมั่นใจในการทำธุรกิจ แม้กรมฯ จะเพิ่มความเข้มงวดในการรับจดทะเบียน โดยกำหนดให้ผู้ที่มีทุนจดทะเบียนเกิน 5 ล้านบาทต้องแสดงหลักฐานเงินทุนเข้าบริษัท ส่วนการยกเลิกกิจการที่เพิ่มขึ้นไม่ได้หมายความว่าธุรกิจเจ๊ง แต่เป็นเพราะกรมฯ ได้เข้าไปจัดระเบียบ ทำให้มีการเลิกกิจการเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกิจการค้าสลากฯ ซึ่งยอด 3 เดือนมีเลิก 3,674 ราย แต่เป็นค้าสลากฯ ถึง 1,067 ราย หรือคิดเป็น 30% ของยอดที่จดเลิก”
น.ส.ผ่องพรรณกล่าวว่า กรมฯ ยังได้มีการตรวจสอบนิติบุคคลที่มีทุนจดทะเบียนสูง ซึ่งตอนนี้กำลังตรวจสอบประมาณ 100 กว่าราย เพราะไม่มีหลักฐานแสดงชัดเจนว่ามีเงินทุนเข้าบริษัทจริง โดยได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เชิญมาพบ และขอให้ดำเนินการในเรื่องเงินทุนจดทะเบียนให้ถูกต้องตามที่ได้ยื่นขอจดทะเบียนไว้ ถ้าไม่ดำเนินการก็จะใส่ไว้ในหมายเหตุในงบการเงินว่าเป็นบริษัทที่ไม่มีทุนจดทะเบียนจริง ต้องระวังในการทำธุรกิจ เพราะไม่มีความน่าเชื่อถือ และขั้นตอนต่อไปก็จะพิจารณายกเลิก โดยกำลังดูข้อกฎหมายอยู่
“จะใส่ไว้ในงบการเงินเลยว่าบริษัทนี้ไม่น่าเชื่อถือ ใครที่คิดจะทำธุรกิจด้วยต้องระวัง แล้วจะใส่ไว้ในแอปพลิเคชัน DBD e-service ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ด้วย”
ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีบางบริษัทยื่นขอจดทะเบียนโดยมีทุนจัดตั้งสูงถึง 9 แสนล้านบาท ซึ่งเบื้องต้นกรมฯ ได้ชะลอการจดทะเบียนเอาไว้ก่อน และเรียกหลักฐานดู ซึ่งทางผู้ยื่นจดก็ไม่ได้ยื่นหลักฐานเข้ามา และล่าสุดกรมฯ ได้ออกประกาศเรื่องทุนจดทะเบียนเกิน 5 ล้านบาท ก็ได้แจ้งให้ยืนยันการจดทะเบียน ทางผู้จดก็ไม่มาจด และได้ขอยกเลิกการจดทะเบียนไปแล้ว
ขณะเดียวกัน ยังได้ดำเนินการตรวจสอบบริษัทที่มีทุนจดทะเบียนเกิน 1 หมื่นล้านบาท โดยเรียกมาตรวจสอบหลักฐานการลงทุน และมีหลายกรณีที่ได้ส่งให้กรมสรรพากรช่วยตรวจสอบเพิ่มเติม และบางกรณีได้มีการส่งดำเนินคดีแล้ว
น.ส.ผ่องพรรณกล่าวว่า สำหรับการส่งงบการเงินในปีนี้ กรมฯ ได้เปิดให้บริการรับงบการเงินผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ (DBD e-Filing) ซึ่งผู้ประกอบการสามารถส่งงบการเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ 2 รูปแบบ คือ รูปแบบ e-Form และ XBRL in Excel ซึ่งล่าสุดมีผู้ลงทะเบียนแล้ว 4,069 ราย แสดงตัวต่อเจ้าหน้าที่แล้ว 1,574 ราย และส่งงบการเงินแล้ว 41 ราย ซึ่งกรมฯ ขอเชิญชวนให้นิติบุคคลหันมาส่งงบการเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ให้มากขึ้น เพราะช่วยประหยัดเวลา และได้รับความสะดวกสบายเพิ่มขึ้น ซึ่งเร็วกว่า และดีกว่าการส่งงบการเงินแบบปกติ
“ขอเตือนให้ธุรกิจที่มีงบการเงินปี 2557 ต้องส่งงบการเงินตามกำหนด หากไม่ส่งกรมฯ จะดำเนินคดีตามกฎหมาย โดยในปีที่ผ่านมามีธุรกิจไม่ส่งงบการเงินประมาณ 20% ซึ่งกรมฯ ได้ดำเนินคดีแล้ว ทั้งสั่งปรับ และส่งตำรวจ และหากยังไม่ส่งงบการเงินติดต่อกัน 3 ปีก็จะเพิกถอนทะเบียนเป็นบริษัทร้าง” น.ส.ผ่องพรรณกล่าว