ศูนย์ข่าวขอนแก่น-"คุรุจิตร" สปช.บ่อก๊าซดงมูล 5 ต.กุงเก่า อ.ท่าคันโท จ.กาฬสินธุ์ ร่วมกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติและบริษัทอพิโก้ฯนายทุนรับสัมปทานขุดเจาะ ขณะที่กลุ่มชาวบ้านถือป้ายต่อต้าน ลั่นหนุนเดินหน้าขุดเจาะบ่อก๊าซในพื้นที่ต่อ ไม่สนเสียงค้านชาวบ้านในพื้นที่
จากการลงพื้นที่รับฟังปัญหาชาวบ้านนามูล ดูนสาด อ.กระนวน จังหวัดขอนแก่นกรณีพิพาทโครงการขุดเจาะสำรวจปิโตรเลียมแปลงสำรวจ L27/43 หลุมดงมูล-บี (ดงมูล 5) ของบริษัท อพิโก้ (โคราช) จำกัด บนพื้นที่ต.กุงเก่า อ.ท่าคันโทร จ.กาฬสินธุ์ นำโดย น.ส.รสนา โตสิตระกูล สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ นายประสาร มฤคพิทักษ์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ประธานกรรมกรรมาธิการปฏิรูปการคุ้มครองผู้บริโภค สภาปฏิรูปแห่งชาติ และคณะ เมื่อวันที่ 21 ก.พ 58 ที่ผ่านมา เพื่อรวบรวมข้อมูลนำเข้าสู่การหารือในสภาปฏิรูปแห่งชาติพร้อมเสนอแก้กฎหมายพ.ร.บ.ปิโตรเลียม
ล่าสุด วันที่ (28 ก.พ.) นายคุรุจิตร นาครทรรพ รองประธานกรรมาธิการปฏิรูปแห่งชาติ คนที่ 1 และคณะลงพื้นที่โครงการเจาะสำรวจ หลุมดงมูล 5 (DB-5) ต.กุงเก่า อ.ท่าคันโท จ.กาฬสินธุ์ เพื่อสร้างความเข้าใจในการประกอบการปิโตรเลียมของบริษัทอพิโก้ (โคราช) จำกัด พร้อมรับฟังคำแนะนำเรื่องความปลอดภัย (safety Induction) โดยดร.ภูมี ศรีสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักจัดการเชื้อเพลิงธรรมชาติในฐานะผู้แทนกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ บรรยายสรุปข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับการกำกับดูแลกิจการปิโตรเลียม และMr.Dwight C.Johnson ผู้จัดการบริษัท อพิโก้ (โคราช) จำกัด บรรยายสรุปการดำเนินงานในภาพรวมของบริษัท
การลงพื้นที่ครั้งนี้มีชาวบ้านกลุ่มอนุรักษ์ในพื้นที่ได้ออกมารวมตัวถือป้ายต่อต้านโครงการและยังมีชาวบ้านอีกกลุ่มออกมาถือป้ายสนับสนุน
นายคุรุจิตร นาครทรรพ รองประธานกรรมาธิการปฏิรูปแห่งชาติ คนที่ 1 เปิดเผยว่า เรื่องแหล่งก๊าซธรรมชาติมีความสำคัญและผลต่อมีความมั่นคงด้านพลังงาน ซึ่งการเดินทางลงพื้นที่ครั้งนี้ ทางบริษัทอพิโก้ (โคราช) จำกัด เปิดให้ดูถึงขั้นตอนและกระบวนการต่างๆ ซึ่งทราบว่ากระบวนการขุดเจาะไม่มีการปล่อยของเสียเนื่องจากเป็นระบบปิด ไม่มีผลกระทบต่อการทำการเกษตรตามที่ชาวบ้านเข้าใจ
ทั้งนี้ที่ผ่านมาบริษัทเอสโซ่เคยเข้ามาสำรวจก๊าซดงมูล 1 เมื่อปี 2533 แต่ไม่พบก๊าซในเชิงพาณิชย์ จึงมีการปิดหลุมและคืนพื้นที่ไป ต่อมาเปิดให้มีการขอสัมปทานในปี 2547 ทางบริษัทอพิโก้ (โคราช) จำกัด ได้มาขอพื้นที่แปลงสำรวจ 2 แปลง ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แปลงที่ 1 อยู่ที่จังหวัดอุดรธานี ซึ่งอยู่ติดกับบ่อก๊าซสินภูฮ่อม
แปลงที่ 2 คือแปลงสำรวจดงมูลบี พื้นที่คาบเกี่ยว ต.ดูนสาน อ.กระนวน จ.ขอนแก่น และ ต.กุงเก่า อ.ทาคันโทร จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งจากรายงานพบว่า ในช่วง 9 ปีที่ผ่านมา มีการเจาะหลุมสำรวจของบริษัทอพิโก้มาแล้ว 2 หลุมแต่ไม่พบก๊าซธรรมชาติ ต่อมาจึงมีความประสงค์จะขอเจาะสำรวจเพิ่มเติมที่พื้นที่ดังกล่าว
นายคุรุจิตร กล่าวอีกว่า การขุดเจาะสำรวจหลุมดงมูลบี ต.ดูนสาด อ.กระนวน จ.ขอนแก่น ได้รับรายงานจากบริษัทว่าจะมีการเจาะสำรวจลึกประมาณ 2,800-3,000 เมตรจากพื้นดิน โดยใช้เวลาในการขุดเจาะประมาณไม่ต่ำกว่า 2 เดือน หรืออาจมากถึง 4 เดือน ซึ่งหากพบแหล่งก๊าซจะมีการสร้างโรงไฟฟ้าเล็กๆหรือทำสถานีก๊าซ NGV เติมรถยนต์
