xs
xsm
sm
md
lg

สนช.ผ่าน MOU ไทย-จีน สร้างทางรถไฟเชื่อมโยงอาเซียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สนช.เห็นชอบร่าง MOU ไทย-จีน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟคู่ขนานในไทย เชื่อมโยงอาเซียน-จีน “ประจิน” ยืนยันจะดูแลไม่ให้ส่งผลกระทบต่อลูกหลานในอนาคต ส่วนร่าง พ.ร.บ.ภาษีมรดกเลื่อนไปพิจารณาสัปดาห์หน้า เหตุรายละเอียดเยอะต้องรอบคอบ



ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วันนี้ (4 ธ.ค.) ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.เป็นประธานดำเนินการในการประชุม ได้พิจารณาให้ความเห็นชอบร่างข้อตกลงระหว่างประเทศ 2 ฉบับที่คณะรัฐมนตรีมีได้เสนอ ตามบทบัญญัติมาตรา 23 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 คือ ร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ภายใต้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟของประเทศไทยในกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558-2565

สำหรับสาระสำคัญ คือ รัฐบาลไทยตกลงให้รัฐบาลจีนเข้ามีส่วนร่วมในการดำเนินการตาม “กรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของไทย พ.ศ. 2558-2565” โดยเฉพาะโครงการรถไฟทางคู่ขนาดมาตรฐาน (Standard Gauge) เส้นทางหนองคาย-โคราช-แก่งคอย-มาบตาพุด เป็นระยะทางประมาณ 734 กิโลเมตร และเส้นทางแก่งคอย-กรุงเทพฯ เป็นระยะทางประมาณ 133 กิโลเมตร ซึ่งถือเป็นโครงการรถไฟทางคู่ขนาดมาตรฐานโครงการแรกของไทย โดยทั้งสองฝ่ายจะใช้ความร่วมมือแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล โดยทางฝ่ายจีนจะรับผิดชอบในการก่อสร้างและพัฒนาระบบรถไฟ ส่วนทางฝ่ายไทยจะมีการให้จีนเข้ามีส่วนร่วมในขั้นตอนของการเตรียมการและศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ โดยจะพยายามให้เริ่มมีการก่อสร้างในปี 2559

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม กล่าวว่า เหตุผลที่สำคัญที่ได้มีการเสนอร่างบันทึกความเข้าใจดังกล่าวคือ ทาง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีกำหนดการที่จะเยือนประเทศจีนในเวลาอันใกล้นี้ จึงมีความจำเป็นที่ทาง ครม.ได้นำร่างบันทึกความเข้าใจดังกล่าวมาให้ทาง สนช.พิจารณา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาชิก สนช.ส่วนใหญ่ได้อภิปรายสนับสนุนข้อตกลงดังกล่าว โดย นายสมชาย แสวงการ สมาชิก สนช.กล่าวว่า ตนขอสนับสนุนความตกลงระหว่างไทยจีน แต่เห็นว่าควรจะเอารายละเอียดกลับมาให้สภาฯ ช่วยพิจารณาให้เกิดความรอบคอบรัดกุม รวมทั้งต้องพิจารณาเรื่องดุลอำนาจกับมหามิตรอื่นๆ ทั้ง ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา รัสเซีย ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่าการร่วมทุนครั้งนี้จะเป็นรูปแบบใดจะเป็น 50-50 หรือไม่ รวมทั้งไม่อยากให้นำโครงการนี้ไปรวมกับบาเตอร์เทรด เช่นการขายข้าว ยางพารา แลกรถไฟ เพราะหากเป็นเช่นนั้น แต่ละฝ่ายก็จะอัพราคาให้เพิ่มสูงขึ้นกว่าปกติ เป็นหลอกลวงประชาชนทั้งสองประเทศ

นอกจากนี้ ตนอยากทราบว่าในข้อตกลงจะมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีอย่างไร แค่ไหน ให้ไทยบ้างเพราะปัจจุบันเทคโนโลยีรถไฟของไทยล้าหลังไปมาก ทั้งหัวรถจักร โบกี้ ล้อ ราง ไทยก็ไม่สามารถผลิตได้ และจีนเป็นเจ้าการทำรถไฟเพราะถูกบังคับจากยุโรป จะมีหรือไม่ อีกทั้งยังมีปัญหาเรื่องพื้นที่สองข้างทางที่จีนจะขอจาก ลาว และ ไทย ขยายไป 5 กม. ตรงนี้จะเป็นอย่างไร และคุ้มค่าหรือไม่

ทางด้าน พล.อ.อ.ประจินชี้แจงว่า การดำเนินการนี้จะเป็นหนึ่งในโครงการเชื่อมจีนกับอาเซียนซึ่งจะเกิดขึ้นแน่นอน และขอยืนยันว่าจะไม่มอบสิทธิประโยชน์เรื่องที่ดินให้จีน เพราะจะพยายามดูแลโครงการนี้ไม่ให้เกิดผลกระทบลูกหลานในอนาคต ส่วนจะใช้การร่วมลงทุน ตาม พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ หรือไม่อยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงการคลัง โดยตามข้อตกลงนี้มอบหมายให้ รมต.คมนาคมเจรจากับจีน โดยยืนยันว่าจะทำให้ดีที่สุด และเมื่อเริ่มขั้นตอนแรกการสำรวจและวางแผนก็จะนำเข้าสู่กรรมาธิการคมนาคมเพื่อพิจารณารายละเอียดต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังพิจารณาให้ความเห็นชอบ ร่างความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาลแห่งประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อความร่วมมือด้านภาษีอากรระหว่างประเทศและการดำเนินการตาม FATCA (Foreign Account Tax Compliance Act) ซึ่งเป็นกฎหมายของสหรัฐฯ ที่ออกมาเพื่อบังคับให้สถาบันการเงินนอกสหรัฐฯ ทุกแห่งทั่วโลกมีหน้าที่ต้องรายงานข้อมูลบัญชีและธุรกรรมทางการเงินของบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลสัญชาติอเมริกันที่เป็นลูกค้าของสถาบันการเงินนั้นๆ ไปยังกรมสรรพากรสหรัฐฯ สำหรับใช้ตรวจสอบและป้องกันการหลบเลี่ยงภาษีของชาวอเมริกันและบริษัทอเมริกันที่มีรายได้จากนอกสหรัฐอเมริกา

อย่างไรก็ตาม นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช.ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม แจ้งว่าได้มีการปรึกษากับนายสมหมาย ภาษี รมว.การคลังแล้ว เห็นว่าร่าง พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก พ.ศ. .... และร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... มีเนื้อหาที่สำคัญที่จะต้องพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบเป็นจำนวนมาก และคาดกันว่าจะมีผู้อภิปรายเป็นจำนวนมาก ดังนั้นจึงเห็นควรให้เลื่อนการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ทั้ง 2 ฉบับออกไปเป็นวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2557










กำลังโหลดความคิดเห็น