xs
xsm
sm
md
lg

สนข.จัดระบบเดินทางรับรถไฟฟ้าเสร็จ ยอมรับมาตรการจ่ายค่าเข้า กทม.ชั้นในไม่เหมาะ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.)
สนข.ศึกษาแผนบริหารจัดการความต้องการเดินทาง วิเคราะห์ข้อดีข้อเสีย เตรียมพร้อมใช้หลังรถไฟฟ้าสร้างเสร็จ 10 สาย เน้นมาตรการส่งเสริมใช้ระบบขนส่งสาธารณะมากขึ้น ส่วนมาตรการเข้มข้น ทั้งเก็บค่าจอด เก็บค่าเข้าพื้นที่ชั้นในอาจไม่เหมาะคนไทย เล็งดึงภาคอสังหาริมทรัพย์ร่วมมือ จัดรถฟีดเดอร์บริการลูกบ้านเชื่อมสถานีรถไฟฟ้า ตั้งเป้าลดใช้รถส่วนตัวลงจาก 65% เหลือ 50%

นายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า สนข.ได้จัดสัมมนารับฟังความคิดเห็น “โครงการบริหารจัดการความต้องการในการเดินทาง (Demand Management)” เพื่อรองรับการพัฒนาโครงข่ายการจราจรและระบบขนส่งสาธารณะภายในกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1 โดยมีผู้แทนหน่วยงานรัฐ เอกชน รวมถึงผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น เพื่อร่วมกันวางแผนการบริหารจัดการการเดินทางให้เกิดประสิทธิภาพและสอดคล้องกับโครงการรถไฟฟ้า 10 สาย ระบบรถเมล์ และการก่อสร้างสะพานที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เพราะหากรถไฟฟ้าก่อสร้างเป็นโครงข่ายแล้วเสร็จแต่ประชาชนยังใช้รถส่วนตัวเหมือนเดิม ปัญหาการจราจรจะไม่ได้รับการแก้ไข ซึ่งการศึกษานี้จะนำเสนอถึงแนวทางการบริหารจัดการเดินทางในวิธีต่างๆ ในหลายประเทศที่มีการนำมาใช้แก้ปัญหาจราจร โดยจะใช้เวลาศึกษา 8 เดือน (ม.ค.-ก.ย. 2558) จากนั้นจะสรุปข้อมูลเสนอกระทรวงคมนาคมต่อไป

โดยปัจจุบันกรุงเทพฯ มีปริมาณรถยนต์ทั้งรถส่วนบุคคล รถจักรยานยนต์ และรถสาธารณะต่างๆ วันละประมาณ 16-20 ล้านเที่ยว โดยคิดเป็นสัดส่วนการเดินทางโดยรถส่วนบุคคล 65% และรถโดยสารสาธารณะประเภทต่างๆ 35% ซึ่งเป็นการใช้รถส่วนตัวที่สูงมากในเมืองใหญ่ที่มีระบบขนส่งสาธารณะสมบูรณ์ทั้งรถไฟฟ้า รถเมล์ ทางเรือโดยสาร ดังนั้นเมื่อรถไฟฟ้าสร้างครบตามแผนแม่บทและมีระบบตั๋วร่วมเข้ามาให้บริการ จะต้องพยายามลดสัดส่วนการใช้รถส่วนตัวลงมาอยู่ที่สัดส่วน 50:50 และดีที่สุดคือลดเหลือ 40% และใช้ระบบขนส่งสาธารณะ 60%

นายชัยวัฒน์กล่าวว่า มาตรการในการจัดการทางเลือกการเดินทางนั้นมี 2 วิธีหลัก คือ 1. วิธีส่งเสริมให้ใช้ระบบขนส่งสาธารณะให้มากขึ้น ซึ่งแนวทางนี้เหมาะสมกับกรุงเทพฯ มาก เช่น พัฒนาการเชื่อมต่อทางกายภาพระหว่างสถานีรถไฟฟ้า กับรถโดยสาร ท่าเรือ เชื่อมต่อด้วยระบบตั๋วร่วม และใช้รถเดินทางไปด้วยกันในเส้นทางเดียว (Car Sharing) ซึ่งได้เชิญตัวแทนภาคเอกชนผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์มาให้ข้อเสนอแนะในการจัดระบบรถโดยสารให้บริการประชาชนที่อยู่ในโครงการหมู่บ้าน, คอนโดมิเนียมต่างๆ เป็นสถานีย่อยๆ จากหมู่บ้านเดินทางออกมายังสถานีรถไฟฟ้าหรือรถเมล์ เป็นต้น

2. วิธีการห้ามหรือป้องกัน เช่น การเก็บเงินค่าเข้าพื้นที่ชั้นใน เพิ่มค่าที่จอดรถให้แพงขึ้นซึ่งอยู่ในอำนาจของ กทม.และมีกฎหมายรองรับ เป็นต้น แต่จะดำเนินการได้หรือไม่นั้นจะต้องมีระบบขนส่งมวลชนที่มีโครงข่ายสมบูรณ์ นอกจากนี้จะต้องมีการศึกษาวิเคราะห์ว่ามาตรการใดเหมาะสมกับกรุงเทพฯ และคนไทย และมีผลกระทบน้อยแต่ได้ผลในเรื่องการบริหารจัดการเดินทาง และนำเสนอระดับนโยบายต่อไป ซึ่งยอมรับเป็นเรื่องยากเพราะต้องดูพฤติกรรมคมไทยด้วย บางมาตรการคนไทยไม่สนับสนุน โดยก่อนหน้านี้เคยมีการพูดถึงมาตรการห้ามรถอายุเกิน 10 ปีเข้าเขตพื้นที่ชั้นใน แต่มีเสียงต่อต้าน

โดยจากข้อมูลพบว่า มาตรการที่เคยนำมาใช้ในกรุงเทพฯ แล้วประสบความสำเร็จ เช่น เหลื่อมเวลาทำงาน ช่องเดินรถประจำทาง (Bus Lane) รถโรงเรียน ทางมวลชนรถส่วนตัวนั่งเกิน 3 คน ห้ามรถบรรทุกเข้ากรุงเทพฯ เป็นต้น ส่วนแนวคิดอื่นๆ ที่ยังไม่เคยนำมาใช้ เช่น ห้ามทะเบียนรถตัวสุดท้าย จัดไฟจราจรโดยให้สิทธิแก่รถสาธารณะ ตั๋วร่วม จอดรถรับส่งนักเรียนในห้าง ปรับปรุงเส้นทาง ขสมก. คาร์ฟรีเดย์เดือนละ 1 วัน ห้ามรถอายุเกิน 10 ปีเข้าเขต กทม. ส่วนมาตรการด้านการเงิน เช่น การเพิ่มภาษีรถยนต์ การเก็บค่าผ่านทางเข้าพื้นที่ เป็นต้น
กำลังโหลดความคิดเห็น