กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเผยตัวเลขการจดทะเบียนใหม่เดือน ก.พ. 2558 พบว่ามีจำนวน 5,631 ราย ลดลง 349 ราย คิดเป็น 6% เมื่อเทียบเดือน ม.ค. 2558 ส่วนการจดทะเบียนเลิกกิจการ เดือน ก.พ. 2558 จำนวน 1,113 ราย ส่วนทุนจดทะเบียนจำนวนทั้งสิ้น 14,815 ล้านบาท ลดลง 3,805 ล้านบาท คิดเป็น 20% กิจการจดทะเบียนใหม่สูงสุด ธุรกิจก่อสร้างอาคาร บัญชี ให้คำปรึกษา และเครื่องจักร
นางสาวผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า การจดทะเบียนธุรกิจประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2558 โดยมีผู้ประกอบธุรกิจยื่นขอจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนบริษัทจัดตั้งใหม่ทั่วประเทศ จำนวน 5,631 ราย ลดลง 349 ราย คิดเป็น 6% เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2558 ซึ่งมีจำนวน 5,980 ราย และเพิ่มขึ้น 777 ราย คิดเป็น 16% เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ซึ่งมีจำนวน 4,854 ราย สำหรับนิติบุคคลที่จดทะเบียนเลิกทั่วประเทศในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 มีจำนวน 1,113 ราย
สำหรับมูลค่าทุนจดทะเบียนจัดตั้งใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 มีจำนวนทั้งสิ้น 14,815 ล้านบาท ลดลงจำนวน 3,805 ล้านบาท คิดเป็น 20% เมื่อเทียบกับเดือนมกราคม 2558 ซึ่งมีจำนวน 18,620 ล้านบาท และลดลงจำนวน 3,717 ล้านบาท คิดเป็น 20% เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2557 ซึ่งมีจำนวน 18,532 ล้านบาท
โดยประเภทธุรกิจที่จดทะเบียนจัดตั้งสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้างอาคารทั่วไป จำนวน 657 ราย ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จำนวน 299 ราย ธุรกิจทำบัญชีและตรวจสอบบัญชี จำนวน 164 ราย ธุรกิจให้คำปรึกษาด้านการจัดการ จำนวน 125 ราย และขายส่งเครื่องจักร 116 ราย
ปัจจุบัน ณ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2558 มีห้างหุ้นส่วนบริษัทจำกัดดำเนินกิจการอยู่ทั่วประเทศ จำนวน 602,976 ราย มีทุนจดทะเบียนรวมทั้งสิ้น 15.91 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น บริษัทจำกัด 421,433 ราย บริษัทมหาชนจำกัด 1,080 ราย และห้างหุ้นส่วนจำกัด/ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล 180,463 ราย
นางสาวผ่องพรรณกล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแนวโน้มการจดทะเบียนจัดตั้งในช่วงไตรมาส 1 ของปี 2558 มีแนวโน้มสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยจำนวนการจัดตั้ง 2 เดือนแรกของไตรมาส 1 ปี 2558 สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนคิดเป็น 14%
และคาดว่าจะได้รับปัจจัยบวกจากมาตรการของรัฐบาลในการเร่งรัดการเบิกจ่ายและการลงทุนจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวต่อไป แต่อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจในด้านต่างๆ ได้แก่ ราคาน้ำมัน ราคาสินค้าเกษตร การบริโภคภาคเอกชน การลงทุน การท่องเที่ยว และการส่งออกที่มีสัญญาณดีขึ้น แต่ยังคงเปราะบางตามภาวะเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะส่งผลต่อการจดทะเบียนจัดตั้งโดยรวม
สำหรับเรื่องที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้เปิดให้บริการจดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนและบริษัทจำกัดข้ามเขตจังหวัด ตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน 2557 นั้น โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 มีการยื่นขอจดทะเบียนข้ามเขตจำนวน 808 ราย จากการจดทะเบียนทั่วประเทศจำนวน 5,631 ราย หรือคิดเป็น 14% โดยแบ่งออกเป็น
- ส่วนกลาง 585 ราย คิดเป็น 10% โดยสำนักงานในส่วนกลางที่รับจดทะเบียนข้ามเขตมากที่สุดคือ ส่วนจดทะเบียนธุรกิจกลาง (กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สนามบินน้ำ) จำนวน 143 ราย รองลงมา สำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าเขต 5 (บางนา) จำนวน 100 ราย และสำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าเขต 3 (รัชดาภิเษก) จำนวน 92 ราย
- ส่วนภูมิภาค 223 ราย คิดเป็น 4% โดยสำนักงานในส่วนภูมิภาคที่รับจดทะเบียนข้ามเขตมากที่สุดคือ สพค.จังหวัดปทุมธานี จำนวน 30 ราย รองลงมา สพค.ชลบุรี จำนวน 22 ราย และ สพค.จังหวัดสมุทรปราการ จำนวน 18 ราย
นอกจากนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้ายังได้เปิดให้บริการโปรแกรมตรวจสอบข้อมูลทั่วไปของนิติบุคคล โดยสามารถค้นหาจากรายชื่อหรือเลขทะเบียนของนิติบุคคล รวมทั้งข่าวสาร กิจกรรม โครงการต่างๆ และสถานที่ให้บริการของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าผ่านมือถือ (Application : DBD e-Service) โดยระบบจะแสดงผลเป็นภาษาไทย ซึ่งสามารถใช้งานผ่านระบบปฏิบัติการ IOS และ Android โดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2557 เป็นต้นมา เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถตรวจสอบข้อมูลนิติบุคคลได้ด้วยตนเอง ซึ่งมีสถิติผู้ใช้บริการระบบจนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2558 รวมทั้งสิ้น 334,001 ครั้ง โดยในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 มีการเข้าใช้ระบบนี้เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 38,060 ครั้ง คิดเป็น 13%
อย่างไรก็ตาม กรมพัฒนาธุรกิจการค้ายังคงส่งเสริมให้มีการใช้ e-Commerce เพื่อประกอบธุรกิจและขยายตลาดอย่างมีประสิทธิภาพ โดยกรมได้ออกเครื่องหมายรับรองการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (DBD Registered) เพื่อยืนยันการมีตัวตนของผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการซื้อขายสินค้าหรือบริการ ซึ่งปัจจุบันนี้มีผู้ยื่นขอจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แล้วจำนวน 11,497 ราย 13,138 เว็บไซต์ ประกอบด้วยนิติบุคคล 3,112 ราย คิดเป็น 27% บุคคลธรรมดา 8,385 ราย คิดเป็น 73%
โดยธุรกิจที่ขอจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์สูงสุด ได้แก่ ธุรกิจคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต จำนวน 2,409 เว็บไซต์ คิดเป็น 19% ธุรกิจแฟชั่น/เครื่องแต่งกาย/เครื่องประดับ จำนวน 2,086 เว็บไซต์ คิดเป็น 16% และธุรกิจการแพทย์และสุขภาพ จำนวน 1,449 เว็บไซต์ คิดเป็น 11% ตามลำดับ ซึ่งการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์จะช่วยสร้างความน่าเชื่อถือให้ผู้บริโภคมาใช้บริการ
นอกจากผู้ประกอบธุรกิจร้านค้าออนไลน์แล้ว กรมยังได้หารือกับตลาดกลางออนไลน์ให้กำกับดูแลสมาชิกให้มีการจดทะเบียนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ตามกฎหมาย เพราะหากปฏิบัติไม่ถูกต้องจะมีโทษปรับ และอาจต้องพิจารณางดให้บริการเข้าขายสินค้าในตลาดกลางด้วย ทั้งนี้เพื่อเป็นการกระตุ้นการขยายตัวของการซื้อขายทางออนไลน์ของไทยให้เติบโตในอัตราก้าวกระโดดเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ
ท้ายนี้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้ายังได้มีการเปิดตัวโครงการให้บริการรับงบการเงินผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ (DBD e-Filing) ซึ่งเป็นนวัตกรรมใหม่ที่มีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี XBRL มาสนับสนุนการให้บริการในการรับงบการเงินเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถใช้บริการผ่านเว็บไซต์กรม www.dbd.go.th > เลือก “การนำส่งงบการเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (DBD e-Filing)” ผู้ประกอบการสามารถส่งงบการเงินผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ (DBD e-Filing) ได้ 2 รูปแบบ คือ รูปแบบ e-Form และรูปแบบ XBRL in Excel ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2558 เป็นต้นมา ซึ่งมีสถิติผู้ใช้บริการระบบจนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2558 มีผู้สมัครลงทะเบียนจำนวน 1,927 ราย มาแสดงตัวตนต่อเจ้าหน้าที่จำนวน 570 ราย และส่งงบการเงินผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์แล้วจำนวน 4 ราย
ในโอกาสนี้ กรมฯ ยังเพิ่มทางเลือกในการขอหนังสือรับรองให้ผู้ประกอบธุรกิจโดยเปิดให้บริการออกหนังสือรับรองนิติบุคคลเป็นภาษาอังกฤษ ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2558 เป็นต้นมา เพื่อเตรียมพร้อมรองรับการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งตั้งแต่เปิดให้บริการจนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2558 มีผู้มาใช้บริการทั้งสิ้น 279 คำขอ จำนวน 287 ฉบับ แบ่งเป็นส่วนกลาง 197 คำขอ 204 ฉบับ ส่วนภูมิภาค 82 คำขอ 83 ฉบับ
* * * คลิก Like เพื่อมาเป็นแฟนเพจของหน้า "SME ผู้จัดการออนไลน์" รับข่าวสารในแวดวงธุรกิจเอสเอ็มอีที่สมบูรณ์แบบที่สุด และร่วมสนุกกับกิจกรรมลุ้นรับของรางวัลมากมาย คลิกที่นี่เลย!! * * *