xs
xsm
sm
md
lg

รฟม.เปลี่ยนใช้ PPP เดินรถสีชมพู-เหลือง ลดความเสี่ยงหวั่นทำเองไม่คล่องตัว

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


รฟม.กลับลำปรับรูปแบบเดินรถสายสีชมพูและสีเหลืองใช้วิธีร่วมทุนเอกชน (PPP) แทนให้ รฟม.เดินรถเอง หรือ PSC อ้างเหตุเอกชนเดินรถคล่องตัวกว่า มีประสบการณ์มากกว่า และต้องการลดความเสี่ยงรัฐ ชี้แนวคิดตั้งกรมราง และให้ รฟม.เดินรถอย่างเดียวยังไม่ชัด ส่วนเดินรถสีเขียวรอ กทม.ตอบกลับเงื่อนไขใช้คืนค่าก่อสร้าง ไม่สำเร็จจ่อเจรจาตรง BTS แทน

พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟฟ้าอีก 3 สายที่อยู่ในขั้นตอนการเตรียมเสนอขออนุมัติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ขณะนี้ รฟม.อยู่ระหว่างปรับแผนการเดินรถสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) และสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) หลังจากที่กระทรวงคมนาคมได้ส่งเรื่องกลับมายัง รฟม.เพื่อให้ปรับรูปแบบงานเดินรถใหม่ จากเดิมที่ รฟม.จะเดินรถเอง หรือ PSC เป็นรูปแบบการร่วมทุนกับเอกชน หรือ PPP เนื่องจากเห็นว่าจะช่วยลดความเสี่ยงและลดภาระของ รฟม.ลง นอกจากนี้ เอกชนยังมีความคล่องตัวและมีประสบการณ์ในการทำงานมากกว่าภาครัฐที่มีระเบียบและขั้นตอนมาก โดยคาดว่าจะสรุปรายละเอียดและเสนอไปยังกระทรวงคมนาคมได้ภายใน 2 สัปดาห์เพื่อเสนอ ครม.ต่อไป

ทั้งนี้ แนวทางที่ต้องการให้ รฟม.เดินรถเองในเส้นทางใหม่นั้นเพื่อรองรับอนาคตและเป็นการเตรียมบุคลากรสำหรับอนาคตที่จะมีการจัดตั้งกรมรางขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ กำกับดูแลและรับผิดชอบก่อสร้างระบบราง ส่วน รฟม.จะทำหน้าที่เรื่องการเดินรถเท่านั้น ซึ่ง พล.อ.ยอดยุทธกล่าวว่า ตอนนี้นโยบายให้เอกชนรับเดินรถเพื่อลดความเสี่ยงของภาครัฐอีกทั้งการจัดตั้งกรมรางยังไม่ชัดเจนอีกด้วย

ส่วนรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตะวันออก (พระราม 9-มีนบุรี) นั้น รฟม.ได้ส่งรายละเอียดโครงการก่อสร้างไปยังกระทรวงคมนาคมแล้ว หลังจากที่ได้ดำเนินการปรับแนวเส้นทางใหม่เพื่อลดผลกระทบการเวนคืน

สำหรับการเดินรถสายสีเขียวใต้ (แบริ่ง-สมุทรปราการ) นั้น พล.อ.ยอดยุทธกล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่ง กทม.จะต้องรับหนี้ค่าก่อสร้างงานโยธาแทน รฟม. และหาข้อยุติเรื่องอำนาจการเดินรถนอกเขต กทม. ซึ่งหาก รฟม.สามารถเจรจากับ กทม.ได้ข้อยุติจะเสนอกระทรวงคมนาคมตามขั้นตอน แต่หากตกลงกันไม่ได้ รฟม.จะบริหารจัดการเดินรถเอง โดยอาจจะเจรจาตรงกับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS หรือบริษัทอื่นให้เดินรถได้ โดยจะพยายามให้เสร็จทัน และเปิดเดินรถได้ทันตามแผนปี 2561 ทั้งนี้ รฟม.พยายามเร่งรัดแผนการดำเนินงานเพื่อให้สามารถเปิดเดินรถไฟฟ้าได้ตามแผน
กำลังโหลดความคิดเห็น