ทางคณะกรรม สปช.ได้ซักถามถึงกระบวนการทำงานร่วมของภาคประชาชนและการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมว่าทางบริษัทอพิโก้ฯได้ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ซึ่งได้รับการชี้แจงจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติและของบริษัทฯ ได้ทำรายงานผลกระทบมาตั้งแต่ปี 2556 ตามกระบวนการทางกฎหมาย และให้ประชาชน.มีส่วนร่วมรับฟัง 2 ครั้ง จนในที่สุดได้รับความเห็นชอบจากกระทรวงทรัพยากรฯเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557
นายคุรุจิตร กล่าวต่อไปว่า ในขั้นตอนการขนย้ายอุปกรณ์ขุดเจาะบ่อก๊าซในพื้นที่ ทางจังหวัดขอนแก่นได้การตั้งคณะกรรมการไตรภาคี และกรรมการจากภาคประชาชน 11 หมู่บ้าน จากต,ดูนสาด หมู่บ้านละ 2 คน เข้ามาตรวจตราความเรียบร้อยในพื้นที่ ทั้งนี้ทางคณะฯได้เน้นย้ำให้บริษัททำตามขั้นตอนให้ถูกต้องตามกฎหมายในเรื่องของการรายงานผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม หรือ EIA เน้นให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชน ในลำดับต่อไปจะมีการตรวจสอบตลอดการขุดเจาะ เป็นระยะเวลา 90 วันนับจากนี้
ด้านนายมนูญ ศิริวรรณ รองประธานกรรมาธิการปฏิรูปแห่งชาติ คนที่ 2 เปิดเผยว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้ มาในนามกรรมธิการสปช.ไม่ได้มาในนามของกระทรวงพลังงาน เพื่อมารับทราบข้อเท็จจริงทั้งสองด้านจากประชาชนที่สนับสนุนและประชาชนที่ต่อต้าน เพื่อสำรวจและนำข้อมูลกลับไปพูดคุยและนำเสนอต่อคณะกรรมธิการสปช .ต่อไป
“ ทั้งนี้การค้นพบก๊าซในพื้นที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งยังไม่เพียงพอจึงต้องซื้อก๊าซมาใช้จากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งในประเทศไทยมีอัตราเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ขณะที่ประเทศไทยมีแหล่งก๊าซธรรมชาติแค่ 2 แหล่ง ที่สินภูฮ่อมและน้ำพองเท่านั้น หากมีการพบแหล่งก๊าซที่ดงมูลบีจริงจะเป็นการเพิ่มปริมาณการใช้ก๊าซและช่วยชะลอการขึ้นค่าไฟฟ้าได้” นายมนูญ กล่าว
ทั้งนี้ตามข้อกำหนดการว่าจ้างทำ EIA ว่าต้องผ่านการเห็นชอบก่อนถึงจะได้รับเงิน ทางสภาปฏิรูปมีการแก้ไขโดยการเปลี่ยนจากการให้บริษัทผู้ประกอบการว่าจ้าง เป็นให้รัฐเป็นผู้ว่าจ้างแทน ทั้งนี้สำหรับสปช.ที่มีการลงพืนที่ก่อนหน้านี้ว่าจะมีการเสนอเปลี่ยนพ.ร.บ.ปิโตรเลียม ให้มีการระบบอื่นๆร่วมด้วยไม่ให้ผูกติดกับระบบสัมปทานอย่างเดียว จะมีระบบแบ่งปันผลผลิตหรือระบบจ้างผลิต เพื่อเปิดกว้างให้มีการใช้ระบบอื่นร่วมกับระบบสัมปทาน
ด้าน ดร.ภูมี ศรีสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักจัดการเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้เพื่อดูการทำงานของอพิโก้ และเพื่อพบปะประชาชน จึงคาดว่าในช่วงกลางเดือนมีนาคม 2558 จะมีการทราบผลเพื่อดำเนินการขุดเจาะต่อไปอย่างตามกฎหมายต่อไปอย่างแน่นอน
ทั้งนี้ขณะที่คณะสปช.ลงพื้นที่ก็มีชาวบ้านต.กุงเก่า อ.ท่าคันโทร จำนวน 50 คน ถือป้ายสนับสนุนขณะลงพื้นที่สำรวจหลุมขุดเจาะ ก่อนจะเดินทางไปรับฟังชาวบ้านนามูล ต.ดูนสาด จ.ขอนแก่น เพื่อทำความเข้าใจการขุดเจาะก๊าซในพื้นที่ โดยมีชาวบ้านในส่วนที่ต่อต้านออกมาถือป้ายคัดค้านและขับร้องไล่ตลอดทางอีกด้วย