xs
xsm
sm
md
lg

บ้านปูจ่อรุกโรงไฟฟ้าทดแทนในจีน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


บ้านปูจ่อลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่จีน เล็งโรงไฟฟ้าแสงอาทิตย์และพลังลม หลังรัฐบาลจีนส่งเสริม ขณะเดียวกันก็เร่งสรุปผลการลงทุนโครงการ Coal to Chemical ที่มองโกเลีย คาดสิ้นปีนี้รู้ผลชัดเจน

นายวรวุฒิ ลีนานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) เปิดเผยความคืบหน้าการทดสอบแปลงถ่านหินจากโครงการเหมืองถ่านหินที่ซานต์อูลเป็นเคมี (Coal to Chemical) ว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการทดสอบการผลิตจากโรงงานนำร่องว่าจะสามารถพัฒนาเชิงพาณิชย์ได้หรือไม่ หลังจากล่าช้ากว่าแผนงานเดิมที่เคยวางไว้จากเดิมที่กำหนดปลายปี 2557 อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะได้ข้อสรุปการตัดสินใจลงทุนหรือไม่ในปลายปีนี้

โดยยอมรับว่าราคาน้ำมันโลกที่ปรับตัวลดลงย่อมส่งผลกระทบต่อโครงการดังกล่าว แต่เนื่องจากการลงทุนต้องมองระยะยาวเพราะกว่าจะก่อสร้างโรงงานเชิงพาณิชย์ใช้เวลา 3 ปี ซึ่งเวลานั้นราคาน้ำมันก็คงขยับตัวสูงขึ้น อีกทั้งมองโกเลียเองก็ต้องนำเข้าน้ำมันอยู่ ทำให้ปัจจัยลบดังกล่าวไม่ส่งผลกระทบมากนัก แต่ก็เป็นโอกาสที่ดีเนื่องจากช่วงนี้ค่าก่อสร้างและเหล็กถูกลงด้วย

โครงการดังกล่าวใช้ถ่านหินเป็นวัตถุดิบในการผลิตน้ำมันเบา (โคล ทาร์) และมีแก๊สบางส่วนในกระบวนการผลิตนำไปปั่นเป็นกระแสไฟฟ้าได้ รวมทั้งมีเซมิโค้กที่ใช้ในอุตสาหกรรมผลิตเหล็กด้วย

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังดูโอกาสและศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนในจีนทั้งโรงไฟฟ้าพลังลมและโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ นอกเหนือจากการลงทุนโรงไฟฟ้าถ่านหินซานซีลู่กวงขนาด 1,200 เมกะวัตต์ ซึ่งบ้านปูถือหุ้นอยู่ 30% เนื่องจากจีนมีนโยบายที่จะเพิ่มสัดส่วนธุรกิจพลังงานทดแทนเป็น 35%ใน 30 ปีข้างหน้าจากปัจจุบันมีสัดส่วนไม่ถึง 10% ทำให้จีนในช่วงนี้มีโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์และพลังลมเพิ่มมาก

ทั้งนี้ การลงทุนโรงไฟฟ้าในจีนเพิ่มเติมนี้บริษัทฯ ยังเน้นหาพันธมิตรร่วมทุนท้องถิ่น โดยไม่มีนโยบายที่จะถือหุ้น 100% ในจีน โดยในปี 2560 บ้านปูมีกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัดส่วนถือหุ้นในจีน รวมทั้งสิ้น 860 เมกะวัตต์

นายวรวุฒิกล่าวถึงความคืบหน้าการลงทุนโรงไฟฟ้าปากเหมืองที่อินโดนีเซียว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้โครงการ หลังจากรัฐบาลได้ปรับอัตราค่าไฟขึ้นมาใหม่อยู่ที่ระดับ 8 เซ็นต์กว่า/หน่วย เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนโรงไฟฟ้าในประเทศแก้ปัญหาไฟขาดแคลน จากเดิมที่อัตราค่าไฟต่ำอยู่ที่ 6-7 เซ็นต์/หน่วย ซึ่งต่ำเกินจริง
ดังนั้นการปรับขึ้นอัตราค่าไฟ กอปรกับราคาถ่านหินที่ต่ำจึงมีความเป็นไปได้มากที่จะลงทุนตั้งโรงไฟฟ้าใหม่ในอินโดนีเซีย โดยเล็งการลงทุนโรงไฟฟ้าขนาด 100 เมกะวัตต์ที่บ้านปูอาจจะถือหุ้น 100% แต่หากเป็นโครงการโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่จะร่วมทุนกับพันธมิตรท้องถิ่น คาดมีความชัดเจนการลงทุนโรงไฟฟ้าอินโดนีเซียได้ในปลายปี 2558

ส่วนที่ออสเตรเลีย บริษัทไม่มีแผนที่จะเข้าไปลงทุนธุรกิจไฟฟ้าที่นั่น เนื่องจากค่าไฟได้ปรับตัวลดลงหลังจากค่าเชื้อเพลิงถูกลง และปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าที่โตขึ้นในออสเตรเลียไม่เป็นไปตามที่คาดหมายไว้ ทำให้ผลตอบแทนการลงทุนต่ำ ไม่คุ้มการลงทุน ทั้งๆ ที่ออสเตรเลียเป็นประเทศแรกที่บริษัทฯ เข้าไปศึกษาที่จะลงทุนธุรกิจไฟฟ้าเนื่องจากมีเหมืองถ่านหินอยู่ที่นั่นอยู่แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น