xs
xsm
sm
md
lg

กรมเชื้อเพลิงฯ โต้เจาะหลุมดงมูล-บีไม่ได้ใช้วิธี Hydraulic Fracturing

เผยแพร่:   ปรับปรุง:

กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติขอยืนยันการเจาะหลุมสำรวจดงมูล-บี อำเภอกระนวน จังหวัดขอนแก่น ไม่ได้มีแผนดำเนินการโดยใช้วิธี Hydraulic Fracturing แต่อย่างใด
 

ตามที่มีการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับแผนการดำเนินการเจาะหลุมสำรวจ/ประเมินปิโตรเลียมฐานดงมูล-บี หลุมดงมูล 5 (DM-5) แปลงสำรวจบนบกหมายเลข L27/43 อำเภอกระนวน จังหวัดขอนแก่นของบริษัท อพิโก้ (โคราช) จำกัด ว่าจะมีการใช้วิธี Hydraulic Fracturing และจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซี่งได้ก่อให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน และสร้างความวิตกกังวลแก่ภาคประชาชน ในพื้นที่เกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นนั้น

นางพวงทิพย์ ศิลปศาสตร์ อธิบดีกรมเชี้อเพลิงธรรมชาติ ยืนยันว่าการให้ข้อมูลดังกล่าวคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงอย่างสิ้นเชิง เพราะแผนการดำเนินการเจาะหลุมสำรวจ/ประเมินปิโตรเลียมฐานดงมูล-บี ซี่งได้มีการอนุมัติให้มีการดำเนินการในครั้งนี้ มิได้กำหนดใช้วิธี Hydraulic Fracturing แต่อย่างใด เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ทุกภาคส่วนของสังคม จึงขอให้ข้อมูลทางด้านวิชาการที่ถูกต้องเกี่ยวกับ Hydraulic Fracturing ดังนี้

● การทำ Hydraulic Fracturing เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตปิโตรเลียมจากแหล่งกักเก็บ โดยไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม เพราะวัสดุที่ใช้ในการทำผลิตมาจากธรรมชาติ ซึ่งไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น น้ำ หรือสารเพิ่มความหนืดซึ่งทำมาจากถั่ว (Guar gum) และในการดำเนินการทุกขั้นตอนจะมีมาตรการในการควบคุมเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำบาดาล และสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะในประเทศไทยที่ผ่านมาเคยมีการดำเนินการในชั้นหินที่เป็นแหล่งกักเก็บปิโตรเลียมที่มีรูพรุนน้อย ไม่สามารถไหลได้เอง ในระดับความลึกซึ่งลึกกว่าชั้นน้ำบาดาลที่มีความลึกเพียงประมาณ 40 เมตร

● สำหรับประเด็นที่มีการให้ข้อมูลเรื่องการใช้สารเคมีที่อาจกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ในข้อเท็จจริงการทำ Hydraulic Fracturing ใช้น้ำมากกว่าร้อยละ 90% ผสมกับสารเคมีทั่วไปที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม และส่วนใหญ่ใช้ในชีวิตประจำวัน ในสัดส่วนที่เหมาะสมกับสภาพทางธรณีวิทยาในชั้นหินนั้นๆ อัดลงไปด้วยแรงดันเพื่อให้เกิดช่องว่างในชั้นหินที่ต้องการ หลังจากนั้นจึงอัดเม็ดทรายหรือเซรามิกที่มีขนาดเท่าๆ กันจะเข้าไปแทรกในช่องว่างของชั้นหินที่เกิดขึ้นจากแรงอัด เพื่อไม่ให้รอยแยกช่องว่างของหินปิดตัวลง ซึ่งจะทำให้ปิโตรเลียมสามารถไหลผ่านช่องว่างได้ดียิ่งขึ้น

● ปัจจุบันการทำ Hydraulic fracturing มีมาตรการป้องกันเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เพราะก่อนจะดำเนินการจะมีการป้องกันอย่างเป็นระบบ เริ่มต้นจากการทำเกราะป้องกันด้วยการลงท่อเหล็กที่ทนแรงดันสูงและกรุด้วยซีเมนต์ระหว่างท่อและชั้นหิน และกรุท่อเหล็กในหลุมรวมถึงขอบหลุมเพื่อป้องกันไม่ให้แรงดันและส่วนประกอบของเหลวที่ใช้ในการทำ Hydraulic fracturing ไหลย้อนกลับขึ้นมา ทั้งนี้จะมีการทดสอบความแข็งแรงของท่อเหล็กและผนังซีเมนต์ทุกครั้ง โดยการหยั่งเครื่องมือลงไปทดสอบความแข็งแรงของผนังซีเมนต์เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการรั่วไหลของของเหลวไปกระทบต่อชั้นน้ำบาดาลและชั้นหินอื่นๆ

“ดังนั้น ขอยืนยันว่าหลุมดงมูล 5 (DM-5) มิได้มีแผนดำเนินการโดยใช้วิธี Hydraulic Fracturing และการทำ Hydraulic Fracturing เป็นเพียงการทำให้ปิโตรเลียมไหลผ่านช่องว่างได้ดียิ่งขึ้นภายใต้การกำกับดูแลให้เป็นไปตามมาตรฐานทางด้านวิชาการและมีการป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นอย่างดี ซึ่งในทุกขั้นตอนมิได้เป็นไปตามที่มีบางกลุ่มเจตนานำข้อมูลหรือวิธีการที่ใช้ในต่างประเทศมานำเสนอเพื่อให้เกิดความวิตกกังวลของภาคประชาชนตามกระแสข่าวแต่อย่างใด” นางพวงทิพย์กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น