xs
xsm
sm
md
lg

กก.มาตรา 13 เคาะเจรจาตรง BMCL เดินรถสีน้ำเงินต่อขยาย เร่งเสนอ สศช.-คลังเห็นชอบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ประธานบอร์ด รฟม.เผย กก.มาตรา 13 มีมติเจรจาตรง BMCL เดินรถสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย เตรียมเสนอสภาพัฒน์และคลังเห็นชอบ จากนั้นจะเสนอ ครม.ต่อไป ยันทุกขั้นตอนโปร่งใส เร่งเจรจาจบในปี 58 เพื่อจัดหารถให้ทัน ระบุงานโยธาจะเสร็จปี 61 หากเดินรถไม่ยุติปีนี้ เปิดไม่ได้ตามแผน ประชาชนเดือดร้อน พร้อมเดินหน้ารถไฟฟ้าทุกสายให้เสร็จตามแผน โดยวันนี้เซ็นผู้รับเหมา ก่อสร้างสายสีเขียวเหนือ (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) 4 สัญญา มูลค่ารวม 2.876 หมื่นล้าน คาดเริ่มงานก่อสร้าง มิ.ย.นี้ ขณะที่เร่งประสาน กทม.และกรมทางหลวงเตรียมรื้อสะพานข้ามแยกเกษตรและรัชโยธินปลายปีเพื่อให้กระทบจราจรน้อยที่สุด

พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการคัดเลือกเอกชนลงทุนงานระบบรถไฟฟ้าและรับจ้างดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย (หัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ) เมื่อวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน (มาตรา 13) ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 ที่มีนายสัจจพงศ์ สนั่นเสียง รองผู้ว่าฯ รฟม.ด้านปฏิบัติการเป็นประธาน ได้ประชุมและมีมติให้การเดินรถสายสีน้ำเงินเป็นแบบต่อเนื่องตลอดสาย จึงมีมติว่าไม่ควรใช้วิธีการคัดเลือกโดยวิธีการประมูล ดังนั้นจึงต้องดำเนินการตามมาตรา 13 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 35 ใช้วิธีการเจรจาตรงกับ บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BMCL ผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายเฉลิมรัชมงคลต่อไป โดยหลังจากนี้ รฟม.จะเสนอเรื่องให้คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และกระทรวงการคลังเห็นชอบก่อน จากนั้นจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบต่อไป

“กก.มาตรา 13 มีมติ 10 ต่อ 2 ต่อ 1 คือ เสียงข้างมากเห็นด้วยในการใช้มาตรา 16 เจรจาตรงกับ BMCL โดยจะต้องให้ทางสภาพัฒน์ คลังเห็นชอบและ ครม.อนุมัติ จากนั้นจึงจะเจรจากันได้ ซึ่งบอร์ด รฟม.จะประชุมหารือในวันนี้ (3 เม.ย.) จากนั้นจะเสนอเรื่องไปที่กระทรวงคมนาคมได้เลย จากนั้นจะเป็นไปตามขั้นตอนของกระทรวงและ ครม.แล้ว ผมคิดว่าไม่น่าจะช้าแล้วภายในเดือน เม.ย.นี้จะเสนอถึง ครม. ส่วนการเจรจานั้น ทาง ครม.มีหลักการว่าจะต้องเป็นสัญญาคุณธรรม มีคณะกรรมการระดับชาติเข้ามาตรวจสอบความโปร่งใส ซึ่งหากการเจรจาตกลงกันไม่ได้ก็จะใช้วิธีการประมูลต่อไป เพื่อให้ได้ข้อยุติ และเปิดรถไฟฟ้าต้องเจรจา ไม่จบในปีนี้ประชาชนเดือดร้อนแน่ เพราะโครงสร้างเสร็จปี 61 แต่ไม่มีรถวิ่งให้บริการมีปัญหาแน่นอน ต้องเดินหน้าให้ได้ การเจรจาจะต้องเป็นไปตามขั้นตอนไม่รวบรัดแต่ติดขัดอะไรต้องหาทางแก้ไข” พล.อ.ยอดยุทธกล่าว

สำหรับความก้าวหน้าการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย (หัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ) สิ้นสุด 31 มี.ค. 2558 มีความคืบหน้า 61.28% ล่าช้ากว่าแผนเล็กน้อย โดยตามแผนจะเปิดเดินรถได้ภายในปี 2562

ส่วนสายสีม่วง (บางใหญ่-บางซื่อ) การก่อสร้างมีความคืบหน้า 99.45% โดยจะเปิดเดินรถให้บริการใน 12 ส.ค. 2559 โดยภายในเดือน ก.ย.นี้ขบวนรถไฟฟ้าจะทยอยเข้ามาแล้ว และเริ่มทดสอบระบบในต้นปี 2559 และทดสอบเสมือนจริงในเดือน พ.ค. 2559

ส่วนรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) และสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง) ขณะนี้ รฟม.ให้ที่ปรึกษาทบทวนเรื่องระบบการเดินรถและรูปแบบการลงทุนโครงการ จากเดิมที่ รฟม.จะจัดซื้อระบบรถไฟฟ้าเอง (PSC) และเดินรถเอง หรือจะว่าจ้างเอกชนเดินรถ ในรูปแบบ PPP เพื่อลดการลงทุนของภาครัฐก่อนเสนอ ครม. คาดว่าจะเสนอเรื่องไปกระทรวงคมนาคมเพื่อเสนอ ครม.ได้ในเดือน เม.ย. คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในปี 2560 เปิดให้บริการในปี 2563

รถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตลิ่งชัน-มีนบุรี) รฟม.ได้เสนอกระทรวงคมนาคมพิจารณาอนุมัติใน สายตะวันออก (พระราม 9-มีนบุรี) ซึ่งอยู่ระหว่างการเสนอ ครม. คาดว่าจะพิจารณาในช่วงเดือน มิ.ย. ส่วนสายตะวันตก (ตลิ่งชัน-พระราม 9) อยู่ระหว่างศึกษาออกแบบและจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน มิ.ย. 2558 และเสนอบอร์ด รฟม.ได้ในเดือน ก.ค. และเสนอ ครม.พิจารณาอนุมัติในเดือน ต.ค. 2558 เริ่มประกวดราคาก่อสร้างในปี 2558-2559 เปิดให้บริการในปี 2563

โดยวันนี้ (3 เม.ย.) รฟม.ได้ลงนามในสัญญาว่าจ้างก่อสร้างงานโยธาโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) 4 สัญญา วงเงิน 28,786,000,000 บาท โดย พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ ประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟม. กล่าวว่า ในเรื่องการก่อสร้างนั้นได้เน้นย้ำให้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่ออำนวยความสะดวกเพื่อให้เกิดปัญหาจราจรในระหว่างการก่อสร้างน้อยที่สุด โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร (กทม.) และตำรวจจราจร ซึ่งต้องขอความเห็นใจประชาชน รฟม.จะเร่งดำเนินการก่อสร้างและให้มีวิธีการที่เกิดความปลอดภัยมากที่สุด สำหรับการรื้อย้ายสะพานข้ามแยกเกษตรและแยกรัชโยธินนั้นเป็นไปตามแผนงานที่มี ซึ่งเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับโครงสร้างทางกายภาพของพื้นที่ หากไม่รื้อสะพานอาจจะต้องมีการเวนคืนที่เพื่อก่อสร้างส่วนของเสาโครงสร้าง โดยจะต้องคร่อมสะพานข้ามแยกอีกชั้นหนึ่ง

นายพีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล ผู้ว่าการ รฟม.กล่าวว่า จะสามารถเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ในเดือนมิถุนายน 2558 โดยหลังลงนามสัญญาก่อสร้างผู้รับเหมาจะต้องลงพื้นที่เพื่อวางแผนละเอียดในการรื้อย้ายระบบสาธารณูปโภคต่างๆ และวางแผนการก่อสร้างอย่างละเอียดเสนอให้ รฟม. พร้อมทั้งการจัดจราจรตลอดแนวเส้นทางร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งตามแผนจะมีการรื้อสะพานข้ามแยกรัชโยธินและแยกเกษตร ซึ่งได้ประสานกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) และกรมทางหลวง (ทล.) เบื้องต้นแล้ว และคาดว่าจะเริ่มดำเนินการรื้อในบางส่วนตั้งแต่ปลายปี 2558 ซึ่งการรื้อสะพานข้ามแยกเกษตรออกจะมีการก่อสร้างเป็นสะพานใหม่ที่มีความยาวสั้นกว่าของเดิม ซึ่งจะเป็นประโยชน์มากกว่าการที่ก่อสร้างรถไฟฟ้าคร่อมไปด้านบนซึ่งจะต้องมีการเวนคืนพื้นที่เพิ่ม ซึ่งจากการวิเคราะห์พบว่าปริมาณจราจรในภาพรวมจะดีขึ้น

สำหรับรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ (หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) ระยะทาง 19 กม. มีจำนวน 16 สถานี โดยมีแนวเส้นทางเริ่มต้นต่อเนื่องจากแนวเส้นทางของโครงการรถไฟฟ้า BTS ที่สถานีหมอชิต สิ้นสุดที่สถานีตำรวจคูคต บริเวณคลองสอง ต.คูคต อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี มีระยะเวลาก่อสร้าง 45 เดือน แล้วเสร็จและเปิดเดินรถต้นปี 2563 โดยจะดำเนินการคัดเลือกผู้รับเดินรถภายในปี 2558 เมื่อโครงการแล้วเสร็จคาดว่าจะมีผู้โดยสาร 1.79 แสนคนต่อวัน ซึ่งจะช่วยบรรเทาปัญหาจราจรแนวถนนพหลโยธิน และลดการสิ้นเปลืองพลังงาน สภาวะแวดล้อมดีขึ้น

โดยรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ ประกอบด้วย สัญญาที่ 1 (ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่) วงเงิน 15,269,000,000 บาท มีบริษัทอินตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับงาน สัญญาที่ 2 (ช่วงสะพานใหม่-คูคต) วงเงิน 6,657,000,000 บาท มีกลุ่ม UN-SH-CH Joint Venture (บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และ SINOHYDRO CORPORATION LIMITED และ CHINA HARBOUR ENGINEERING COMPANY LIMITED เป็นผู้รับงาน

สัญญาที่ 3 (งานก่อสร้างศูนย์ซ่อมบำรุง และอาคารจอดแล้วจร) วงเงิน 4,019,000,000 บาท กลุ่ม STEC-AS Joint Venture (บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท เอ.เอส.แอสโซซิเอท เอนจิเนียริ่ง (1964) จำกัด เป็นผู้รับงาน สัญญาที่ 4 (งานจ้างออกแบบควบคู่การก่อสร้างระบบราง) วงเงิน 2,841,000,000 บาท กลุ่ม STEC-AS Joint Venture เป็นผู้รับงาน
กำลังโหลดความคิดเห็น