xs
xsm
sm
md
lg

“บิ๊กตู่” เร่งสรุปไฮสปีดสาย “เจ้าสัว” ปีนี้ คมนาคมรับลูก ชง ครม.ลงทุน 2 สายใน พ.ค.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“นายกฯ” เปิดทาง “เจ้าสัวเมืองไทย” เสนอเงื่อนไขลงทุนผุดรถไฟความเร็วสูงเต็มที่ ด้าน “ประจิน” เดินหน้าเจรจา “เจ้าสัวซีพี-ไทยเบฟ-คีรี” ลงทุน 2 สายกรุงเทพฯ-หัวหิน, กรุงเทพฯ-พัทยา เชื่อมเมืองท่องเที่ยวลดแออัดบนถนน เชื่อผู้โดยสารมากพอ คืนทุนหลัง 10 ปี เตรียมสรุปแผนเสนอ ครม.อนุมัติ พ.ค.นี้ ดันประมูลก่อนเลือกตั้ง และเพิ่มลงในแผนยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานไทย เตรียมข้อมูลประชุมร่วมรถไฟไทย-จีน เสนอเงื่อนไขเงินกู้จีนปลอดหนี้ 5-7 ปีแรก ระยะเวลาผ่อน 20 ปี

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงการลงทุนก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เส้นทางเชื่อมต่อกรุงเทพฯ กับแหล่งท่องเที่ยว เช่น เส้นทางกรุงเทพฯ-หัวหิน และกรุงเทพฯ-พัทยา ว่า มีนักลงทุนไทยสนใจ ทั้งบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือกลุ่มซีพี และ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ซึ่งกำลังพูดคุยกัน โดยสามารถหาผู้ร่วมลงทุนรวมกลุ่มมาหาแหล่งเงินทั้งในประเทศ ต่างประเทศแล้วมาเจรจากับรัฐบาลเรื่องสัดส่วนการลงทุนว่าจะเป็น 70-30 หรือ 50-50 หรือแบ่งปันผลประโยชน์สัมปทาน แต่หลักการจะสรุปภายในปีนี้

ด้าน พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างรวบรวมแผนงานโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง 2 เส้นทาง คือ กรุงเทพฯ-หัวหิน และกรุงเทพฯ-พัทยา เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ขออนุมัติในหลักการในเดือนพฤษภาคมนี้ พร้อมกันนี้จะบรรจุโครงการเพิ่มเติมในแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558-2565 อีกด้วย เนื่องจากโครงการมีความจำเป็นทั้งในด้านเศรษฐกิจ สร้างโอกาสในด้านการค้าการลงทุน และการท่องเที่ยว โดยเพิ่มทางเลือกในการเดินทาง ช่วยลดปัญหาการจราจรทางถนน ลดการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ลดงบประมาณซ่อมบำรุงถนน และลดระยะเวลาในการเดินทาง ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน

ทั้งนี้ กลุ่ม ซี.พี. และไทยเบฟได้เข้ามาขอข้อมูลไปแล้ว ส่วนบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS นั้นได้ส่งหนังสือขอประสานมาแล้วอยู่ระหว่างนัดหารือ โดย 3 กลุ่มจะเป็นผู้รับงานหลัก และหาผู้ร่วมทุนในแต่ละส่วนเข้าร่วม หรือถ้าเป็นไปได้ 3 กลุ่มจะจับมือร่วมกันทำโครงการเพื่อประเทศก็ยิ่งดี

โดยกระทรวงคมนาคมจะเสนอรูปแบบการร่วมลงทุน PPP ซึ่งทำได้ทั้งการเจรจากับผู้สนใจ เหมือนโครงการรถไฟไทย-จีน หรือเปิดประมูลแข่งขันซึ่งจะไม่มีปัญหาเรื่องความไม่โปร่งใส โดยคาดว่าจะประมูลกรุงเทพฯ-หัวหิน ได้ก่อนเนื่องจากการร้องเรียนเรื่องการเดินทางไม่สะดวกมาก ดังนั้นเชื่อว่าจะมีผู้ใช้บริการจำนวนมาก และทำให้โครงการมีความคุ้มทุน ซึ่งแนวคิดของรัฐบาลเห็นว่าการลงทุนรถไฟความเร็วสูงยิ่งระยะทางยาวยิ่งใช้เงินมาก และคืนทุนยาก เพราะเมื่อลงทุนสูงจะกำหนดค่าโดยสารสูงผู้โดยสารจะน้อย ขณะที่หากเน้นเส้นทางที่จะมีผู้โดยสารมาก แบ่งสัดส่วนการลงทุนและการหารายได้ให้เหมาะสม โดยจากเดินรถประมาณ 40% และการบริการที่สถานี,พัฒนาชุมชนใหม่ที่ต่อเนื่องกับสถานีอีก 60% จะคืนทุนได้หลังปีที่ 10 ไปแล้ว

ซึ่งรูปแบบของรถไฟความเร็วสูงทั้ง 2 เส้นทางจะมีความเร็วมากกว่า 200 กม./ชม.ขึ้นไป ขึ้นอยู่กับข้อเสนอของผู้ลงทุน โดยค่าก่อสร้างเบื้องต้นหากความเร็วระหว่าง 200-250 กม./ชม.นั้นจะอยู่ที่ประมาณ 350 ล้านบาท/กม. บวกความยากหรือง่ายของการก่อสร้างและขึ้นกับสภาพภูมิประเทศที่เส้นทางผ่าน โดยจะนำข้อมูลที่มีประโยชน์ของผลการศึกษารถไฟความเร็วสูงเดิม เช่น เส้นทางกรุงเทพฯ-ปาดังเบซาร์, กรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง มาใช้ร่วมด้วย

