บอร์ด รฟม.เคาะเซ็นสัญญาก่อสร้างสายเขียวเหนือทั้ง 4 สัญญา 3 เม.ย.นี้ วงเงินรวม 2.87 หมื่นล้าน ระยะเวลาก่อสร้าง 1,350 วัน แล้วเสร็จในปี 2561 “ยอดยุทธ” เร่งสรุปหาผู้เดินรถ เปิดในปี 61 ส่วนเดินรถสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย กก.มาตรา 13 เตรียมประชุม 20 มี.ค.นี้ เร่งหาข้อยุติวิธีคัดเลือกเอกชน
พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยภายหลังการประชุมบอร์ด รฟม.วันนี้ (13 มี.ค.) ว่า บอร์ดเห็นชอบผลการเจรจาคต่อรองผู้ชนะการประกวดราคาจ้างก่อสร้างงานโยธา โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) วงเงิน 28,842,279,923.74 บาท โดยสามารถปรับลดวงเงินเหลือ 28,786,000,000 บาท ซึ่งคณะกรรมการประกวดราคาได้ตรวจสอบความถูกต้องของคุณสมบัติผู้รับเหมาทั้ง 4 สัญญาแล้ว และกำหนดลงนามในสัญญาก่อสร้างในวันที่ 3 เมษายนนี้ เวลา 11.00 น. โดยจะใช้เวลาก่อสร้างรวม 1,350 วัน งานโยธาจะแล้วเสร็จในปี 2561 ซึ่งจะเร่งรัดการดำเนินการในส่วนของการเดินรถซึ่งจะใช้วิธีการร่วมทุนกับเอกชน (PPP) เพื่อให้เสร็จพร้อมเปิดเดินรถทันกับที่การก่อสร้างงานโยธาแล้วเสร็จ
โดยผลการเจรจารถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือเป็นรายสัญญา ประกอบด้วย สัญญาที่ 1 (ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่) ราคากลาง 15,284,924,844.86 บาท บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ตกลงราคาที่ 15,269,000,000 บาท สัญญาที่ 2 (ช่วงสะพานใหม่-คูคต) ราคากลาง 6,659,991,127.04 บาท กลุ่ม UN-SH-CH Joint Venture บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และ SINOHYDRO CORPORATION LIMITED และ CHINA HARBOUR ENGINEERING COMPANY LIMITED ตกลงราคาที่ 6,657,000,000 บาท
สัญญาที่ 3 (งานก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุง และอาคารจอดแล้วจร) ราคากลาง 4,029,567,257.11 บาท กลุ่ม STEC-AS Joint Venture บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท เอ.เอส.แอสโซซิเอท เอนจิเนียริ่ง (1964) จำกัด ตกลงราคาที่ 4,019,000,000 บาท สัญญาที่ 4 งานจ้างออกแบบควบคู่การก่อสร้างระบบราง ราคากลาง 2,867,796,694.73 บาท กลุ่ม STEC-AS Joint Venture ตกลงราคาที่ 2,841,000,000 บาท
พร้อมกันนี้ เห็นชอบผลการสอบสวนข้อเท็จจริงกรณีที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ตรวจสอบว่า มีผู้บริหาร รฟม.เปลี่ยนแปลงสัญญาก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย สถานีสนามไชย-ท่าพระ ส่งผลให้ รฟม.ต้องจ่ายเงินเพิ่ม 290 ล้านบาท ชุดที่มี นายไกร ตั้งสง่า กรรมการ รฟม.เป็นประธาน ว่า ได้ดำเนินการตามขั้นตอนอย่างถูกต้อง โดยยืนยันว่า การเปลี่ยนรูปแบบการก่อสร้างมีความจำเป็นเหมาะสม เพื่อไม่ให้กระทบต่อพื้นที่ใกล้เคียง และใช้สัญญาข้อ 13 พิจารณา ซึ่งบอร์ดเห็นชอบแล้ว ส่วนเหตุใช้สัญญาข้อ 17 เพื่อเปลี่ยนแปลงงาน เป็นกระบวนที่ทีมที่ปรึกษา ทั้งที่ปรึกษาโครงการ (PMC) และที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง (CSC) และคณะทำงาน รฟม. ได้เห็นชอบร่วมกันมาแล้ว ไม่จำเป็นต้องเข้าบอร์ดอีกครั้ง โดยจะส่งเอกสารรายละเอียดผลการสอบสวน ให้สตง. สํานักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กระทรวงคมนาคม เพื่อชี้แจงกระบวนการว่าถูกต้องครบถ้วน และหากไม่มีข้อสงสัยเพิ่มเติมจะสามารถลงนามสัญญาจ้าง นายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล รองผู้ว่าการ รฟม. (ฝ่ายวิศวกรรมและปฏิบัติการ) เป็นผู้ว่าฯ รฟม.ได้
ส่วนความคืบหน้าการเดินรถสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย (หัวลำโพง-บางแคและบางซื่อ-ท่าพระ) ระยะทาง 27 กม.นั้น พล.อ.อ.ยอดยุทธ กล่าวว่า ขณะนี้การก่อสร้างงานโยธาคืบหน้าแล้ว 60% จะแล้วเสร็จตามแผนปี 2561 โดยมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ล่าสุดให้ดำเนินการตามมติ ครม.ปี 2553 โดยใช้ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 2535 และให้คณะกรรมการมาตรา 13 ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 35 เร่งหาข้อยุติเพื่อให้เปิดเดินรถได้ตามแผน ซึ่งจะต้องหาข้อยุติในปี 2558 ส่วนจะเป็นวิธีการใดขึ้นกับผลการหารือของ กก.มาตรา 13 ซึ่งได้รายงานให้บอร์ดทราบว่า จะมีการประชุมกันในวันที่ 20 มีนาคมนี้
ส่วนการเดินรถสายสีเขียวใต้ (แบริ่ง-สมุทรปราการ) นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับกรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่ง กทม.จะต้องรับหนี้ค่าก่อสร้างงานโยธาแทน รฟม. และหาข้อยุติเรื่องอำนาจการเดินรถนอกเขต กทม. ซึ่งหาก รฟม.สามารถเจรจากับ กทม.ได้ข้อยุติ จะเสนอกระทรวงคมนาคมตามขั้นตอน แต่หากตกลงกันไม่ได้ รฟม.จะบริหารจัดการเดินรถเอง โดยอาจจะเจรจาตรงกับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS หรือบริษัทอื่นให้เดินรถได้ โดยจะพยายามให้เสร็จทัน และเปิดเดินรถได้ทันตามแผนปี 2561 ทั้งนี้ รฟม.พยายามเร่งรัดแผนการดำเนินงานเพื่อให้สามารถเปิดเดินรถไฟฟ้าได้ตามแผน