“ฉัตรชัย” สั่งชะลอระบายข้าวครั้งที่ 3/2558 ออกไปก่อน หวั่นทำราคาข้าวเปลือกนาปรังที่กำลังออกสู่ตลาดร่วง เตรียมผลักดันขายจีทูจีแทน ทั้งตุรกีและเกาหลีใต้ คาดหากรวมกับฟิลิปปินส์และจีนที่เจรจาสำเร็จแล้วจะทำให้ราคาข้าวดีดตัวขึ้น พร้อมดันเปิดตลาดกลางซื้อขายสินค้าเกษตรและตลาดนัดข้าว เพิ่มทางเลือกในการขายให้แก่เกษตรกร ชง “พลังงาน” ปรับสูตรไบโอดีเซลเป็นบี 7 เริ่ม 1 เม.ย. ดึงราคาผลปาล์มดิบ รับส่งออก ก.พ.ส่อติดลบอีก
พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้ชะลอการระบายข้าวสารในสต๊อกรัฐบาลครั้งที่ 3/2558 ออกไปก่อน เพื่อไม่ให้สถานการณ์ราคาข้าวเปลือกในตลาดตกต่ำ เนื่องจากเป็นช่วงผลผลิตข้าวเปลือกนาปรังกำลังออกสู่ตลาด โดยยืนยันว่าราคาข้าวเปลือกเฉลี่ยจะไม่ต่ำกว่าตันละ 8,000 บาท ที่ความชื้น 15% แต่หากความชื้นมากกว่าชาวนาจะขายได้ในราคาที่ต่ำกว่า
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์กำลังเจรจาเร่งผลักดันการระบายข้าวผ่านวิธีรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) กับประเทศตุรกีและเกาหลีใต้ หากได้ข้อสรุปก็จะทำให้สถานการณ์ราคาข้าวดีขึ้น และเมื่อรวมกับจีทูจีที่ดำเนินการไปก่อนหน้านี้ ได้แก่ ฟิลิปปินส์ ปริมาณ 2 แสนตัน และจีนปริมาณ 2 ล้านตัน คาดว่าจะทำให้สถานการณ์ราคาข้าวดีขึ้น จากความต้องการที่เพิ่มขึ้น
พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์ยังได้ผลักดันโครงการ “ตลาดกลางซื้อขายสินค้าเกษตร” เพื่อเปิดโอกาสให้เกษตรกรและผู้ประกอบการสามารถเจรจาซื้อขายสินค้าเกษตรโดยไม่มีพ่อค้าคนกลางให้สามารถขายสินค้าได้ราคาสูงขึ้น โดยจะเปิดกระจายตามภูมิภาคต่างๆ และจะทำควบคู่ไปกับการจัดตลาดนัดค้าข้าว เพื่อรองรับผลผลิตข้าวเปลือกที่กำลังจะออกสู่ตลาด
สำหรับการลดต้นทุนให้แก่เกษตรกร ในวันที่ 23 มี.ค.นี้จะเชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้ประกอบการค้าปุ๋ยมาประชุมเพื่อหาแนวทางลดราคาปุ๋ยเคมี ซึ่งพบว่าเป็นต้นทุนการผลิตที่สำคัญของเกษตรกรที่ใช้ปลูกพืชทุกชนิด โดยกระทรวงพาณิชย์จะดูแลด้านราคา ขณะที่กระทรวงเกษตรฯ จะดูแลด้านคุณภาพและการใช้ให้เหมาะสมกับพื้นที่เพาะปลูกแต่ละแห่งเพื่อลดการสูญเสียทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการใช้ปุ๋ยไม่ตรงวัตถุประสงค์