“หลักคิดในการลงทุนรถไฟความเร็วสูงของญี่ปุ่นจะเป็นการเชื่อมเมืองกับชนบทและสร้างเมืองใหม่ พัฒนาท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมควบคู่กันไป ของไทยมี 2 เมืองที่เหมาะสม คือ พัทยาและหัวหิน ที่เมืองมีการพัฒนาทั้งท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมแล้ว แต่มีปัญหาการเดินทางเชื่อมต่อไม่สะดวก ใช้รถยนต์มีปัญหาเรื่องอุบัติเหตุ ดังนั้นหลักของไทยคือ เน้นส่งเสริมด้านเศรษฐกิจ สังคม และท่องเที่ยวร่วมกัน โดยรัฐบาลตั้งเป้าเปิดประมูลก่อนมีการเลือกตั้ง”

เตรียมเสนอเงื่อนไขเงินกู้จีนปลอดหนี้ 5-7 ปีแรก ระยะเวลาผ่อน 20 ปี

และวันนี้ (9 มี.ค.) พล.อ.ประจินได้ประชุมคณะทำงานเพื่อเตรียมการประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟไทย-จีน ครั้งที่ 3 ระหว่างวันที่ 10-11 มีนาคมนี้ โดยมีการกำหนดรายละเอียดเรื่องรูปแบบความร่วมมือ EPC, รูปแบบการลงทุน สัดส่วนด้านการเงิน และการฝึกอบรม การถ่ายทอดเทคโนโลยี ที่จะเจรจากับจีนและตกลงในกรอบเบื้องต้นก่อน โดยรูปแบบการลงทุนและแหล่งเงินจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Civil Work ระบบราง ระบบอาณัติสัญญาณ ระบบไฟฟ้า) ด้านระบบรถ การเดินรถและการบำรุงรักษาระบบ (Rolling Stocks/Operation/O&M) ซึ่งภาระงานของแต่ละฝ่ายมีแล้วแต่ยังบอกรายละเอียดสัดส่วนการลงทุนไม่ได้เนื่องจากต้องรอสำรวจออกแบบก่อน ซึ่งตอนนี้ทางจีนเองแม้จะมีความชำนาญด้านการก่อสร้างรถไฟมากแต่ยังไม่กล้าระบุความชัดเจนเนื่องจากมีเรื่องสภาพภูมิประเทศที่เส้นทางตัดผ่านเป็นจุดเสี่ยงที่จะส่งผลต่อวงเงินค่าก่อสร้าง โดยจะมีที่ปรึกษาที่เป็นกลางมาช่วยดู ทั้งภาพรวมโครงการ เรื่องออกแบบ และก่อสร้าง

โดยเรื่องการลงทุนนั้น ข้อเสนอทางการเงินของจีนมี 2 แบบ คือ เงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรน (PBC) อัตราดอกเบี้ยพิเศษ 2% บวกค่าธรรมเนียมแล้วจะไม่เกิน 2.37% และเงินกู้เชิงพาณิชย์ (Buyer’s Credit) อัตราดอกเบี้ย 4% บวกค่าธรรมเนียมแล้วจะไม่เกิน 4.25% โดยฝ่ายไทยมีแผนสำรองด้านการเงิน ทั้งกู้ในประเทศ กู้ต่างประเทศ ออกพันธบัตร โดยกระทรวงการคลังค้ำประกัน อัตราดอกเบี้ยอยู่ระหว่าง 2.88-4.66% ซึ่งจะเป็นแนวทางใดและสัดส่วนเท่าไรนั้นขึ้นกับการเจรจา เงื่อนไขทางการเงินทั้งอัตราดอกเบี้ยรวมทั้งโครงการ และระยะเวลากู้ รวมถึงอัตราแลกเปลี่ยน เพราะจะสามารถใช้ได้ทั้งเงินสกุลหยวน ยูเอสดอลลาร์ และไทย โดยไทยจะเสนอระยะเวลาปลอดหนี้ระหว่าง 5-7 ปี และผ่อนชำระอีก 20 ปี รวมไม่เกิน 25 ปี โดยฝ่ายจีนจะให้คำตอบในวันที่ 10 มีนาคมนี้

โดยรูปแบบลงทุนจะมีรายละเอียดภายในเดือนมีนาคม-เมษายนนี้แน่นอน ส่วนสัญญาก่อสร้างช่วงที่ 1 กรุงเทพฯ-แก่งคอย ระยะทาง 133 กม. และช่วงที่ 2 แก่งคอย-มาบตาพุด ระยะทาง 246.5 กม. จะเริ่มในเดือนกันยายน 58 ช่วงที่ 3 แก่งคอย-นครราชสีมา ระยะทาง 138.5 กม. และช่วงที่ 4 นครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 355 กม. เริ่มในเดือนธันวาคม 58 ซึ่งตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์คณะสำรวจออกแบบของจีนจำนวน 20 คนได้เดินทางมาถึงไทยแล้ว เพื่อเตรียมพร้อมและเริ่มสำรวจออกแบบในเดือนมีนาคมนี้แน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น