ครม.ถกเดินรถสีน้ำเงินต่อขยายอีกรอบ ยืนยันใช้มติปี 53 ใช้ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 35 และ PPP-Gross Cost ตามเดิม พร้อมให้สิทธิ์ กก.มาตรา 13 พิจารณาเต็มที่ เลือกประมูลหรือเจรจารายเดิม หลัง ครม. 3 มี.ค.ถกประเด็นกฎหมายไม่เคลียร์
พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (10 มี.ค.) ได้มีการหารือเรื่องการเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย (หัวลำโพง-บางแค และบางซื่อ-ท่าพระ) ระยะทาง 27 กม. เนื่องจากการประชุม ครม.เมื่อวันที่ 3 มีนาคมที่ผ่านมายังไม่สามารถหาข้อสรุปและมติที่ชัดเจนได้ โดยหลังจากพิจารณาแล้ว ครม.จึงมีมติใหม่ใน 2 ประเด็น คือให้ใช้มติ ครม.เมื่อปี 2553 ตามเดิม คือ ดำเนินการตามขั้นตอนการร่วมลงทุนรัฐกับเอกชน PPP-Gross Cost Concession คือรัฐลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน และจัดเก็บค่าโดยสาร โดยให้เอกชนลงทุนระบบรถไฟฟ้าทำหน้าที่เดินรถแล้วจ่ายเป็นเงินค่าจ้างแบบกำหนดราคาคงที่ ซึ่งเป็นรูปแบบที่ใช้กับสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ และปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินงานในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 35) 2. ให้กระทรวงคมนาคมติดตามผลการพิจารณาของคณะกรรมการมาตรา 13 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 35 เพื่อให้โครงการสำเร็จและเกิดประโยชน์ต่อประชาชนโดยเร็ว ส่วนการเลือกเอกชนเดินรถจะใช้วิธีเปิดประมูลหรือเจรจากับ บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BMCL ผู้เดินรถรายเดิมเป็นดุลพินิจของ กก.มาตรา 13
ทั้งนี้ สาเหตุที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ครม.เมื่อวันที่ 3 มีนาคมขอให้ทบทวนมติ ครม.เมื่อปี 2553 โดยขอเปลี่ยนจาก PPP-Gross Cost เป็น PPP-Net Cost (ให้สัมปทานเหมือนสายเฉลิมรัชมงคล) และขอให้เป็นการเดินรถแบบต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้โดยสารได้รับประโยชน์สูงสุด ซึ่งมีข้อสังเกตและให้กระทรวงคมนาคมหารือกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และกฤษฎีกา ขณะที่ทางรองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ เห็นว่าหากเปลี่ยนเป็น PPP-Net Cost ควรใช้ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 56 ทำให้เกิดความไม่ชัดเจนในข้อกฎหมาย ครม.เมื่อวันที่ 3 มีนาคมจึงไม่สามารถมีมติออกมาได้ และต้องหารือกันอีกครั้ง โดยเห็นว่าควรให้ กก.มาตรา 13 ดำเนินการตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 35 ตามขั้นตอน และหากมีมติออกมาอย่างไรให้ รฟม.เร่งดำเนินการตามนั้น
“ครม.ไม่ได้กำหนดให้เจรจาหรือประมูลเพราะไม่ต้องการก้าวล่วงอำนาจหน้าที่ของ กก.มาตรา 13 ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 35 ซึ่ง กก.มาตรา 13 ต้องเปรียบเทียบข้อดี-ข้อเสียระหว่างการประมูลกับการเจรจา อะไรที่ดีกว่าก็เลือกวิธีนั้น ซึ่งกระทรวงคมนาคมไม่มีปัญหา”
พล.อ.อ.ประจินกล่าวว่า ตอนนี้งานเดินรถถือว่าล่าช้าแล้ว และที่เป็นห่วงมากคือหากไม่สามารถสรุปเรื่องผู้เดินรถภายในเดือนมิถุนายน 2558 จะทำให้เมื่อการก่อสร้างงานโยธาแล้วเสร็จประมาณเดือนสิงหาคม 2560 จะไม่มีรถวิ่งและต้องเสียค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาเส้นทางกว่า 1 ปี ประชาชนเสียประโยชน์ ซึ่งเชื่อว่าการใช้ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ35 เดินจะรวดเร็วเพราะไม่ต้องเริ่มต้นขั้นตอนใหม่
ส่วนกรณีที่สัญญาเดินรถ สายเฉลิมรัชมงคล และ ช่วง 1 สถานี ( บางซื่อ-เตาปูน) ใช้รูปแบบ PPP-Net Cost ส่วนสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ใช้รูปแบบ PPP- Gross Cost ซึ่งไม่เหมือนกันขณะที่เส้นทางต่อเชื่อมเป็นวงกลมอาจจะทำให้การบริหารสัญญายุ่งยากนั้น การใช้ระบบตั๋วร่วมซึ่งจะเป็น Single System ในปี 2565 จะแก้ปัญหาได้ โดยผู้ประกอบการเดินรถแต่ละรายสามารถเดินรถได้ตามสัญญาที่แตกต่างกัน
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า รูปแบบ PPP-Gross Cost รัฐจะรับภาระลงทุน ควบคุมดูแลโดยจ้างเอกชนเดินรถและรับความเสี่ยงหากจำนวนผู้โดยสารไม่เป็นไปตามที่ประมาณการไว้ ซึ่ง รฟม.จะเริ่มใช้กับการเดินรถสายสีม่วง แต่จะมีข้อดีตรงที่ควบคุมค่าโดยสารได้ ส่วนรูปแบบ PPP-Net Cost ให้สัมปทานเอกชน จะเป็นประโยชน์ในแง่รัฐไม่ต้องลงทุน ไม่ต้องรับความเสี่ยง และการบริหารสัญญาง่ายกว่า เพราะจะเป็นรูปแบบเดียวกันทั้งวงกลม