ส่วนผลการประชุมคณะอนุกรรมการด้านการตลาดปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม ที่ประชุมได้หารือถึงปริมาณผลผลิตปาล์มที่เริ่มออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง จึงมีมติให้กระทรวงพลังงานปรับเพิ่มสูตรการผลิตไบโอดีเซลจากบี 3 ไปเป็นบี 7 เหมือนเดิม โดยเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.เป็นต้นไป ซึ่งหากคำนวณปริมาณความต้องการใช้ผลผลิตปาล์มเพื่อนำไปผสมเป็น บี 7 จะอยู่ที่ประมาณ 70,000 ตันต่อเดือน
ขณะเดียวกัน ได้ประสานไปยังการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ให้นำผลผลิตปาล์มไปผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติมในโรงไฟฟ้าที่จังหวัดกระบี่ และยังได้ขอความร่วมมือภาคเอกชน ทั้งโรงสกัด และโรงกลั่น รับซื้อผลปาล์มสดจากเกษตรกรในราคาเป้าหมายไม่ต่ำกว่ากิโลกรัมละ 5 บาท แต่จะต้องมีสัดส่วนน้ำมันไม่ต่ำกว่า 17% ซึ่งต้องขอความร่วมมือให้เกษตรกรควบคุมคุณภาพ ไม่เร่งเก็บผลผลิตปาล์มก่อนกำหนด
ทั้งนี้ คาดการณ์ปริมาณผลผลิตผลปาล์มที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ มี.ค. ปริมาณ 8.8 แสนตัน และปริมาณจะเพิ่มขึ้นสูงสุดที่ 1.38 ล้านตัน ส่วน พ.ค. 1.26 ล้านตัน มิ.ย. 1.19 ล้านตัน ส่วนสต๊อกน้ำมันปาล์ม เดือน มี.ค. 1.5 แสนตัน เม.ย. 2.3 แสนตัน พ.ค. 3.0 แสนตัน และ มิ.ย. 3.5 แสนตัน ทางด้านระดับราคา ผลปาล์มน้ำมัน 17% มี.ค. 2557 เฉลี่ยที่ กก.ละ 5.15 บาท ส่วนปี 2558 ม.ค. กก.ละ 6.18 บาท ก.พ. กก.ละ 6.31 บาท มี.ค. (15 มี.ค.) กก.ละ 4.30-5.00 บาท
พล.อ.ฉัตรชัยกล่าวว่า การส่งออกในเดือน ก.พ. 2558 คาดว่าจะมีมูลค่าใกล้เคียงกับเดือน ม.ค. 2558 ซึ่งสาเหตุที่แนวโน้มการส่งออกยังคงขยายตัวลดลงต่อเนื่องเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจของหลายประเทศไม่ฟื้นตัว เช่น จีน ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป (อียู) ยกเว้นสหรัฐฯ ที่เศรษฐกิจภายในประเทศฟื้นตัว ประกอบกับอัตราแลกเปลี่ยนของไทยขณะนี้เสียเปรียบประเทศอื่น ทำให้มูลค่าการส่งออกของไทยลดลง แต่ในแง่ปริมาณการส่งออกยังเท่าเดิม
“ปัจจัยเสี่ยงที่เข้ามากระทบการส่งออกไทย ถามว่าจะปรับเป้าหมายที่ตั้งไว้ 4% หรือไม่ ก็อาจจะ แต่ยืนยันว่าเป้าหมายเป็นตัวเลขที่ตั้งไว้ ไม่อยากให้กังวลมาก เพราะตัวเลขส่งออกที่สะท้อนออกมาจะทำให้ภาครัฐมีมาตรการในการดูแลการส่งออก ซึ่งขณะนี้ได้พยายามเร่งที่จะหาตลาดใหม่ๆ เข้ามาเพิ่มเติมเพื่อผลักดันการส่งออก รวมทั้งการผลักดันการค้าชายแดนให้เพิ่มมากขึ้น” พล.อ.ฉัตรชัยกล่าว
รายงานข่าวแจ้งว่า กระทรวงพาณิชย์จะมีการแถลงตัวเลขการส่งออกเดือน ก.พ.อย่างเป็นทางการในสัปดาห์หน้า